"คู่มือ...ทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์" (ฉบับรีไซเคิ้ล) เล่มนี้ ผมขออนุญาตเรียกอย่างนี้ เพราะกระดากที่จะเรียกว่า "ตำรา" ผมเขียนขึ้นจากประสบการณ์ในการทำกับข้าวด้วยตนเองเกือบจะทุกวัน ตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่จนเกือบจะลาจากโลกใบนี้ไปแล้ว ส่วนหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นส่วนมากที่สุดมาจากความทรงจำในอดีต ที่ได้อาสาเป็นลูกมือช่วยผู้ใหญ่ทำกับข้าวอยู่เสมอ... และทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ผมได้ตรวจสอบชำระข้อความบางท่อนบางตอนที่เป็นส่วนสาระสำคัญกับหนังสือ "ตำราทำกับข้าวเมืองเหนือ" เขียนโดย คุณสงวน โชติสุขรัตน์ ซึ่งเป็นบรมครูทางการหนังสือพิมพ์ขั้นปฐมของผม แล้วนำมาคลุกเคล้าผสมผสานเรียบเรียงเขียนขึ้นมาใหม่ในเชิง "เล่าสู่กันฟัง" ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่คนรุ่นใหม่ จะได้นำเอาไปเป็น "คู่มือ" อนุรักษ์การทำกับข้าวของเมืองเหนือ ให้คงอยู่ถึงคนรุ่นต่อๆไป โดยคำนึงถึงวิธีการการทำกับข้าวเพื่อให้ทำกันได้อย่างง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร
"โปรดสังเกต.. ที่ช่อง url ด้านบนซ้าย ถ้าเป็น https กรุณาเปลี่ยนเป็น http แล้วกด enter เข้ามาใหม่ครับ"
@ คลิกที่นี่ ดูบนyoutube... @ ภาพรับปริญญามีต่อที่นี่... @ และที่นี่อีกจ้า... @ บัณฑิตรามฯรุ่น38(2555) ทุกคณะและทุกคน โหลดคลิปที่นี่...

วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประวัติเมืองหริภุญชัย และ ตำนานเจดีย์พระบรมธาตุหริภุญชัย, พระธาตุประจำปีเกิด 12 ปีนักษัตร


ประวัติเมืองหริภุญชัย
และ ตำนานเจดีย์พระบรมธาตุหริภุญชัย

By: ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร

"ลำพูน" หรือ "หละปูน" หรือชื่อดั้งเดิมมาแต่โบราณกาลว่า "หริภุญชัย" เป็นเมืองที่สร้างเมื่อประมาณปีพุทธศักราช 1200 โดย "วาสุเทพฤๅษี" ได้เกณฑ์พวก "เมงคบุตร" เชื้อสายมอญมาสร้างบนผืนแผ่นดินระหว่าง "แม่น้ำปิง" และ "แม่น้ำกวง"

เมื่อสร้างเมือง "หริภุญชัย" เสร็จ เนื่องจาก "วาสุเทพฤๅษี" เป็นผู้บำเพ็ญสมาบัติ (การเข้าฌาน) จึงได้ไปเชิญหน่อกษัตริย์จากเมือง "ละโว้" มาปกครองเมืองแทน

"พระยาจักวัติ" ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเมืองละโว้ในขณะนั้นไม่ทรงมีราชโอรส จึงได้ส่งราชธิดา คือ "พระนางจามเทวี" มาแทน พระนางจึงเป็นกษัตริย์ครองเมือง "หริภุญชัย" เป็นองค์แรก ซึ่งบ้านเมืองได้เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นมั่นคง และมีกษัตริย์ปกครองเมืองสืบต่อมาอีกหลายราชวงศ์

จำเนียรกาลผ่านไป ล่วงมาถึงปีพุทธศักราช 1440 กษัตริย์ผู้ครองเมือง "หริภุญชัย" ลำดับที่ 33 คือ "พระยาอาทิตยราช" แห่งราชวงศ์รามัญ โดยมี "พระนางปทุมวดี" เป็นอัครมเหสี บ้านเมืองได้เกิดศึกสงครามหลายครั้งหลายครา แต่ด้วยพระบรมเดชานุภาพ จึงทำให้ศัตรูพ่ายแพ้ไปทุกคราว

"พระยาอาทิตยราช" จึงทรงสร้างปราสาทราชมณเฑียรขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และได้สร้างหอจัณฑาคารที่ลงพระบังคน (ที่ถ่ายทุกข์หนักทุกข์เบา) ไว้ใกล้ปราสาทนั้นด้วย

แต่ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จลงพระบังคนที่หอจัณฑาคารนั้น จะมีกาบินโฉบไปโฉบมาเป็นที่น่ารำคาญอยู่เสมอ เพื่อมิให้เสด็จไปใช้ จนพระองค์กริ้ว และรับสั่งให้อำมาตย์ราชบุรุษให้ช่วยกันจับกาตัวนั้นให้ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังจับกาไม่ได้เสียที จนเป็นที่ประหลาดพระทัยยิ่งนัก จึงมีรับสั่งให้ทำพิธีบวงสรวงเทพยดาที่เฝ้ารักษาเมือง "หริภุญชัย" ให้ช่วยดลบันดาล และต่อมาก็จับกาตัวนั้นได้

ณ ราตรีกาลนั้น "พระยาอาทิตยราช" ทรงพระบรรทมอยู่ เทพยดาได้มาเข้าสุบินนิมิตว่า "ถ้าพระองค์ใคร่ทรงทราบเหตุที่มีอยู่ใน "ถาน" ที่นี้ไซร้ ให้พระองค์จงทรงนำเด็กทารกที่เกิดได้ 7 วันมาไว้อยู่ใกล้กา 7 วัน แล้วนำออกมาไว้กับคน 7 วัน สลับกันเช่นนี้นานประมาณ 7 ปี แล้วให้พระองค์มีรับสั่งให้เด็กน้อยนั้นถามกาดู พระองค์ก็จะทรงทราบเหตุที่มีอยู่ใน "ถาน" ที่นี้อย่างแท้จริง"

ครั้นทรงตื่นจากพระบรรทม จึงมีรับสั่งให้นำเด็กทารกเกิดใหม่มากระทำตามคำเล่าของเทพยดาทุกประการ

เมื่อกาลเวลาผ่านไปครบ 7 ปี ทารกน้อยคนนั้นก็เจริญเติบโตเป็นเด็กหน้าตาน่าเอ็นดู รอบรู้ทั้งภาษาคน และภาษากา

"พระยาอาทิตยราช" จึงมีรับสั่งให้เด็กน้อยถามกาถึงเรื่องราวแต่ครั้งหนหลังที่ยังทรงข้องพระทัยอยู่ ซึ่งกาได้อธิบายว่า "อันสถานที่พระองค์ได้ทรงสร้างหอจัณฑาคารนั้น ในอดีตกาลโพ้นเป็นที่ประดิษฐาน พระเกศาธาตุ อุรังคธาตุ แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พญากาเผือกผู้เป็นอัยกาของข้าพเจ้านี้ ได้สั่งให้อยู่เฝ้ารักษาสถานที่แห่งนี้ เพื่อคอยป้องกันมิให้ผู้คนและสัตว์มาทำสกปรกเมื่อพระองค์ไม่ทรงทราบว่าเป็นที่มงคล จะมาลงพระบังคนกระทำให้ไม่สะอาด ตัวข้าจึงต้องทำการขัดขวางทุกครั้งไป"

เมื่อ "พระยาอาทิตยราช" ได้สดับเรื่องราว ก็ทรงมีพระหฤทัยโสมนัสยิ่งนัก จึงตรัสว่า "ถ้าหากเป็นเช่นนั้น เจ้าจงไปเชิญพญากาเผือกมาเถิด" เมื่อการับคำสั่งแล้ว จึงได้บินไปสู่ป่าหิมพานต์แจ้งแก่พญากาเผือกว่า "พระยาอาทิตยราชให้ข้ามาเชิญปู่ไป ณ บัดนี้"

ต่อจากนั้นกาหนุ่มสองตัวก็คาบท่อนไม้ตัวละข้าง ให้พญากาเผือกจับเกาะตรงกลางท่อนไม้นั้น โดยมีกาบริวารบินนำขบวน 500 ตัว ตามหลัง 500 ตัว ข้างขวา 500 ตัว ข้างซ้าย 500 ตัว เบื้องบน500 ตัว และเบื้องต่ำ 500 ตัว พากันบินมาสู่ปราสาทของ "พระยาอาทิตยราช" ณ นคร "หริภุญชัย" ในวันนั้น

"พระยาอาทิตยราช" ทรงให้พญากาเผือกจับอยู่ที่อาสนะทองคำ กระทำสักการะพญากาเผือกแล้วเลี้ยงข้าวน้ำโภชนาหารแก่หมู่กาอันเป็นบริวารทั้งหลาย เสร็จแล้วก็ให้เด็กน้อยถามพญากาเผือกซึ่งพญากาเผือกได้เล่าถึงเหตุการณ์แต่หนหลังว่า...

"...เมื่อครั้งพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นด้วยญาณว่า มีสถานที่แห่งหนึ่งเรียบฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกขึ้นไปทางทิศเหนือ ในกาลข้างหน้าจะมีพระธาตุอุบัติขึ้น ผู้คนทั้งหลายจะพากันไปชุมนุมที่นั่น ซึ่งส่งผลให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองยาวนาน พระพุทธองค์จึงได้เสด็จมาพร้อมกับพระอานนท์ พระโสณะ และพระอุตระ

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงชัยภูมิแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริเวณที่จะมีพระธาตุอุบัติขึ้น บนพื้นดินที่ราบเรียบมีศิลาก้อนหนึ่งโผล่ขึ้นมา เพื่อให้ทรงประทับนั่งและวางบาตร

ขณะเดียวกัน ท้าวชมพูนาคราชได้โผล่ขึ้นมาจากใต้พิภพ ส่วนพญากาเผือกเองก็บินมาจากป่าหิมพานต์ เข้ามาอุปัฏฐาก (รับใช้) พระพุทธเจ้า

นายพรานป่าชาวลัวะผู้หนึ่ง ได้นำผลสมอมาถวาย เมื่อพระพุทธองค์ได้เสวยสมอผลนั้นเม็ดที่เหลือก็ทิ้งลงบนพื้นดิน ปรากฏเป็นสิ่งอัศจรรย์ขึ้น เม็ดสมอนั้นได้หมุนดังประทักษิณาวัฏฏะพระพุทธองค์ 3 รอบ

ฝ่ายพระอานนท์ได้เห็นดั่งนั้น จึงทูลถามเหตุแห่งนิมิตนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสเป็นพุทธทำนายว่า "ดูก่อนอานนท์ หลังจากเราตถาคตนิพพานไปแล้ว ในสถานที่แห่งนี้จะมีนครหนึ่งชื่อ "หริภุญชัย" จักเป็นที่ตั้งแห่งสุวรรณเจดีย์ บรรจุธาตุกระหม่อม อุรังคธาตุ ธาตุกระดูกนิ้วและธาตุย่อย จะมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ เมื่อใดนายพรานป่าผู้ที่นำผลสมอมาถวายเราตถาคตซึ่งอานิสงส์จะจุนเจือให้ไปจุติเป็น "พระยาอาทิตยราช" เสวยนคร "หริภุญชัย" เมื่อนั้นธาตุตถาคตจะออกมาปรากฏตั้งอยู่ในสถานที่แห่งนี้ เพื่อเป็นที่สักการะบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย โดยมี "พระยาอาทิตยราช" เป็นประธาน สิ้นกาลอันช้านานแล"

เมื่อสิ้นพุทธทำนายของพระพุทธองค์แล้ว พระอรหันตสาวก ท้าวชมพูนาคราช และพญากาเผือก ต่างพร้อมใจกันกราบทูลขอ "พระเกศาธาตุ" ซึ่งพระพุทธองค์ทรงใช้พระหัตถ์ขวาลูบพระเศียรได้ "พระเกศาธาตุ" เส้นหนึ่งยื่นประทานให้ พระอรหันตสาวก ท้าวชมพูนาคราช และพญากาเผือกได้ช่วยกันนำ "พระเกศาธาตุ" เส้นนั้นใส่กระบอกไม้รวก บรรจุใส่พระโกศแก้วใหญ่ที่พระอินทร์เนรมิตให้ แล้วประดิษฐานไว้ในถ้ำใต้ศิลาที่ประทับนั่ง จากนั้นศิลาที่ประทับนั่งก็จมลงสู่ใต้พื้นดินดังเดิม

ท้าวชมพูนาคราชได้ขอให้ "เจ้าปู่เตโค" และ "เจ้าปู่สุริโย" บริวารแห่ง "ท้าวเวสสุวรรณ" ให้ช่วยปกปักรักษา ส่วนพญากาเผือกเองก็ได้แต่งตั้งกาผู้เป็นหลานตัวหนึ่งพร้อมบริวาร ให้ช่วยกันเฝ้ารักษาสถานที่นั้นไว้ ไม่ให้คนหรือสัตว์มาสร้างความสกปรกได้

ต่อจากนั้น พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ก็พากันกลับสู่เมืองพาราณสีไป..."


เมื่อ "พระยาอาทิตยราช" ทรงสดับเรื่องราวทั้งมวลจาก "พญากาเผือก" แล้ว พระหฤทัยของพระองค์ก็บังเกิดความปีติยินดียิ่งนัก รับสั่งให้อำมาตย์ทั้งหลายรื้อปราสาทราชมณเฑียรของพระองค์ออกไปเสียจากที่นั้น ให้ชำระมลทินนำดินที่ไม่ดีเปรอะเปื้อนสิ่งปฏิกูลออกไปทิ้งนอกพระนคร แล้วนำดินที่ดีปราศจากมลทินมาถมแทน แล้วโปรดให้จัดเนื้อที่บริเวณนั้น กระทำเป็นปริมณฑลรอบกว้าง 30 วา โปรยด้วยทรายและข้าวตอกดอกไม้ให้หนาได้หนึ่งศอก ประดับประดาด้วยสุคนธชาติของหอมทั้งมวล และให้ประดับโคมไฟล้อมรอบทั้งสี่ด้าน พร้อมกับจัดแต่งเมือง "หริภุญชัย" ให้งดงามเหมือนดังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ชาว "หริภุญชัย" เมื่อได้รับทราบในเวลาต่อมา ต่างปีติยินดีกันทั่วหน้า นำดอกไม้ธูปเทียนมาร่วมสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุกันทั้งสิ้นทุกครัวเรือน

"พระยาอาทิตยราช" ทรงเป็นองค์ประธาน นิมนต์พระสงฆ์ให้เจริญ "พระปริตรมงคล" อันมี "ธัมมจักกัปวัตตนสูตร" และ "มหาสมัยสูตร" เป็นที่ชื่นชมยินดีแก่เทพยดากันทั่วหน้า

ชาว "หริภุญชัย" ทั้งมวลต่างพากันคุกเข่าลง ยกมือตั้งไว้เหนือศีรษะน้อมนมัสการ ต่างช่วยกันอ้อนวอนอาราธนาขอให้ "พระธาตุของพระพุทธเจ้า" ได้โปรดเสด็จออกมาปรากฏให้เห็น

ทันใดนั้น "พระธาตุของพระพุทธเจ้า" ก็พาทั้งพระโกศออกมาพ้นแผ่นดิน แล้วลอยขึ้นไปในอากาศสูงประมาณช่วงต้นตาล เปล่ง “ฉัพพรรณรังสี” (รัศมี 6 ประการ) กระจายไปทั่วนคร "หริภุญชัย"

"พระยาอาทิตยราช" พร้อมทั้ง "พญากาเผือก" และชาว "หริภุญชัย" ทั้งมวลได้เห็นดังนั้นต่างก็มีจิตใจอิ่มเอิบชื่นชมโสมนัส กระทำสักการะบูชา และเปล่งเสียงสาธุการ

"พระโกศพระธาตุของพระพุทธเจ้า" ลอยอยู่ในอากาศนานถึง 7 วัน จึงได้เสด็จลงมาประดิษฐานในแผ่นดินเหมือนเดิม

"พระยาอาทิตยราช" ทรงมีรับสั่งให้ขุดเอาพระโกศพระธาตุของพระพุทธเจ้าขึ้นมา แต่ยิ่งขุดลึกลงไปเท่าใด พระโกศพระธาตุฯ ก็เลื่อนไหลลึกลงไปเท่านั้น

"พระยาอาทิตยราช" จึงทรงสักการะบูชาขออาราธนาอีกครั้ง ฉับพลันนั้น พระธาตุฯ ก็พาทั้งพระโกศผุดโผล่ออกจากในดินลอยขึ้นมาสูง 3 ศอก เปล่ง "ฉัพพรรณรังสี" สุกสว่างไปทั่วนคร "หริภุญชัย" เสมอดั่งสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพและทรงกระทำ "ยมกปาฏิหาริย์" ฉันนั้น

"พระยาอาทิตยราช" ทรงมีพระทัยโสมนัสยิ่งนัก จึงให้บรรเลงดุริยางค์สมโภชพระธาตุพระพุทธเจ้าตลอด 7 วัน 7 คืน อีกทั้งรับสั่งให้ช่างทองคำทำพระโกศทองคำขึ้นลูกหนึ่งมีน้ำหนัก 3,000 คำ (บาท) สูง 3 ศอก ประดับด้วยรัตนะทั้ง 7 ประการ ครอบพระโกศพระธาตุพระพุทธเจ้าที่พระอินทร์นำเอาลงมาในครั้งกระโน้น และทรงรับสั่งให้สร้างปราสาทหลังหนึ่ง มี 4 เสา มีโขง (ประตูโค้ง) ทั้ง 4 ด้าน สูง 12 ศอก ก่อด้วยอิฐดิน อิฐเงิน อิฐทองคำ ซึ่งแต่ละก้อนมีน้ำหนัก 1,500 วิจิตรด้วยรัตนะ 7 ประการ ครอบพระโกศทองคำอีกชั้นหนึ่ง

"พระยาอาทิตยราช" ทรงกระทำการสักการะบูชา และถวายทานเป็นอันมาก ทรงพระราชทานทาสไว้ปฏิบัติพระบรมธาตุฯ จำนวน 4 ครัวเรือน

"พญากาเผือก" ได้แนะนำให้ "พระยาอาทิตยราช" ให้ทรงดำรงอยู่ในศีล 5 และรักษาอุโบสถกรรม แล้วก็อำลากลับคืนสู่ป่าหิมพานต์อันเป็นที่อยู่แห่งตนในวันนั้นแล...

กาลเวลาได้ผ่านไปจนบรรลุถึงปีพุทธศักราช 1986 "พระเจ้าติโลกราช" กษัตริย์ผู้ครองนคร "เชียงใหม่" ได้เสด็จมานคร "หริภุญชัย" เพื่อนมัสการพระบรมธาตุ "หริภุญชัย" ซึ่งได้มีการสร้างเสริมต่อจาก "พระยาอาทิตยราช" มาอีกหลายสมัย ซึ่งขณะนั้นได้ชำรุดทรุดโทรมลง

"พระเจ้าติโลกราช" ได้ทรงกระทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ ด้วยการสร้างโครงเจดีย์ขึ้นมาใหม่ให้เป็นรูปแบบลังกา (ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้) เป็นเจดีย์แบบล้านนาไทยแท้ๆ มีพระธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุอยู่ภายในพระโกศทองคำ หนัก 3,000 บาท ประดิษฐานอยู่ข้างใน

พระบรมธาตุ "หริภุญชัย" เป็นเจดีย์ที่รูปทรงลงตัวสวยงามมาก ประกอบด้วยฐานปัทม์แบบฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม มีลูกศร 22 ชั้น ฉัตรยอด 9 ชั้น ซึ่งทำด้วยทองคำ หนัก 433 บาท 1 สลึง (เจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับเจดีย์พระธาตุ "ดอยสุเทพ" ที่จังหวัดเชียงใหม่) มีความสูงจากพื้นฐานถึงยอด 25 วา 2 ศอก 1 คืบ มีสัตตบัญชร (รั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น มีสำเภาทองประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือและทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์และฉัตรประจำสี่มุม และมีหอคอยประจำทุกด้านรวมทั้งหมด 4 หอ ซึ่งบรรจุพระพุทธรูปนั่งทุก ๆ หอ นอกจากนี้ยังมีโคมประทีปและแท่นบูชา ก่อประจำไว้ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

เจดีย์พระบรมธาตุ "หริภุญชัย" นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของจังหวัดลำพูน และเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งในล้านนาไทยมาตั้งแต่โบราณกาล เพราะสร้างมานานถึง 1,100 ปี เมื่อถึงวันเพ็ญ "วิสาขบูชา" หรือ "วันเพ็ญเดือนหก" ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (ภาคกลาง) หรือเดือน 8 (ภาคเหนือ) หรือที่ "จาวหละปูน" เรียกว่า "วันแปดเป็ง" ของทุกๆปี จะมีพิธีสักการะบูชาสรงน้ำ และงานสมโภชพระบรมธาตุ "หริภุญชัย" ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีที่สำคัญของชาวลำพูน

สำหรับน้ำที่นำมาสรงพระบรมธาตุ "หริภุญชัย" นั้น เป็นน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานมาร่วม รวมกับ "น้ำทิพย์" ที่ตักมาจากบ่อลึกบน "ดอยขะม้อ" (ตั้งอยู่ที่ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองลำพูน)

นอกจากนั้น จะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวจังหวัดลำพูนและจังหวัดอื่นๆ ทั้งใกล้และไกล จะนำน้ำขมิ้นส้มป่อย ซึ่งเป็นน้ำแช่ฝักส้มป่อยแห้งย่างไฟจนเหลืองหอมลอยด้วยดอกคำฝอย (ดอกดาวเรือง) ตากแห้ง มาร่วมทำพิธีสักการะบูชา และสรงน้ำพระบรมธาตุ "หริภุญชัย" ด้วยเป็นจำนวนมาก เพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งแก่ตนเองและครอบครัวสืบไป

สำหรับผู้ที่เกิด "ปีระกา" ควรจะหาโอกาสไปกราบนมัสการพระบรมธาตุ "หริภุญชัย" ให้จงได้ ตามตำนานกล่าวว่า พระบรมธาตุ "หริภุญชัย" เป็นที่บรรจุดวงของคนเกิด "ปีระกา" ด้วย