"คู่มือ...ทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์" (ฉบับรีไซเคิ้ล) เล่มนี้ ผมขออนุญาตเรียกอย่างนี้ เพราะกระดากที่จะเรียกว่า "ตำรา" ผมเขียนขึ้นจากประสบการณ์ในการทำกับข้าวด้วยตนเองเกือบจะทุกวัน ตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่จนเกือบจะลาจากโลกใบนี้ไปแล้ว ส่วนหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นส่วนมากที่สุดมาจากความทรงจำในอดีต ที่ได้อาสาเป็นลูกมือช่วยผู้ใหญ่ทำกับข้าวอยู่เสมอ... และทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ผมได้ตรวจสอบชำระข้อความบางท่อนบางตอนที่เป็นส่วนสาระสำคัญกับหนังสือ "ตำราทำกับข้าวเมืองเหนือ" เขียนโดย คุณสงวน โชติสุขรัตน์ ซึ่งเป็นบรมครูทางการหนังสือพิมพ์ขั้นปฐมของผม แล้วนำมาคลุกเคล้าผสมผสานเรียบเรียงเขียนขึ้นมาใหม่ในเชิง "เล่าสู่กันฟัง" ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่คนรุ่นใหม่ จะได้นำเอาไปเป็น "คู่มือ" อนุรักษ์การทำกับข้าวของเมืองเหนือ ให้คงอยู่ถึงคนรุ่นต่อๆไป โดยคำนึงถึงวิธีการการทำกับข้าวเพื่อให้ทำกันได้อย่างง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร
"โปรดสังเกต.. ที่ช่อง url ด้านบนซ้าย ถ้าเป็น https กรุณาเปลี่ยนเป็น http แล้วกด enter เข้ามาใหม่ครับ"
@ คลิกที่นี่ ดูบนyoutube... @ ภาพรับปริญญามีต่อที่นี่... @ และที่นี่อีกจ้า... @ บัณฑิตรามฯรุ่น38(2555) ทุกคณะและทุกคน โหลดคลิปที่นี่...

วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556

เปิดใจ๋... "เฮา...เป๋นลูกหลานจาวเหนียเน้อ..."


"เฮา...เป๋นลูกหลานจาวเหนียเน้อ..."


บรรพบุรุษซึ่งเป็นต้นตระกูลของผมเป็น "จาวเหนีย" (ชาวเหนือ) คุณย่าของผมเป็น "จาวเวียงพิงค์" (ชาวเชียงใหม่) คุณพ่อเป็น "จาวหละปูน" (ชาวลำพูน) และคุณแม่เป็น "จาวหละปาง" (ชาวลำปาง) ผมจึงเป็น "จาวเหนีย" โดยกำเนิดอย่างแท้จริงร้อยเปอร์เซ็นต์

"หละปูน" เป็นบ้านเกิดเมืองเกิดของผม เป็นเมืองเล็กๆ มีเนื้อที่อาณาเขตไม่กว้างขวางนัก ตั้งอยู่ทางทิศใต้ห่างจากตัวเมือง "เชียงใหม่" ลงมา 21 กิโลเมตรเท่านั้นเอง ซึ่งดึกดำบรรพ์ท่านบรรพบุรุษในอดีตกาลท่านเรียกเมือง "หละปูน" ว่า "หริภุญไชย" หรือ "หริภุญชัย" (ปัจจุบันทางราชการเรียกว่า "จังหวัดลำพูน") ซึ่งมีพระบรมธาตุ "หริภุญชัย" เป็นที่เคารพสักการะบูชาของชาวเมือง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล และประดิษฐานอยู่บนฝั่งตะวันตกของ "แม่น้ำกวง" หรือเรียกกันจนติดปากชาวเมืองว่า "น้ำแม่กวง" สายเลือดเส้นใหญ่ของจังหวัดลำพูนดินแดนแห่ง "ลำไยกะโหลก" เนื้อหนา รสหวานกลมกล่อม หอมอร่อย ซึ่งจัดว่าเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุดอีกพันธุ์หนึ่งของประเทศไทยก็ว่าได้

โดยปรกติคุณย่าของผมท่านชอบทำกับข้าว ฝีมือหรือรสมือของท่านจัดได้ว่าอร่อยถูกปากคนกินเลยทีเดียว จนเป็นที่เลื่องลือไปทั้งจังหวัด และดูเหมือนท่านจะมีความสุขมากที่สุดที่ได้ทำกับข้าวให้ใครต่อใครได้กินได้รับประทานกันด้วยความเอร็ดอร่อย

เมื่อสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาสมัยผมยังเป็นเด็ก คุณย่าของผมท่านจะมีเมตตา "เดินสาย" ไปทำกับข้าวให้บรรดาลูกๆหลานๆของท่านได้กินกันที่บ้านเดือนละครั้งสองครั้ง โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เพราะคุณย่ามีลูกหลายคน (รวมทั้งคุณพ่อของผม) ท่านรักลูกๆของท่านเสมอหน้ากัน ซึ่งแต่ละคนต่างก็ออกเรือนแต่งงานแต่งการมีเหย้ามีเรือนมีลูกมีเต้าเรียบร้อยกันไปแล้ว

ทุกๆวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการและเป็นวันหยุดของโรงเรียนด้วย คุณย่าของผมท่านจะเข้าตลาดซื้อหาของกินของใช้ขนมนมเนยสารพัดจิปาถะ แล้วหอบพะรุงพะรังเดินเข้าบ้านของลูกๆ ซึ่งปลูกอยู่ห่างกันคนละทิศละทาง แต่ก็อยู่ภายในตัวอำเภอเมืองลำพูนนั่นแหละ เริ่มกันตั้งแต่เช้ามืดบรรดาลูกๆหลานๆยังนอนอุตุอยู่บนที่นอนกันอยู่เลย

ถ้าวันอาทิตย์ไหนถึงรอบมาที่บ้านของเรา ผมจะอาสาเป็นลูกมือช่วยคุณย่าทำกับข้าวจนแล้วเสร็จ คุณย่าจึงรักผมมากกว่าใครๆ (หลงตัวเอง) ท่านออกปากชมบ่อยๆว่า ผมเป็นคนใช้ง่ายใช้คล่อง และว่องไว (เพราะคุณย่าให้สตางค์) ..อิอิ

หลังจากผมเรียนหนังสือจนจบชั้นสูงสุด (ในสมัยนั้น) ของจังหวัดแล้ว ปี พ.ศ.2506 ผมได้รับโอกาสจากท่านผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือให้ไปฝึกงานที่ นสพ. "ไทยเหนือ" โรงพิมพ์ "สงวนการพิมพ์" จังหวัดเชียงใหม่ ได้ฝึกงานและกินนอนอยู่ที่นั่นสองปีเต็มๆ ซึ่งท่านเจ้าของ ผู้จัดการ และบรรณาธิการ คือ คุณสงวน โชติสุขรัตน์ ท่านเป็นนักโบราณคดีเมืองล้านนาด้วย ก็เป็นผู้หนึ่งที่นิยมทำกับข้าวกินกันเอง ฝีมือทำกับข้าวของท่านรสชาติอร่อยไม่บันเบาเหมือนกัน และผู้ช่วยก็ต้องเป็นผมที่รับอาสาอีกตามเคย

จากการที่ผมได้อาสาเป็นลูกมือช่วยทั้งคุณย่าและคุณสงวนทำกับข้าวตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ ทำให้ผมได้เรียนรู้ ได้เห็น ได้สังเกต ได้สอบถามเมื่อสงสัย ได้ทดลองทำเอง แล้วได้จดบันทึกลงในสมุดบันทึกส่วนตัว และได้หยิบเอามาอ่านมาทบทวน ลงมือทำกับข้าวกินเองอยู่เสมอๆติดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

"คู่มือ...ทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์" เล่มนี้ ผมขออนุญาตเรียกอย่างนี้ เพราะกระดากที่จะเรียกว่า "ตำรา" ผมเขียนขึ้นจากประสบการณ์ในการทำกับข้าวด้วยตนเองเกือบจะทุกวัน ตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่จนเกือบจะลาจากโลกใบนี้ไปแล้ว... ส่วนหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นส่วนมากที่สุดมาจากความทรงจำในอดีต ที่ได้อาสาเป็นลูกมือช่วยผู้ใหญ่ทำกับข้าวอยู่เสมอ และทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ผมได้ตรวจสอบชำระข้อความบางท่อนบางตอนที่เป็นส่วนสาระสำคัญกับหนังสือ "ตำราทำกับข้าวเมืองเหนือ" เขียนโดย คุณสงวน โชติสุขรัตน์ ซึ่งเป็นบรมครูทางการหนังสือพิมพ์ขั้นปฐมของผม แล้วนำมาคลุกเคล้าผสมผสานเรียบเรียงเขียนขึ้นมาใหม่ในเชิง "เล่าสู่กันฟัง" ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่คนรุ่นใหม่ จะได้นำเอาไปเป็น "คู่มือ" อนุรักษ์การทำกับข้าวของเมืองเหนือ ให้คงอยู่ถึงคนรุ่นต่อๆไป โดยคำนึงถึงวิธีการการทำกับข้าวเพื่อให้ทำกันได้อย่างง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร

มีสุภาษิตของชนชาวพื้นเมือง (ชาวเมืองเหนือ) บทหนึ่งว่าไว้ว่า "ของกิ๋นลำ อยู่ตี่คนมัก" มีความหมายว่า "กับข้าวอร่อย อยู่ที่คนชอบกิน" การปรุงกับข้าว รสเปรี้ยวหวานมันเค็มเผ็ดจืดเป็นเสน่ห์ปลายจวักที่ผู้ปรุงต้องปรุงรสตามใจผู้รับประทานเป็นหลัก ไม่ใช่อยู่ที่ "ตำรา" เล่มไหนๆเลย

นอกจากนี้ "คู่มือ...ทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์" เล่มนี้ ผมยังได้สอดแทรกเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจ เกร็ดความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย "ของดีที่เกือบลืม" วิธีทำน้ำผลไม้ต่างๆ ซึ่งได้รวบรวมมาจากหลายๆแหล่ง รวมทั้งได้สอบถามกับบรรดาท่านผู้รู้อีกหลายๆท่าน แล้วพยายามจดบันทึกไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัวที่แสนจะเก่าซอมซ่อเหมือนตัวผมเอง และรวมถึงการย้อนประวัติศาสตร์การสร้างเมือง "หริภุญไชย" หรือ "หริภุญชัย" ในอดีตกาล ต่อเนื่องไปจนถึงตำนาน "เจดีย์พระบรมธาตุหริภุญชัย" เริ่มกันตั้งแต่ "สมัยพุทธกาล" จนกระทั่งสร้างเสร็จในปีพุทธศักราช 1986

และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้คนไทยท่องเที่ยวในเมืองไทย เพื่อเงินตราจะได้หมุนเวียนอยู่ภายในประเทศของเรา ผมจึงขอถือโอกาสนี้แนะนำสถานที่น่าท่องเที่ยวของจังหวัดลำพูนเอาไว้ด้วยเพื่อเป็นการชี้แนะหรือแนะนำแก่ท่านผู้อ่านซึ่งอาจจะมีโอกาสแวะไปเยี่ยมเยือน "เมืองหละปูน" กันบ้าง

สำหรับคุณค่าของ "คู่มือ...ทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์" เล่มนี้ (ถ้าหากมี) ผมขอกราบเป็น "กตเวทิตาคุณ" แด่ 'จังหวัดลำพูน" ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของผม "คุณยายทวด" 'คุณปู่" "คุณย่า" "คุณพ่อ" "คุณแม่" ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของผม และ 'คุณสงวน โชติสุขรัตน์" ส่วนข้อบกพร่องต่างๆ ซึ่งเกิดจากความโง่เขลาเบาปัญญาของผมเองนั้น ผมขอน้อมรับไว้ด้วยความยินดีแต่เพียงผู้เดียว

ขอให้ทุกๆท่านที่ได้อ่านหนังสือ "คู่มือ...ทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์" เล่มนี้ จงประสพกับความสำเร็จตามความปรารถนาทุกประการ

ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร
26 กรกฎาคม 2550

คลิกที่ภาพ...เพื่อดูขนาดที่ใหญ่ขึ้น
ภาพหมู่นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 ข. ปีการศึกษา 2505 (รุ่น 14) โรงเรียนเมธีวุฒิกร จังหวัดลำพูน (ผมเลขประจำตัว 1900 ผมยืนตรงไหน?)

2183-2
"คุณสงวน โชติสุขรัตน์"

เข้าเมืองกรุงมุ่งศึกษา


ผมจาก "ลำพูน" ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนนับจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2550) 45 ปีเข้าไปแล้วแต่ก็ใช่ว่าจะจากมาแล้วจากมาเลยนะครับ เพราะพอถึงหน้าเทศกาลต่างๆในแต่ละปี ผมก็จะกลับไปแวะเวียนและเยี่ยมเยือนอยู่เสมอๆมิได้ขาด

หลังจากที่ผมเรียนหนังสือจบชั้นมัธยมบริบูรณ์แล้ว ในปี พ.ศ.2506 ผมมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ นสพ. "ไทยเหนือ" โรงพิมพ์ "สงวนการพิมพ์" จังหวัดเชียงใหม่ ได้ฝึกงานและกินนอนอยู่ที่นั่นถึงสองปีเต็มๆ ได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 200 บาท ซึ่งสมัยนั้นนับว่ามากมายพอสมควรสำหรับเด็กฝึกงาน เพราะค่าแรงงานขั้นต่ำที่จังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้นเขาจ่ายกันที่ 8 บาทต่อวัน

"คุณสงวน โชติสุขรัตน์" ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของ-ผู้จัดการ และบรรณาธิการ ท่านเป็นคนมีน้ำใจดี โอบอ้อมอารี และมีเมตตา ท่านอบรมสั่งสอนและถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทั้งทางด้านหนังสือพิมพ์ และงานในโรงพิมพ์แขนงต่างๆให้แก่ผมเหมือนกับผมเป็นลูกหลานของท่านคนหนึ่ง ท่านสอนให้ผมรู้ซึ้งถึงคุณค่าของการศึกษา และการใฝ่หาความรู้ให้กับตัวเอง ท่านย้ำอยู่เสมอๆไม่ให้ผมทิ้งการเรียน และแนะนำให้ผมเอาเวลาว่างหลังเลิกงานตอนเย็นไปเรียนกวดวิชาที่โรงเรียนใกล้ๆโรงพิมพ์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในปีถัดไป

สมัยนั้นการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขายังเรียกหรือพูดกันเป็นไทยๆว่า "สอบเข้ามหาวิทยาลัย" หรือหากพูดเพี้ยนรัวลิ้นเร็วไปหน่อยเป็น "หมาลัย" ซึ่งฟังยังไงๆก็ยังเป็นไทยๆ และมีความหมายอย่างไทยๆอยู่ดี ไม่เหมือนเด็กๆในสมัยนี้ ที่เขาเรียกการสอบเข้ามหาวิทยาลัยว่า "สอบเอ็นทร้านซ์" แล้วตัดทอนให้สั้นลงด้วยการเรียกย่อๆว่า "สอบเอ็น" ซึ่งหากฟังเป็นภาษาไทย ความหมายเป็นฝรั่งก็ดูดีทันสมัยตามยุค แต่ถ้าความหมายเป็นไทย ผมว่าฟังดูมันขัดหูพิลึกพิกลอยู่นะครับ

สมัยนั้นมหาวิทยาลัยสำหรับผู้ที่เรียนมาทาง "อักษรศาสตร์" ดูเหมือนจะมีเพียง 4 แห่ง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตร และศิลปากร เท่านั้น ส่วนแพทยศาสตร์ไม่มีสิทธิ์เรียน สำหรับตัวผมเองผมสนใจธรรมศาสตร์ เพราะเปิดสอนวิชาการด้านหนังสือพิมพ์ที่ผมได้ฝึกงานและมีประสบการณ์อยู่แล้ว

...เด็กเอ๋ยเด็กน้อย ความรู้เรายังด้อยเร่งศึกษา
เมื่อเติบใหญ่เราจะได้มีวิชา เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน
ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล
ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน เกิดเป็นคนควรหมั่นขยันเอยฯ...

ครั้นถึงปลายปี พ.ศ.2508 ผมจึงกราบเท้าอำลาท่านผู้มีพระคุณ "คุณสงวน โชติสุขรัตน์" เบน "เข็มทิศชีวิต" ของตัวเอง มุ่งหน้าสู่ "กรุงเทพมหานคร" ด้วยปณิธานอันแน่วแน่และแรงกล้า

ต้องสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้จงได้



เอกสารอ้างอิง...

1. ตำนานเมืองเหนือ เล่ม 1, เล่ม 2 พ.ศ.2505 พิมพ์ที่ สงวนการพิมพ์ จังหวัดเชียงใหม่
2. ประวัติวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร พิมพ์ที่ ลำพูนการพิมพ์ จังหวัดลำพูน
3. จังหวัดลำพูนปีท่องเที่ยวไทย พ.ศ.2541-2542 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
4. ตำราทำกับข้าวเมืองเหนือ พ.ศ.2505 พิมพ์ที่ สงวนการพิมพ์ จังหวัดเชียงใหม่

"คู่มือ...ทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์" เล่มนี้ ได้เริ่มต้นเขียนร่างต้นฉบับเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2541 ด้วยความ "ตั้งใจ" ไว้ว่า จะพิมพ์เป็นรูปเล่มเพื่อแจกเป็นอภินันทนาการในวันมงคล "แซยิด" ครบ 5 รอบ 60 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ของตนเอง

ร่างต้นฉบับ "คู่มือ...ทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์" เล่มนี้ เขียนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2542 และต่อมาได้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม "เล่มแรก" แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2542 ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดธรรมดาแบบกระเป๋าหิ้ว ยี่ห้อ WORDSTAR 999 (RD-49)

ต่อมาได้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม "เล่มที่สอง" แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2543 ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าแบบตั้งโต๊ะ ยี่ห้อ BROTHER ML-100

ได้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม "เล่มที่สาม" แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2546 ด้วยระบบคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ ยี่ห้อ LIBERTA/VIVA COM – CELERON 850 - WINDOWS ME

ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2546 ได้แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมข้อมูลในบางส่วนบางตอน และรูปภาพประกอบเนื้อเรื่อง โดยได้เชื่อมต่อ INTERNET เพื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและรูปภาพประกอบต่างๆ จึงขอถือโอกาสนี้ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงต่อท่านเจ้าของข้อมูลและรูปภาพต่างๆ ที่กรุณาอนุเคราะห์อนุญาตให้ COPY ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงอีกครั้งครับ

จนกระทั่งสำเร็จเป็นแผ่น CD-ROM ต้นฉบับ (CD-ROM FOR COMPUTER) สมบูรณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2546

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2549 ได้ปรับปรุงให้ทันสมัยตามเทคโนโลยี ด้วยระบบคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ ยี่ห้อ FUJITSU – INTEL PENTIUM 4 2.66 GHz - WINDOWS XP

และเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2550 ได้ศึกษาเรียนรู้วิธีการจัดทำเป็น WEB ด้วยโปรแกรม Macromedia Dreamweaver 8 จนกระทั่งแล้วเสร็จเป็น WEB OFFLINE เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2550

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ.2552 ได้ศึกษาเรียนรู้การจัดทำเป็น WEBSITE ONLINE ทาง http://sites.google.com/site/northfoodd/ และ http://northfoodd.blogspot.com/

ท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2552 ได้ปรับปรุงให้ทันสมัยตามเทคโนโลยี ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ NOTEBOOK ยี่ห้อ COMPAQ CQ45-107TX - INTEL(R) CORE(TM2) DUO CPU P8400 @ 2.26 GHz - WINDOWS VISTA

สำหรับฉบับนี้ เป็น ฉบับรีไซเคิ้ล นะครับ ผมเอามาเพิ่มเสริมเติมแต่งเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจเข้าไปอีก เริ่มตอนแรกวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2556

ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร
15 มีนาคม 2556