"คู่มือ...ทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์" (ฉบับรีไซเคิ้ล) เล่มนี้ ผมขออนุญาตเรียกอย่างนี้ เพราะกระดากที่จะเรียกว่า "ตำรา" ผมเขียนขึ้นจากประสบการณ์ในการทำกับข้าวด้วยตนเองเกือบจะทุกวัน ตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่จนเกือบจะลาจากโลกใบนี้ไปแล้ว ส่วนหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นส่วนมากที่สุดมาจากความทรงจำในอดีต ที่ได้อาสาเป็นลูกมือช่วยผู้ใหญ่ทำกับข้าวอยู่เสมอ... และทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ผมได้ตรวจสอบชำระข้อความบางท่อนบางตอนที่เป็นส่วนสาระสำคัญกับหนังสือ "ตำราทำกับข้าวเมืองเหนือ" เขียนโดย คุณสงวน โชติสุขรัตน์ ซึ่งเป็นบรมครูทางการหนังสือพิมพ์ขั้นปฐมของผม แล้วนำมาคลุกเคล้าผสมผสานเรียบเรียงเขียนขึ้นมาใหม่ในเชิง "เล่าสู่กันฟัง" ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่คนรุ่นใหม่ จะได้นำเอาไปเป็น "คู่มือ" อนุรักษ์การทำกับข้าวของเมืองเหนือ ให้คงอยู่ถึงคนรุ่นต่อๆไป โดยคำนึงถึงวิธีการการทำกับข้าวเพื่อให้ทำกันได้อย่างง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร
"โปรดสังเกต.. ที่ช่อง url ด้านบนซ้าย ถ้าเป็น https กรุณาเปลี่ยนเป็น http แล้วกด enter เข้ามาใหม่ครับ"
@ คลิกที่นี่ ดูบนyoutube... @ ภาพรับปริญญามีต่อที่นี่... @ และที่นี่อีกจ้า... @ บัณฑิตรามฯรุ่น38(2555) ทุกคณะและทุกคน โหลดคลิปที่นี่...

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

น้ำพริกปล๋าหลิม, น้ำพริกต๋าแดง, น้ำพริกมะเขือแจ้นอนอ่อง, พ่อแก่แม่เฒ่า, ชายชรากับลังเหล็ก


น้ำพริกปล๋าหลิม
By: ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร

บางท่านอาจจะสงสัยว่า "ปล๋าหลิม" มันเป็นปลาอะไรกัน เพราะไม่เคยได้ยินชื่อหรือคุ้นหูมาก่อน "ปล๋าหลิม" เป็นชื่อที่ชาวเหนือใช้เรียก "ปลาช่อน" ยังไงครับ "ปลาช่อน" ก็คือ "ปล๋าหลิม" และ "ปล๋าหลิม" ก็คือ "ปลาช่อน" นั่นเอง ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่มีรสชาติอร่อยกว่าปลาชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเอามาย่าง มาปิ้ง มาทอด มาแกง หรือแม้กระทั่งเอามาตำเป็นน้ำพริก มันเอร็ดอร่อยไปหมด เรียกว่า "ปล๋าหลิม" เป็นปลาสุดยอดอร่อยของปลาน้ำจืดก็ว่าได้

สมัยยังเด็กๆ คุณแม่สอนให้ผมรู้จักช่วยเหลือตัวเองไม่ให้เป็นภาระแก่ใครๆ ท่านบอกว่า "เมื่อโตขึ้นจะได้ไม่ลำบาก" คุณแม่ของผมเป็นครูสอนหนังสือระดับชั้นมัธยมอยู่โรงเรียนเอกชน ท่านต้องไปถึงโรงเรียนแต่เช้าๆ หน้าที่ประจำวันของผมที่ได้รับมอบหมายจากคุณแม่ในขณะนั้น ผมต้องตื่นนอนแต่เช้ามืดทุกๆวัน สิ่งแรกที่ผมต้องทำหลังจากล้างหน้าแปรงฟันและเก็บที่นอนหมอนมุ้งให้เข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้วก็คือ ก่อไฟที่เตาไฟเพื่อนึ่งข้าวเหนียว ซึ่งจะต้องแช่ข้าวสารค้างคืนตั้งแต่คืนก่อนหรือก่อนนอน เสร็จแล้วจึงจะรีบไปจ่ายตลาด แล้วรีบกลับมาทำกับข้าว เมื่อรับประทานข้าวเช้าเรียบร้อยแล้ว จึงจะแต่งชุดนักเรียนและสะพายกระเป๋าหนังสือเดินเท้าไปโรงเรียนซึ่งอยู่ห่างจากบ้านประมาณครึ่งกิโลเมตร

ผมมีชุดนักเรียนที่คุณแม่ซื้อให้ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่หนึ่ง 4-5 ชุด ในวันหยุดเรียนประจำสัปดาห์ ผมจะจัดการซัก-รีดด้วยตัวเอง ส่วนชุดอยู่กับบ้าน เสื้อผ้าของคุณพ่อคุณแม่และคนอื่นๆในบ้าน คุณแม่จะเป็นคนซัก-รีดเอง

กางเกงสีกากีตัวเก่งของผม ตัดจากผ้าเวสป้อยท์เนื้อหนา ส่วนเสื้อเชิ้ตสีขาวก็ตัดจากผ้าลินินซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า "ผ้าริมเขียว" ทั้งหมดเป็นชุดนักเรียนที่ทนทานเอามากๆ ท่านเชื่อไหมครับ ชุดนักเรียนทั้ง 4-5 ชุดที่ผมมีอยู่นี้ ผมใส่มันตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่หนึ่งจนถึงชั้นมัธยมปีที่หกแน่ะ เริ่มตั้งแต่มันยาวๆ หลวมๆ จนกระทั่งมันสั้นและคับติ้วเลยทีเดียวเชียว

เวลาซักชุดนักเรียนที่ใช้แล้วเสร็จ ก่อนจะนำไปตากแดด ผมจะ "ลงแป้ง" (ใช้แป้งมัน 2 หรือ 3 ทัพพี ละลายน้ำพอสมควร แล้วราดด้วยน้ำต้มเดือดหนึ่งกา ใช้ไม้คนให้เข้ากันจนน้ำแป้งสุกเหลว ก่อนใช้ผสมน้ำนิดหน่อย เมื่อซักผ้าน้ำสุดท้ายแล้ว จึงนำผ้าทั้งหมดลงแช่สักครู่ เหมือนกับแช่น้ำยาปรับผ้านุ่มนั่นแหละซึ่งสมัยนั้นยังไม่มี แล้วบิดผ้าที่แช่พอหมาดๆ สะบัดผ้าให้เรียบตึงก่อนจะนำไปตากแดดให้แห้ง)

เวลารีดต้องพรมน้ำแต่เบาบางเพื่อให้ผ้าชื้นเสียก่อน จึงจะรีดให้ผ้าเรียบจนขึ้นกลีบคมกริบได้ เวลาใส่เท่อย่าบอกใครเชียว แต่ถ้าวันไหนฝนตกแล้วหลบไม่ทันจนเปียกไปทั้งตัว น้ำแป้งที่ลงไว้มันจะพากันละลายออกมาจากเสื้อและกางเกงที่สวมใส่จนรู้สึกเหนียวเหนอะหนะไปทั้งตัว และคันยุบๆยิบๆไปหมด

ในวันหยุดเรียนประจำสัปดาห์ หลังจากเสร็จกิจวัตรประจำวันแล้ว ตอนบ่ายๆ ผมจะว่าง ซึ่งส่วนมากผมจะนั่งอ่านหนังสืออยู่ใต้ต้นลำไยที่ปลูกไว้ภายในบริเวณบ้าน หนังสือที่อ่านมีทั้งหนังสือเรียน หนังสือนิยายเรื่องอ่านเล่น ซึ่งสมัยนั้นหนังสือชุด "พล-นิกร-กิมหงวน" กำลังฮิตติดอันดับ ผมติดตามอ่านมาตลอดจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะอ่านแล้วรู้สึกตลกขบขัน เป็นการคลายเครียดที่ดีเยี่ยมอีกวิธีหนึ่งด้วยเช่นกันครับ

แต่จะมีบ้างเป็นบางครั้ง ที่เพื่อนๆจะมาชวนไปเที่ยว หรือไม่ก็ชวนไปตกปลาสถานที่ไปตกปลาก็ตามห้วยหนองคลองบึงหรือตามท้องทุ่งท้องนาใกล้ๆบ้าน ส่วนมากจะตามท้องทุ่งท้องนามากกว่า เฉพาะเจาะจงต้องเป็นท้องทุ่งท้องนาของคุณย่าของผมเอง (ซึ่งต่อมา "ที่นา" เหล่านี้เป็นมรดกของคุณพ่อ และตกทอดมาถึงผม)

ในสมัยนั้น ถ้าพูดกันถึงเรื่องข้าวปลาอาหารการกินกันแล้ว มันมีอยู่มากมายอย่างเหลือเฟือจริงๆ เท่าที่จำได้ประชาชนทั้งประเทศในสมัยนั้นทั้งหญิงและชายมีรวมกันแค่สิบหกล้านคนเท่านั้นเอง ถึงกับมีคำพูดที่พูดกันจนติดปากว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" สำหรับปลาหายห่วงไปได้เลยมีชุกชุมมากมาย ผู้คนส่วนมากจะเลือกกินเฉพาะปลาตัวใหญ่ๆตัวโตๆที่มีขนาดเท่าท่อนแขนของผู้ใหญ่ขึ้นไปเท่านั้น ส่วนปลาเล็กปลาน้อยตัวขนาดนิ้วสองนิ้วเมินเสียเถอะ ถ้าตกได้หรือจับได้ก็จะปล่อยลงห้วยหนองคลองบึงหรือแม่น้ำลำคลองไปทั้งหมด

พูดถึงเรื่อง "ปล๋าหลิม" ในอดีตสมัยยังเด็กๆของผมนั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งเช้าวันอาทิตย์เป็นวันหยุดเรียนประจำสัปดาห์ ในวันนั้นผมได้ขออนุญาตคุณแม่ออกไปตกปลากลางทุ่งกับเพื่อนๆที่มาชวน ขณะกำลังเดินไปตามถนน ผมและเพื่อนๆเกิดเปลี่ยนใจกะทันหัน ตกลงจะไม่ไปตกปลากันละ แต่จะชวนกันนั่งรถยนต์โดยสารประจำทางไปเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่แทน ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดลำพูนเพียง 26 กิโลเมตร ได้ดูหนังไทยหนึ่งรอบที่โรงหนัง "สุริวงศ์" เดินชมสินค้าในร้านค้าที่ถนนท่าแพ แล้วแวะเข้าตลาด "ต้นลำไย" โผล่เข้าไปตลาด "วโรรส" เพื่อซื้อหาข้าวเหนียวนึ่งร้อนๆ จิ๊นทอด และน้ำพริกหนุ่ม มานั่งรับประทานกันที่สวนหย่อมใต้สะพาน "นวรัตน์" หลังจากที่วิ่งไล่กันจนเหนื่อย

ในวันนั้นเป็นวันที่พวกเราสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจอย่างที่สุดเชียวแหละ เที่ยวกันเพลินกว่าจะกลับกันได้ก็เกือบจะมืดค่ำแล้ว พอก้าวลงจากรถประจำทางสายเชียงใหม่-ลำพูน มีเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้ไปเที่ยวด้วยมากระซิบบอกผมว่า คุณพ่อคุณแม่ของผมกำลังตามหาตัวผมกันจ้าละหวั่นอย่างเคร่งเครียด ด้วยความกลัวว่าจะถูกทำโทษฐานโกหก ผมจึงรีบปลีกตัวจากเพื่อนๆเข้าไปใน "กาดแลง" ซึ่งตลาดเกือบจะวายอยู่แล้ว เปล่า...ผมไม่ได้เข้าไปหลบซ่อนตัวนะครับ โปรดอย่าเข้าใจผิด ผมเข้าไปเพื่อหาซื้อ "ปล๋าหลิม" เลือกเอาตัวใหญ่ที่สุดได้มา 2-3 ตัว จึงรีบหิ้วกลับบ้านไปทันที

ตกลงวันนั้นผมรอดจากการถูกทำโทษจากคุณพ่อคุณแม่ไปได้

ที่รอดก็เพราะ... ก้าวแรกที่ผมเดินเข้าไปในบริเวณบ้าน สีหน้าของผมคิดว่ามันคงจะขาวซีดด้วยความกลัว ส่วนหัวใจก็เต้นระรัวเหมือนพระตีกลองเพล สองมือที่หิ้วปลาทั้งพวงนั้นเล่าก็สั่นผับๆพอๆกับขาทั้งสองข้าง คุณพ่อยืนจ้องหน้าผมเขม็ง ส่วนคุณแม่มองผมด้วยสายตาแห่งความห่วงอาทร และท่านคงจะสังเกตเห็น แต่ก่อนที่คุณพ่อจะทันพูดอะไรออกมา คุณแม่รีบตัดบททันที

"แลงนี้ต๋ำน้ำพริกปล๋าหลิมกั๋นเต๊อะ"

โดยปกติคุณพ่อของผมเป็นคนมือหนัก ผมกลัวเพราะ "ตี" เจ็บ เนื่องจากท่านรับราชการเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ ต้องหิ้วตราประจำตัวเพื่อประทับท่อนไม้เดือนหนึ่งๆเป็นร้อยๆต้น ผมเคยทดลองยกดู ตราประทับแต่ละอันมันหนักเป็นกิโลๆ

ด้วยความรักความผูกพันที่คุณแม่มีต่อลูกชายหัวปลีตัวดีของท่านคนนี้ ซึ่งท่านคงมองเห็นสภาพของผมในขณะนั้นเพียงแว๊บเดียว ผมคิดว่าคงจะล้วงลึกเข้าไปรับรู้ถึงในหัวอกหัวใจที่เต้นไม่เป็นจังหวะของผม ท่านจึงแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียดในขณะนั้นให้ผ่อนคลายลง ซึ่งที่สุดคุณพ่อก็โอนอ่อนผ่อนตามแต่โดยดี

นี่แหละครับที่เขาว่า...

"ความรักของพ่อแม่ ยิ่งใหญ่นักปานขุนเขา"

"สองมือแม่มีความรัก พร้อมตักที่แสนอบอุ่น"

"หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย"

และอีกประการหนึ่ง เป็นเพราะ "น้ำพริกปล๋าหลิม" เป็นกับข้าวโปรดของคุณพ่อของผมด้วย ถ้ามื้อไหนมีวางบน "ขันโตก" ท่านจะเจริญอาหารรับประทานได้เป็นสองเท่าเลยทีเดียว


"อุบลวรรณ พงษ์สวัสดิ์" คุณแม่ผู้ให้กำเนิด'Thanawut' ภาพนี้ท่านอายุ 43(2518) ถ้ายังอยู่ปีนี้ 81(2556) ส่วน 'Thanawut' 27พ.ค.56 เต็ม 66...เริ่มต้นท่านเป็นครูสอนภาษาอังกฤษโรงเรียนเอกชน เป็น'ครูอุบล'ของลูกศิษย์ลูกหามากมาย ลาออกไปเป็น guide บ.ทอมมี่ รับทัวร์ทหารสงครามเวียดนามที่มาพักร้อนในเมืองไทย ตอนนั้นถ้าได้ดูทีวีถ่ายทอดสดมวยจากเวทีราชดำเนินจะเห็นภาพ'แม่อุบล'ตัวเตี้ยๆอ้วนจ้ำหม้ำยืนชี้มือชี้ไม้ปากพูดอธิบายไม่หยุดให้ลูกทัวร์ฝรั่งฟัง และสุดท้ายของชีวิตตำแหน่ง operator โรงแรมใหญ่แถวๆราชประสงค์ เป็นเพื่อนเป็น'พี่อุบล'ของน้องๆในที่ทำงาน ท่านเสียชีวิตด้วยความดันโลหิตสูงที่ รพ.รามาธิบดี...คุณแม่อุบลวรรณ พงษ์สวัสดิ์ เป็นบุตรคนโตของคุณตาสุมิตร-คุณยายจันทน์หอม พงษ์สวัสดิ์ มีน้องชาย 2 คน คุณน้าศิริศักดิ์ พงษ์สวัสดิ์ และคุณน้า พ.อ.ปริวัติ พงษ์สวัสดิ์


โดยธรรมชาติของ "ปล๋าหลิม" หรือ "ปลาช่อน" มันเป็นปลาที่ดูแลครอบครัวของมันเองได้อย่างน่าชื่นชมทีเดียว ทั้งพ่อปลาและแม่ปลาต่างจะช่วยกันดูแล คอยว่ายวนเวียนเฝ้าดูฝูงลูกๆของมัน เพื่อไม่ให้ปลาอื่นๆว่ายเข้ามาใกล้ และขโมยลูกๆของมันไปกิน พอมันเห็นปลาอื่นๆว่ายเข้ามาใกล้ พ่อปลาและแม่ปลาก็จะรีบเข้าไปขับไล่ทันที หรือไม่ก็กัดกินปลาอื่นๆที่ว่ายเข้ามาใกล้เป็นอาหารของมันไปเสียเลย

และนับเป็นเวรเป็นกรรมของ "ปล๋าหลิม" หรือ "ปลาช่อน" อีกอย่างหนึ่ง ที่มันต้องผุดขึ้นมาสูดลมหายใจที่ผิวน้ำอยู่บ่อยๆครั้ง ซึ่งเป็นเพราะมันหายใจใต้น้ำด้วยเหงือกเหมือนอย่างปลาอื่นๆไม่ได้ จึงเป็นโอกาสของมนุษย์อย่างเราๆท่านๆที่จะจับมันมาเป็นอาหารได้อย่างง่ายดาย

เฮ้อ...อนิจจัง...เวรกรรม...เวรกรรม...แล้วจะกินมันลงหรือนี่...

แต่...อย่าคิดอะไรมากครับท่าน ถึงอย่างไรมันก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่จะต้องเกิดมาเพื่อเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งให้มนุษย์อย่างเราๆท่านๆได้กินเป็นอาหารอยู่นั่นเอง...

แฮ่...แฮ่...ขออโหสิกรรม...


เครื่องปรุง "น้ำพริกปล๋าหลิม"

ปล๋าหลิมหรือปลาช่อนตัวใหญ่ 1 ตัว กะปิดี 1 ช้อนโต๊ะหรือปลาร้าตัวเล็ก ๆ 2-3 ตัว พริกหนุ่ม 10 เม็ด หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว มะนาว 1-2 ลูก ต้นหอม-ผักชี ผักกาดขาว ใบบัวบก ถั่วฝักยาว แตงกวา และมะเขือเปราะอ่อนๆ ตามใจชอบ

วิธีปรุง "น้ำพริกปล๋าหลิม"

เอาปล๋าหลิมหรือปลาช่อนตัวใหญ่ 1 ตัว ขอดเกล็ดผ่าท้องควักไส้ทิ้ง ใช้มีดคมๆบั้งตามลำตัว ใส่กระทะเติมน้ำพอท่วม ยกตั้งไฟต้มจนสุก แล้วตักปลาใส่จานไว้ น้ำต้มปลาที่เหลืออย่าทิ้ง เอากะปิ 1 ช้อนโต๊ะหรือปลาร้าตัวเล็กๆ 2-3 ตัวใส่ลงไป ต้มให้เดือดอีกครั้ง กรองเอาแต่น้ำใส่ถ้วยเตรียมไว้

พริกหนุ่ม 10 เม็ด หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว เผาไฟจนสุกหอมได้ที่ (ใช้คั่วในกระทะก็ได้ไม่ต้องใส่น้ำมัน) ลอกเปลือกดำ ๆ ทิ้ง แล้วเอาทั้งหมดใส่ครกตำรวมกันจนแหลกได้ที่ แกะเนื้อปลาที่ต้มไว้ใส่ลงไปในครก ตำให้เข้ากัน เอาน้ำต้มปลาที่กรองใส่ถ้วยเตรียมไว้ใส่ลงไปพอขลุกขลิก บีบมะนาวสัก 1-2 เสี้ยว ปรุงรสด้วยรสดี น้ำปลา กะให้เค็มนำ เผ็ดตาม เปรี้ยวนิดหน่อย และหวานธรรมชาติ (ไม่ใส่น้ำตาล) ตักใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยต้นหอม-ผักชีหั่นฝอย

รับประทานแกล้มกับ "ผักสด" เช่น ผักกาดขาว ใบบัวบก ถั่วฝักยาว แตงกวา และมะเขือเปราะอ่อนๆ อร่อยแซบ...อย่าบอกใครเชียวครับคุณ


น้ำพริกต๋าแดง
By: ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร

"น้ำพริกต๋าแดง" เป็นน้ำพริกที่เก็บไว้รับประทานได้นานวันโดยไม่เสียหรือบูด หรือจะเอาไว้เป็นเสบียงเวลาเดินทางไปต่างถิ่น รับประทานกับข้าวเหนียวร้อนๆ คู่กับ "จิ๊นเก็ม" ก็สะดวกสบายดี หรือเหมาะจะเป็นของขวัญของฝากแก่ญาติโกโหติกา เพื่อนสนิทมิตรสหาย ทั้งเพศเดียวกันหรือต่างเพศหรือต่างวัย ทั้งที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆหรือต่างประเทศก็ได้ รับรอง "ผู้รับ" จะหายคิดถึงบ้านทันที

เครื่องปรุง "น้ำพริกต๋าแดง"

ปลาย่างหรือปลาแห้งปลาอะไรก็ได้ 1 ตัวใหญ่ ๆ พริกแห้ง 6-7 เม็ดหรือพริกขี้หนูแห้ง 1 กำมือ หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว กะปิดี 1 ช้อนโต๊ะ (หรือปลาร้าตัวเล็กๆ 2-3 ตัว) น้ำมันพืช 2-3 ช้อนโต๊ะ ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือเปราะ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และแคบหมูตามใจชอบ

วิธีปรุง "น้ำพริกต๋าแดง"

เอาปลาย่างหรือปลาแห้งปลาอะไรก็ได้ 1 ตัวใหญ่ ๆ ย่างไฟจนเหลืองหอม แกะเอาแต่เนื้อปลาล้วนๆ ใส่ถ้วยเตรียมไว้

เอาพริกแห้ง 6-7 เม็ดหรือพริกขี้หนูแห้ง 1 กำมือเสียบไม้ย่างบนเตาถ่านไฟรุมๆ (เวลาย่างให้ยกไม้เสียบพริกขึ้นสูงๆ อย่าให้พริกไหม้จะขม) หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว เผาไฟจนสุก และลอกเอาเปลือกที่ดำๆทิ้ง กะปิดี 1 ช้อนโต๊ะห่อใบตองปิ้งไฟจนสุก (หรือเอาปลาร้าตัวเล็ก ๆ 2-3 ตัว แกะก้างทิ้งเอาแต่เนื้อๆสับให้ละเอียดห่อใบตองปิ้งไฟจนสุกใส่แทนก็ได้)แล้วเอาทั้งหมดใส่ครก พร้อมเกลือป่นนิดหน่อย ตำให้ละเอียดจนเข้ากันดี แล้วใส่ปลาย่างหรือปลาแห้งที่แกะเตรียมเอาไว้ลงไป ตำให้เข้ากันอีกครั้งจนละเอียดได้ที่ ปรุงรสด้วยรสดี เกลือป่น

กระทะใส่น้ำมันพืช 2-3 ช้อนโต๊ะ ยกตั้งไฟ พอร้อนตักน้ำพริกในครกลงไปผัดสักครู่ ทิ้งให้เย็น แล้วตักใส่ขวดแก้วที่สะอาดๆ เก็บไว้รับประทานได้นานวัน

"น้ำพริกต๋าแดง" ตำรับนี้ จะใส่กะปิดี หรือใส่ปลาร้าก็ได้ หรือจะใส่ทั้งกะปิดีและปลาร้าก็ได้ ตามแต่ใจชอบครับ

รับประทานแกล้มกับ "ผักสด" เช่น ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือเปราะ "ผักต้ม" เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และของกรุบๆกรอบๆที่จะขาดไม่ได้ คือ "แคบหมู" เพียงเท่านี้ก็อร่อยจนตาแดง (เผ็ดจนตาแดง) กันแล้วครับ


น้ำพริกมะเขือแจ้นอนอ่อง
By: ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร

"มะเขือแจ้" หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "มะเขือขื่น" มีลักษณะคล้ายๆกับ "มะเขือเปราะ" แต่ไม่เหมือนเลยทีเดียว "มะเขือแจ้" ที่นำมารับประทาน ส่วนมากจะเลือกเอาผลแก่เปลือกหนาสีเหลืองเข้ม เพราะจะ "ขื่น" เต็มที่ ถ้าหากไม่มี "มะเขือแจ้" จะใช้ "มะเขือพวง" แทนก็ได้ เพราะ 'ขื่น" พอๆกัน

เครื่องปรุง "น้ำพริกมะเขือแจ้นอนอ่อง"

มะเขือแจ้หรือมะเขือขื่น 1-2 ลูกหรือมะเขือพวง 6-7 ลูก พริกขี้หนูสวนตามใจชอบ กระเทียม 1 หัว กะปิดีตามใจชอบ มะนาว ผักชี ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือเปราะ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และแคบหมูตามใจชอบ

วิธีปรุง "น้ำพริกมะเขือแจ้นอนอ่อง"

พริกขี้หนูสวนตามใจชอบ กระเทียม 1 หัว ใส่ครกตำให้เข้ากัน ใส่กะปิดีตามใจชอบ มะเขือแจ้หรือมะเขือขื่น 1-2 ลูก ผ่าเอาแต่เมล็ดในใส่ลงไป ใช้สากตำเบาๆให้เข้ากัน เปลือกมะเขือแจ้หั่นเป็นชิ้นเล็กๆใส่ลงไปด้วย หรือจะใส่มะเขือพวง 6-7 ลูกผ่าครึ่งลงไปด้วยก็ได้ บีบมะนาว แล้วชิมรสตามใจชอบ ตักใส่ถ้วยโรยหน้าด้วยผักชีหั่นฝอยและพริกขี้หนูสวนเม็ดเล็กๆ

รับประทานแกล้มกับ "ผักสด" เช่น ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือเปราะ "ผักต้ม" เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และของกรุบๆกรอบๆที่ขาดไม่ได้ก็คือ "แคบหมู" เพียงเท่านี้ก็อร่อยจนน้ำตาร่วงหลังพวงมาลัยแล้วครับ



ชายชรากับลังเหล็ก
By: ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร

กาลครั้งหนึ่ง ยังมีคุณลุงอยู่ท่านหนึ่ง ในช่วงวัยหนุ่มคุณลุงท่านนี้เป็นหัวหน้าคนงานอยู่ในเหมืองทองคำมีรายได้ดีมาก แต่คุณลุงท่านนี้ไม่เคยเก็บเงินเลยมีเท่าไรก็ใช้หมด เนื่องจากคุณลุงเป็นคนจิตใจดีใครมาหยิบยืมก็ให้ เลี้ยงเพื่อนฝูงตลอด คุณลุงมีเพื่อนเยอะมาก จนกระทั่งคุณลุงท่านนี้เกษียณอายุจากการทำงาน ปรากฏว่าไม่มีเงินเหลือเลยจากชีวิตการทำงานอันยาวนาน

คุณลุงมีลูกอยู่ 5 คน เมื่อคุณลุงไม่มีเงินก็จำเป็นต้องไปอาศัยอยู่บ้านลูกๆทั้ง 5 คน

วันจันทร์ ก็ไปอยู่บ้านลูกสาว ก็ถูกลูกเขยพูดจากระทบกระเทียบ เช่น "ทำไมคุณพ่อคุณไม่ไปบ้านลูกคนอื่นบ้างนะ ผมจะทำอะไรก็อึดอัดจริงๆ"

วันอังคาร ก็ไปอยู่บ้านลูกชาย ก็ถูกหลาน และลูกสะใภ้กระทบกระเทียบ เช่น "รำคาญคุณปู่จังเลยกับข้าวที่หนูชอบดูสิคุณปู่ทานหมดเลย ทำไมคุณปู่ไม่ไปบ้านอื่นบ้าง" เป็นเช่นนี้ตลอด

คุณลุงก็เปลี่ยนไปอยู่บ้านลูกคนนั้นทีคนนี้ที ก็ถูกลูกบ้าง ลูกเขยบ้าง ลูกสะใภ้บ้าง หลานบ้าง พูดจาถากถางอยู่ตลอด แต่คุณลุงก็ต้องทน เพราะคุณลุงไม่มีเงินเก็บแม้แต่บาทเดียว

อยู่มาวันหนึ่ง คุณลุงตัดสินใจเรียกลูกๆทุกคนมาแล้วบอกว่า "พ่อจะไม่อยู่สัก 2 ปีนะลูก เพราะเพื่อนพ่อที่เป็นเจ้าของเหมืองทองคำมันเขียนจดหมายมาขอร้องให้พ่อไปช่วยงานที่เหมืองทองคำของมัน พ่อจำเป็นต้องไปช่วยเขาจริงๆ" ลูกๆได้ฟังดังนั้นก็ดีใจสนับสนุนเพื่อให้คุณลุงท่านนี้ไปให้พ้นๆ จะได้ไม่เป็นภาระอีกต่อไป

เมื่อครบ 2 ปี คุณลุงท่านนี้ก็กลับมาพร้อมกับลังเหล็กใบใหญ่ 1 ใบ ไปไหนแกก็ลากไปด้วย ลูกๆก็พากันแปลกใจและถามว่า "ลังอะไร" คุณลุงตอบว่า "เป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่ได้มาจากเหมืองทองคำของเพื่อน ถ้าใครดูแลพ่อจนถึงวาระสุดท้ายก็จะมอบสมบัติในลังเหล็กให้ทั้งหมด" ปรากฏว่า ลูกๆพากันตื่นเต้น ต่างอาสามาดูแลคุณพ่อกันยกใหญ่

วันจันทร์ คุณลุงก็อยู่กับลูกสาวคนโต ลูกเขยกับหลานก็พากันเอาใจบีบนวดให้ หาของกินดีๆมาให้ แต่ยังไม่ทันไรลูกชายคนที่สองก็มาตามให้ไปอยู่ด้วย และก็เช่นกันยังไม่ทันไร ลูกสาวคนที่สาม ก็มาตามให้ไปอยู่ด้วยอีก ปรากฏว่าลูกๆทั้ง 5 คน ของคุณลุงต่างแย่งกันเอาใจและปรนนิบัติคุณลุงท่านนี้อย่างดี แต่เวลาไปไหนคุณลุงก็จะลากลังเหล็กใบนี้ไปด้วยตลอด

เวลาผ่านไป 7 ปี คุณลุงท่านนี้เสียชีวิตลง หลังงานพิธีศพ ลูกๆทุกคนพากันมานั่งล้อมลังเหล็กใบนี้เพื่อแบ่งสมบัติกัน ลูกสาวคนโตเป็นคนเปิดฝาลังเหล็ก พบว่ายังมีผ้าสีขาวปิดอยู่อีกชั้นหนึ่ง และมีจดหมายฉบับหนึ่งวางอยู่ ลูกสาวคนโตก็เปิดอ่านให้น้องๆฟัง เนื้อความในจดหมายเขียนไว้ว่า


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าประมาทและอย่าคาดหวังว่าใครจะเลี้ยงดูเรา ให้เร่งเก็บออมเสียตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้มีชีวิตบั้นปลายที่สุขสบาย

ได้ฟังนิทานเรื่องนี้ทีไรให้รู้สึกสะท้อนใจทุกครั้ง และไม่เคยคิดว่าเป็นเพียงนิทาน เพราะเหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ไม่เตรียมเก็บออมเงินเสียตั้งแต่เนิ่นๆ...พึ่งพาใครไหนเล่า...จะดีเท่าพึ่งพาตัวเราเอง