"คู่มือ...ทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์" (ฉบับรีไซเคิ้ล) เล่มนี้ ผมขออนุญาตเรียกอย่างนี้ เพราะกระดากที่จะเรียกว่า "ตำรา" ผมเขียนขึ้นจากประสบการณ์ในการทำกับข้าวด้วยตนเองเกือบจะทุกวัน ตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่จนเกือบจะลาจากโลกใบนี้ไปแล้ว ส่วนหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นส่วนมากที่สุดมาจากความทรงจำในอดีต ที่ได้อาสาเป็นลูกมือช่วยผู้ใหญ่ทำกับข้าวอยู่เสมอ... และทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ผมได้ตรวจสอบชำระข้อความบางท่อนบางตอนที่เป็นส่วนสาระสำคัญกับหนังสือ "ตำราทำกับข้าวเมืองเหนือ" เขียนโดย คุณสงวน โชติสุขรัตน์ ซึ่งเป็นบรมครูทางการหนังสือพิมพ์ขั้นปฐมของผม แล้วนำมาคลุกเคล้าผสมผสานเรียบเรียงเขียนขึ้นมาใหม่ในเชิง "เล่าสู่กันฟัง" ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่คนรุ่นใหม่ จะได้นำเอาไปเป็น "คู่มือ" อนุรักษ์การทำกับข้าวของเมืองเหนือ ให้คงอยู่ถึงคนรุ่นต่อๆไป โดยคำนึงถึงวิธีการการทำกับข้าวเพื่อให้ทำกันได้อย่างง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร
"โปรดสังเกต.. ที่ช่อง url ด้านบนซ้าย ถ้าเป็น https กรุณาเปลี่ยนเป็น http แล้วกด enter เข้ามาใหม่ครับ"
@ คลิกที่นี่ ดูบนyoutube... @ ภาพรับปริญญามีต่อที่นี่... @ และที่นี่อีกจ้า... @ บัณฑิตรามฯรุ่น38(2555) ทุกคณะและทุกคน โหลดคลิปที่นี่...

วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

แหนมหรือจิ๊นส้ม, จิ๊นทอด, ยำจิ๊นแห้ง, ยำจิ๊นไก่, คั่วตับหมูเครื่องในหมู, เจียวผักปั๋ง, สันดานนักการเมือง "เอาดีเข้าตัว ชั่วให้คนอื่น"


แหนมหรือจิ๊นส้ม
By: ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร

แหนม เป็นอาหารพื้นเมือง ที่นิยมบริโภคกันโดยทั่วไปในท้องถิ่นภาคเหนือ และความนิยมก็ได้แพร่หลายไปยังประชาชนในภูมิภาคอื่นๆกว้างขวางขึ้นตลอดมา

แหนมหรือที่ชาวเหนือรู้จักอีกชื่อหนึ่งว่า "จิ๊นส้ม" จิ๊น แปลว่า "เนื้อ" ส่วน ส้ม คือ "เปรี้ยว" จิ๊นส้มของชาวเหนือก็คือเนื้อที่เปรี้ยวนั่นเอง แหนมเป็นการถนอมอาหาร ทำแล้วเก็บไว้กินได้นาน แหนมชนิดแรกที่ทำกันคือ แหนมหม้อ

ทำไมเรียกกันอย่างนั้น เพราะแต่เดิมเขาเอาแหนมที่หมักได้ใส่ไว้ในหม้อหรือในกะละมัง ตั้งขายกันในตลาด พอลูกค้ามาซื้อกันทีก็ใช้ช้อนตักใส่ใบตองขายตามแต่ลูกค้าจะสั่ง มันไม่มีแบบยกห่อขายกันเหมือนสมัยปัจจุบัน ลูกค้าซื้อเท่าไรก็ตักขายเท่านั้น เขาจะใช้ใบตองห่อแล้วเอาตอกมัดอีกที มันก็เลยกลายเป็นชื่อเรียกว่าแหนมหม้อ

ในการทำแหนมหม้อแต่เดิม เขาเอาทั้งเนื้อทั้งมันหมักรวมกัน ไม่ได้แยกเป็นชนิดไร้มัน หรือไม่ไร้มันเหมือนปัจจุบัน เมื่อรสชาติของแหนมเริ่มถูกปาก และเริ่มมีผู้บริโภคมากขึ้น จึงมีการแบ่งใส่ใบตองขายแยกเป็นห่อๆโดยใช้ตอกมัด

ระยะต่อมาจึงเริ่มมีแหนมไร้มัน แหนมซี่โครง ซึ่งพัฒนาจากการเลือกส่วนของหมูที่ใช้ทำเป็นหลัก ส่วน "แหนมหลอด" และ "แหนมตุ้มจิ๋ว" เป็นชื่อเรียกตามลักษณะการห่อเท่านั้น แต่วิธีการหมักแหนมเหมือนกันทุกประการ

ส่วนผสมของแหนมล้วนเกิดจากภูมปัญญาของบรรพบุรุษ อย่างกระเทียมก็ใส่เพื่อช่วยดับกลิ่นคาว พริกขี้หนูช่วยเพิ่มรสชาติให้เผ็ดร้อน เกลือช่วยถนอมอาหารให้อยู่ได้นาน และข้าวเหนียวช่วยทำปฏิกิริยาให้เนื้อที่หมักเกิดรสเปรี้ยว โดยจะทิ้งไว้ราว 2-3 วัน รสเปรี้ยวก็จะเริ่มออก แหนมยิ่งหมักไว้นานก็ยิ่งมีรสเปรี้ยว หรือที่ชาวเหนือเรียกว่า "รสส้ม" นี่เองเป็นสาเหตุว่าทำไมชาวเหนือถึงเรียกแหนมว่า "จิ้นส้ม"

ไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก "แหนม" โดยเฉพาะแหนมที่เปรี้ยวจนได้ที่ดีแล้ว หรือที่ชาวเหนือพูดติดปากว่า แหนมสุกได้ที่ดีแล้ว และพร้อมจะรับประทานดิบๆได้ทันที เพียงแค่แกะแหนมออกจากห่อใบตอง ก็รับประทานแกล้มกับขิงอ่อน และพริกขี้หนูสดได้แล้ว หรือจะรับประทานสุกๆ ด้วยการเอาไปนึ่ง หรือเอาไปย่างก็ได้ หรือจะบี้ๆให้แหนมแตกตัวแล้วเอาผัดกับข้าวสวย 1 จาน ใส่ไข่ไก่ 1 ฟอง โรยหน้าด้วยต้นหอม-ผักชีหั่นฝอย ทำได้ง่ายๆไม่ยุ่งยากอะไร เพียงเท่านี้ก็จะได้ข้าวผัดแหนมใส่ไข่ รับประทานแกล้มกับแตงกวาลูกเล็กๆ สุดแสนจะอร่อยแล้วครับ

เครื่องปรุง "แหนม"

เนื้อหมูแดงครึ่งกิโลกรัม หนังหมูตรงส่วนหน้าท้องขนาดเท่าฝ่ามือ 2-3 ชิ้น กระเทียม 5 หัว เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ดินปะสิว 1 ช้อนโต๊ะ ข้าวเหนียวสุก 2 ทัพพีพูน พริกขี้หนูสด และอย่าลืมของที่สำคัญคือใบตองกล้วยและตอกไม้พอสมควรสำหรับห่อแหนมด้วย

วิธีปรุง "แหนม"

เอาหนังหมูตรงส่วนหน้าท้อง เพราะหนังจะบางนิ่มไม่แข็ง (ขูดมันที่ติดด้านหลังออกให้หมด) ขนาดเท่าฝ่ามือ 2-3 ชิ้น ใส่หม้อเติมน้ำพอท่วม ต้มจนหนังสุกเปื่อยดี แล้วหั่นเป็นชิ้นบางๆ เตรียมไว้

เนื้อหมูแดงครึ่งกิโลกรัม ล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆแล้วสับให้ละเอียด หรือจะใช้บดก็ได้ เตรียมไว้ (ใช้เนื้อแดงล้วนๆไม่มีมัน เส้นเอ็น พังผืด)

กระเทียม 5 หัว แกะเอาแต่เนื้อ เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ดินปะสิวทุบละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ ใส่ครกตำให้ละเอียดเข้ากันดี ตักใส่ชามใบใหญ่ เอาข้าวเหนียวสุก 2 ทัพพีพูน (ล้างน้ำแล้วใส่กระชอนทิ้งไว้จนสะเด็ดน้ำ) ใส่ลงไปคลุกเคล้าพร้อมกับหมูสับหรือบดที่เตรียมไว้ ใส่หนังหมูต้มที่หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ลงไปด้วย ใช้มือที่ล้างสะอาดดีแล้วขยำคลุกเคล้าจนเข้ากันดี อย่าลืมใส่รสดี 1 ช้อนโต๊ะลงไปด้วยล่ะ

เอาใบตองกล้วยฉีกเป็นแผ่นๆขนาดสองฝ่ามือ ย่างบนเตาไฟจนนิ่ม แล้วเช็ดให้สะอาด เอาหมูที่คลุกเคล้ากับเครื่องปรุงจนได้ที่ดีแล้วปั้นเป็นท่อนยาวๆพอเหมาะมือ วางบนใบตองที่ซ้อนกันหลายๆชั้น เสียบพริกขี้หนูสดเม็ดเล็กๆในก้อนหมูสัก 4-5 เม็ด จัดการห่อให้เรียบร้อย แล้วมัดด้วยไม้ตอกเหมือนมัดข้าวต้มมัดจนแน่น ทิ้งไว้ในตู้กับข้าวประมาณ 8-10 วัน ก็แกะห่อออกมารับประทานได้

แหนมที่เปรี้ยวหรือสุกได้ที่ดีแล้ว ส่วนมากจะนิยมแกะห่อรับประทานทันที แกล้มกับ ต้นหอม ผักชี ถั่วลิสง พริกขี้หนูสด และขิงอ่อนที่หั่นบางๆ

แต่ถ้าจะให้ดี เอาแหนมที่เปรี้ยวหรือสุกได้ที่ดีแล้ว หั่นเป็นแว่นๆบางๆ ลงทอดในน้ำมันที่ร้อนๆสักครู่ ก็จะอร่อยและปลอดภัยกว่าครับ


จิ๊นทอด
By: ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร

ในบรรดากับข้าวอร่อยๆที่เป็นเนื้อหมูล้วนๆ ไม่ว่าจะเอามา ต้ม ปิ้ง ย่าง หรือทอด นอกเหนือจาก "จิ๊นเก็ม" และ "จิ๊นปิ้ง" แล้ว "จิ๊นทอด" ก็จัดว่าอร่อยไปอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน เพราะเป็นกับข้าวที่ทำได้ง่ายๆ และเก็บไว้ในตู้เย็นได้หลายๆวัน อีกทั้งสะดวกที่จะเป็นอาหารจานด่วนสำหรับผู้ที่มีหน้าที่การงานรัดตัวแทบไม่มีเวลาจะรับประทานข้าว แค่หยุดพักสักประเดี๋ยวเดียว ได้ข้าวเหนียวร้อนๆหนึ่งปั้น และ "จิ๊นเก็ม" หรือ "จิ๊นปิ้ง" หรือ "จิ๊นทอด" อย่างใดอย่างหนึ่งเพียง 1 ชิ้นเท่านั้นเอง ก็อร่อยสุดๆ และอิ่มท้องไปหลายชั่วโมงเชียวแหละ

เครื่องปรุง "จิ๊นทอด"

เนื้อหมูสันนอก 1 กิโลกรัม น้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชสำหรับทอดมากพอสมควร กระเทียม 1 หัว และดินปะสิวทุบละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีปรุง "จิ๊นทอด"

เอาเนื้อหมูสันนอก 1 กิโลกรัม ล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้นๆให้หนาชิ้นละประมาณ 1.5 ซ.ม. ใส่กะละมังใบเล็กพักไว้ กระเทียม 1 หัว ดินปะสิวทุบละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นนิดหน่อย ใส่ครกตำให้ละเอียด แล้วตักใส่กะละมังหมู ใช้มือที่ล้างสะอาดคลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง

กระทะใส่น้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชกะให้พอท่วมหมู 1 ชิ้น ยกขึ้นตั้งไฟ พอร้อนจัดได้ที่จึงใส่หมูที่หมักไว้ลงทอดครั้งละ 1 ชิ้น ทอดไฟอ่อนปานกลางจนกระทั่งหมูสุกได้ที่จะเหลืองหอมน่ารับประทาน ตักใส่จาน พร้อมเสิร์ฟร้อนๆกับข้าวเหนียวร้อนๆ อะหรอย...อร่อย...ครับ


ยำจิ๊นแห้ง
By: ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร

"จิ๊นแห้ง" ของภาคเหนือ ก็คือ "เนื้อวัวหรือเนื้อควายเค็มตากแห้ง" ซึ่งมีวางขายในตลาดทั่วไป

เนื้อเค็มแบบที่ผมชอบทำนะครับ...เนื้อวัว 1 กิโล ใช้ส่วนเนื้อสัน ติดมันนิดหน่อย แล่เป็นแผ่นๆอย่าหนามาก หรือหั่นเป็นริ้วๆชิ้นยาวๆ น้ำปลา 2 ทัพพีเล็ก เกลือป่น 2 ช้อนชาไม่ต้องพูน น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ นำส่วนผสมทั้งหมด มาเคล้าเข้าด้วยกัน จนเนื้อดูดซึมเครื่องปรุงจนแห้งดีแล้ว นำไปแผ่บนตะแกรงลวด แล้วตากแดดตอนเที่ยงวันสัก 2 ช.ม. แล้วมากลับด้านอีกครั้ง ตากอีก 2 ช.ม. กรณีแดดดีๆใช้ได้เลย เก็บไว้นานวันในช่อง freeze ครับ

เครื่องปรุง "ยำจิ๊นแห้ง"

จิ๊นแห้งหรือเนื้อวัวหรือเนื้อควายเค็มตากแห้งตามใจชอบ พริกแห้ง 6-7 เม็ดหรือพริกขี้หนูแห้ง 1 กำมือ หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว ข่า 5 แว่น ตะไคร้ 2 ต้น กะปิดี 1 ช้อนโต๊ะ มะนาว ต้นหอม-ผักชี ผักไผ่ และใบสะระแหน่

วิธีปรุง "ยำจิ๊นแห้ง"

เอาพริกแห้ง 6-7 เม็ดหรือพริกขี้หนูแห้ง 1 กำมือก็ได้ เสียบไม้ปลายแหลมย่างบนเตาถ่านไฟรุมๆ (เวลาย่างยกไม้เสียบพริกขึ้นสูงๆ อย่าให้พริกไหม้จะขม) หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว และข่า 5 แว่น ย่างไฟให้สุก ลอกเปลือกดำๆทิ้ง ตะไคร้ 2 ต้น เผาไฟแล้วหั่นฝอย กะปิดี 1 ช้อนโต๊ะ ห่อใบตองปิ้งไฟจนสุก แล้วเอาเครื่องปรุงทั้งหมดใส่ครกตำให้ละเอียดเข้ากันดี ก็จะได้น้ำพริกสำหรับปรุง "ยำจิ๊นแห้ง" และ "ยำจิ๊นไก่" ตักใส่ถ้วยเตรียมไว้

เอาจิ๊นแห้งหรือเนื้อวัวหรือเนื้อควายเค็มตากแห้ง หั่นเป็นชิ้นเล็กๆพอดีคำ ใส่ในหม้อ เติมน้ำพอท่วม ยกตั้งไฟ ต้มเคี่ยวจนกระทั่งเนื้อเปื่อยดี ถ้าน้ำที่ต้มเค็มมากก็เททิ้งแล้วใส่น้ำต้มใหม่อีกครั้ง

เวลาจะรับประทาน ตักจิ๊นแห้งหรือเนื้อวัวหรือเนื้อควายเค็มทั้งน้ำทั้งเนื้อที่กำลังร้อนๆใส่ถ้วย ตักน้ำพริกสำหรับปรุงที่เตรียมไว้ผสมลงไป มากน้อยตามความต้องการ ปรุงรสด้วยรสดี และน้ำปลา หากชอบเปรี้ยวก็บีบมะนาวลงไป โรยหน้าด้วยต้นหอม-ผักชี-ผักไผ่-ใบสะระแหน่หั่นฝอย เป็นอันเสร็จ


ยำจิ๊นไก่
By: ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร

"ยำจิ๊นไก่" ใช้น้ำพริกปรุงของ "ยำจิ๊นแห้ง" ได้

เครื่องปรุง "ยำจิ๊นไก่"

ไก่บ้านครึ่งตัว ข่าอ่อน 1 แง่งใหญ่ ตะไคร้ 4-5 ต้น หัวปลี 1 หัว มะนาว ต้นหอม-ผักชี ผักไผ่ และใบสะระแหน่

สำหรับน้ำพริกปรุงใช้น้ำพริกปรุงของ "ยำจิ๊นแห้ง"

วิธีปรุง "ยำจิ๊นไก่"

เอาไก่บ้านครึ่งตัวล้างน้ำให้สะอาด แล้วตัดเป็นท่อนใหญ่ๆพอสมควร ใส่หม้อเติมน้ำพอท่วม ข่าอ่อนหั่นเป็นแว่นๆ 1 แง่งใหญ่ ตะไคร้ 4-5 ต้น ตัดเป็นสามท่อน ทุบพอบุบ ใส่ลงไปด้วย ยกขึ้นตั้งไฟ ต้มเคี่ยวจนเนื้อไก่สุกจึงใส่หัวปลี 1 หัวหั่นฝอยลงไป พอเดือดอีกครั้งจึงตักเนื้อไก่ทั้งหมดใส่ถ้วยแล้วฉีกเป็นเส้นๆใส่กลับลงไปในหม้อตามเดิม ต้มต่อไปจนเดือดอีกครั้งจึงยกลง

เวลาจะรับประทาน ตักไก่ในหม้อทั้งน้ำทั้งเนื้อที่กำลังร้อนๆใส่ถ้วย ตักน้ำพริกสำหรับปรุงของ "ยำจิ๊นแห้ง" ผสมลงไป มากน้อยตามความต้องการ ปรุงรสด้วยรสดี และน้ำปลา หากชอบเปรี้ยวก็บีบมะนาวลงไป โรยหน้าด้วย ต้นหอม-ผักชี-ผักไผ่-ใบสะระแหน่หั่นฝอย รับประทานได้เลย


คั่วตับหมูเครื่องในหมู
By: ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร

การปรุงอาหารของชาวภาคเหนือมีหลายวิธีเหมือนๆกับชาวภาคอื่นๆเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการ ต้ม ตำ ยำ แกง นึ่ง ปิ้ง ย่าง คั่ว ผัด สำหรับวิธี "คั่ว" ของชาวภาคเหนือก็คือ "ผัด" แบบทั่วๆไปนั่นเอง แค่ใช้น้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชเพียงเล็กน้อยใส่กระทะตั้งไฟให้ร้อน แล้วใส่สิ่งที่ต้องการจะคั่วหรือผัดนั้นลงไปคั่วหรือผัด แต่ก็ยังมีวิธี "คั่ว" อีกอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องใช้น้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชเพียงใส่น้ำลงไปเล็กน้อย พอน้ำเดือดจึงใส่สิ่งที่ต้องการคั่วนั้นลงไป เช่น คั่วลาบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวิธี "คั่วแบบแห้ง" ซึ่งไม่ต้องใส่น้ำหรือน้ำมันหมูหรือน้ำมันพืช เช่น คั่วเม็ดมะขาม คั่วงา คั่วเม็ดทานตะวัน คั่วข้าว คั่วเม็ดฟักทอง เป็นต้น

เครื่องปรุง "คั่วตับหมูเครื่องในหมู"

เครื่องในหมู 1 กิโลกรัม พริกแห้ง 6-7 เม็ดหรือพริกขี้หนูแห้ง 1 กำมือ หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว ตะไคร้ 2 ต้น ข่า 5 แว่น กะปิดี 1 ช้อนโต๊ะ น้ำมันหมูหรือน้ำมันพืช 2-3 ช้อนโต๊ะ และใบมะกรูด

วิธีปรุง "คั่วตับหมูเครื่องในหมู"

เครื่องในหมู 1 กิโลกรัม เช่น ไส้อ่อน ตับ หัวใจ ม้าม ล้างให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ถ้วยเตรียมไว้

พริกแห้ง 6-7 เม็ดหรือพริกขี้หนูแห้ง 1 กำมือก็ได้ (แช่น้ำจนนิ่ม บีบให้แห้ง) หัวหอม 5 หัว กระเทียม 2 หัว ตะไคร้ 2 ต้นหั่นฝอย ข่า 5 แว่น กะปิดี 1 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นนิดหน่อย ใส่ครกตำให้ละเอียดเข้ากันดี

กระทะใส่น้ำมันหมู หรือน้ำมันพืช 2-3 ช้อนโต๊ะ ยกขึ้นตั้งไฟ พอร้อนได้ที่ ตักน้ำพริกในครกลงไปคั่วหรือผัดจนน้ำพริกมีกลิ่นหอม ใส่เครื่องในหมูที่หั่นใส่ถ้วยเตรียมไว้ลงไปคั่วหรือผัดเข้าด้วยกัน เติมน้ำล้างครกลงไปด้วยครั้งละ 1-2 ทัพพี ผัดไปคั่วไปเคี่ยวไปจนน้ำแห้งจะมีน้ำมันออกมาแทน

ปรุงรสด้วยรสดี และน้ำปลา เสร็จแล้วตักใส่ถ้วยโรยหน้าด้วยใบมะกรูดหั่นฝอย กลิ่นหอมหวนจนน้ำลายสอเชียวแหละ รับประทานกับข้าวเหนียวร้อนๆ ปั้นจิ้ม...ปั้นจิ้ม...อะหรอย...อร่อยครับ


เจียวผักปั๋ง
By: ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร

"เจียว" ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงกรรมวิธีการ "เจียวไข่" แบบทั่วๆไป ซึ่งชาวภาคเหนือเรียก "เจียวไข่" ว่า "ทอดไข่" หรือ "คั่วไข่" แต่ "เจียว" ในที่นี้หมายความถึงการต้มแกงอาหารอย่างหนึ่งซึ่งคล้ายๆกับแกงจืด จะต้องเอาน้ำใส่หม้อแกงตั้งไฟให้เดือดก่อน แล้วจึงใส่เครื่องปรุงต่างๆลงไป

"ผักปั๋ง" หรือ "ผักปลัง" เป็นไม้เลื้อยที่มีเถายาวหลายเมตร ลำต้นอวบน้ำ ไม่มีขน แตกกิ่งก้านสาขาได้มาก ใบเป็นมันเกลี้ยง เมื่อขยี้จะเป็นเมือกเหนียว "ผักปั๋งขาว" ลำต้นสีเขียว ส่วน "ผักปั๋งแดง" ลำต้นสีม่วงแดง ซึ่งผักปั๋งทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นที่นิยมนำมารับประทาน

"ต้น ใบ ดอก ราก และ ผล" ของผักปั๋งใช้เป็นยาได้ "ต้น" แก้ขัดเบา แก้ท้องผูก ลดไข้ "ใบ" แก้อักเสบ กลาก ผื่นคัน ฝี และขับปัสสาวะ "ดอก" แก้เกลื้อน "ราก" แก้มือเท้าด่าง แก้รังแค แก้พิษพรรดึก "ผล" สีม่วงใช้แต่งสีอาหารได้

เครื่องปรุง "เจียวผักปั๋ง"

ผักปั๋งหรือผักปลัง หรือผักตำลึงก็ได้ตามใจชอบ 1 ถ้วยใหญ่ พริกหนุ่ม 4-5 เม็ด หัวหอม 5 หัว กะปิดี 1 ช้อนโต๊ะ แหนม 1 ห่อ และมะนาว 1-2 ลูก

วิธีปรุง "เจียวผักปั๋ง"

ผักปั๋งหรือผักปลัง หรือผักตำลึงก็ได้ เด็ดเอาแต่ยอดอ่อนๆ ล้างน้ำให้สะอาด เตรียมไว้

พริกหนุ่ม 4-5 เม็ด หัวหอม 5 หัว กะปิดี 1 ช้อนโต๊ะ ใส่ครกตำให้ละเอียด

เอาหม้อแกงใส่น้ำพอสมควรยกตั้งไฟจนเดือด ตักน้ำพริกในครกลงไปละลาย พอเดือดบี้แหนม 1 ห่อลงไป สักครู่จึงใส่ผักที่เด็ดเตรียมไว้ลงไป คนให้ทั่ว ปรุงรสด้วยรสดี เกลือป่น ก่อนยกลงจากเตา บีบมะนาวใส่ลงไปให้น้ำแกงออกรสเปรี้ยวนิดๆ รับประทานร้อนๆ เรียกเหงื่อได้ดี


สันดานนักการเมือง "เอาดีเข้าตัว ชั่วให้คนอื่น"
เรื่องสั้น ฉ. ๒๖๖๖ "คนของแผ่นดิน" โดย'มายาวี' sakulthai.com

เสียงปรบมือโห่ร้องดังเกรียวกราวไปทั่วบริเวณ นักการเมืองวัยกลางคนผู้มีแฟนๆนิยมชมชอบมากมายก้าวขึ้นมาบนเวที แล้วยกมือไหว้ประชาชน ที่มานั่งฟังการปราศรัยอย่างงดงามราวกับเคยเป็นนักมวยมาก่อน สายตาที่กวาดมองประชาชนเบื้องล่างออกแววปลาบปลื้ม ยังมีคนมาฟังเขาปราศรัยมากมายอย่างเคย

นักการเมืองคนเก่งเดินมาที่ไมโครโฟน แล้วกล่าวทักทายคนที่นั่งฟังอยู่เบื้องล่าง

"สวัสดีครับ พี่น้องทุกคน" เขานับพี่นับน้องกับประชาชนเข้าให้แล้ว"วันนี้ผมมีโอกาสดีที่ได้มาพบกันท่าน ก็จะได้มาเยี่ยมเยียนดูแลทุกข์สุขของพี่น้องกันอย่างที่เคยทำมาเป็นประจำ" เขาพูดไปทั้งที่นึกไม่ออกด้วยซ้ำไปว่า เขามาเดินหาเสียงแถวนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

"พี่น้องทั้งหลาย นอกจากจะมาเยี่ยมเยียนพี่น้องแล้ว ผมก็จะได้กราบเรียนให้ท่านได้ทราบว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมได้ทำงานช่วยเหลือพี่น้องได้สมกับที่พี่น้องให้ความไว้วางใจกับผมมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ก็จะได้กราบเรียนให้ได้ทราบว่า รัฐบาลได้ทำอะไรลงไปบ้างเพื่อช่วยให้พี่น้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจะได้กราบเรียนในสิ่งที่เป็นความจริงให้ท่านได้ทราบว่า สมาชิกพรรคฝ่ายค้านได้ทำอะไรบ้าง เพื่อขัดขวางโครงการดีๆ และเป็นประโยชน์ของรัฐบาล ซึ่งถ้าโครงการเหล่านี้เป็นผลสำเร็จ ก็จะช่วยให้พี่น้องมีชีวิตที่ดีขึ้น ผมจะได้กราบเรียนให้ทราบว่า ฝ่ายค้านได้ทำอย่างไรบ้างกับโครงการเหล่านี้"

ประชาชนที่นั่งฟังอยู่ต่างปรบมือโห่ร้องกันอื้ออึง ใจจดใจจ่อกับคำปราศรัยของเขา ไม่ว่าเขาจะไปปราศรัยที่ไหนก็จะมีคนแห่ไปฟังกันมากมาย จัดเป็นนักการเมืองฝีปากกล้าคนหนึ่ง

ด้านข้างเวทีไกลออกไปหน่อยยังมีคนยืนฟังการปราศรัยอยู่อีกเป็นจำนวนมาก คนส่วนใหญ่จะยืนฟังอยู่กับที่ จะขยับเดินไปไหนมาไหนบ้างก็จะไม่พ้นรถเข็นขายน้ำ ขายผลไม้ ที่จอดขายอยู่หลายเจ้า แต่มีชายคนหนึ่งสวมเสื้อยืดสีขาว นุ่งกางเกงยีนส์สีเข้ม เดินเกร่ไปมาเหมือนอยู่ไม่สุข สายตาจับจ้องไปที่นักการเมืองคนเก่งซึ่งกำลังกล่าวคำปราศรัยอยู่บนเวที แล้วเหลือบมองคนที่นั่งฟังการปราศรัยอยู่บ่อยๆ ท่าทางบอกพิรุธเต็มที

ท่าทางแปลกๆ ของนายเสื้อขาวคนนี้ไม่ได้รอดพ้นไปจากสายตาของ ร.ต.อ.เทพทอง นายตำรวจหนุ่มผู้รับหน้าที่ดูแลความปลอดภัย และความเรียบร้อยในการปราศรัยครั้งนี้ เขาจับตามองไอ้บ้านี่มานานแล้ว ลักษณะอย่างไอ้หมอนี่น่าสงสัยว่ามันคงจะก่อเรื่องแน่ นายตำรวจหนุ่มหันไปพยักหน้ากับจ่าชื้น เป็นความหมายว่าให้ไปประกบไอ้หมอนี่เอาไว้

จ่าชื้นพยักหน้ารับคำสั่ง แล้วเดินลัดเลาะแทรกตัวผ่านกลุ่มคนที่ยืนฟังปราศรัยอยู่ตรงไปหาไอ้หนุ่มเสื้อขาว แต่ก่อนที่จ่าชื้นจะเข้าถึงตัว ไอ้เสื้อขาวก็เผ่นออกไปที่กลุ่มคนที่นั่งอยู่แล้วมันก็แหกปากตะโกนเสียงดังลั่น

"หนีเร็วโว้ย มีคนวางระเบิดเอาไว้"

ราวกับได้ยินวาจาสิทธิ์ กลุ่มคนที่นั่งฟังยืนฟังอยู่ต่างเผ่นกันกระเจิดกระเจิง ดูสับสนอลหม่านวุ่นวายไปหมด ไอ้เสื้อขาวถือโอกาสที่ประชาชนวิ่งหนีกันวุ่นวาย ล้วงเอาวัตถุสิ่งหนึ่งออกมาจากเอว แล้วเขวี้ยงขึ้นไปบนเวที

คนที่เห็นเหตุการณ์นี้ ต่างกรีดร้องวี้ดว้ายสร้างความตื่นตระหนกแก่กลุ่มคนให้มากขึ้นไปอีก นักการเมืองคนเก่ง ซึ่งยังยืนดูเหตุการณ์อยู่บนเวทีหันไปมองวัตถุที่กลิ้งขลุกๆอยู่ใกล้ตัว พอเห็นว่าวัตถุนั้นคืออะไรก็รีบโจนลงจากเวทีแข้งขาแทบหัก

กว่าตำรวจจะฝ่าฝูงชนเข้าไปที่เวทีได้ก็ทุลักทุเลเต็มที เวลาผ่านไปครู่ใหญ่ เมื่อไม่มีเสียงระเบิดตูมตามให้ได้ยิน คนที่แตกตื่นกันไปก็กลับมายืนดูเหตุการณ์ พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างตื่นเต้น

มือระเบิดหายไปแล้ว...

ร.ต.อ.เทพทองสั่งลูกน้องให้ไปตามจับไอ้เสื้อขาว ตัวเขาเองขึ้นไปบนเวที ตรงเข้าไปพินิจพิจารณาระเบิดมือที่นอนนิ่งอยู่บนเวที แล้วก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นระเบิดปลอมทำจากพลาสติก นายตำรวจหนุ่มหยิบถุงมือจากกระเป๋ากางเกงออกมาสวม แล้วหยิบเอาระเบิดมือลงจากเวที ตรงไปที่นักการเมืองปากกล้าซึ่งกำลังแวดล้อมอยู่ด้วยบริวาร

"เป็นยังไงบ้างครับ" เขากล่าวถามนักการเมืองยิ้มๆ

"ไม่เป็นไรหรอกครับ" นักการเมืองตอบ สีหน้ายังตระหนกอยู่ "นั่นระเบิดจริงหรือเปล่าครับ"

"ระเบิดปลอมครับ" นายร้อยตำรวจตอบอย่างนอบน้อม "ทำจากพลาสติกน่ะครับ"

นักการเมืองยกมือขึ้นลูบอก แล้วกวาดสายตาดูประชาชนที่ยืนจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่

"แล้วไอ้คนเขวี้ยงมันไปไหนแล้วล่ะ" หันมาถามนายตำรวจ

"คงจะเผ่นไปแล้วครับ แต่ผมให้ลูกน้องตามจับแล้ว เอ้อ...ผมขอเชิญท่านไปที่สถานีด้วยครับ จะได้ลงบันทึกประจำวันเอาไว้"

นักการเมืองพยักหน้า

"ได้สิคุณ แต่ผมคงต้องขอปราศรัยต่ออีกสักนิด คนยังอยู่กันอีกมาก เขาอยากจะฟังผมพูดกันทั้งนั้น ถ้าเลิกเสียตอนนี้ก็จะเสียความตั้งใจ นี่ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงแล้วไม่ใช่หรือ"

"ครับ เดี๋ยวผมจะให้ลูกน้องเคลียร์สถานที่ให้"

แล้ว ร.ต.อ.เทพทองก็เดินไปสั่งการกับลูกน้องของเขา ให้เอาระเบิดปลอมไปเก็บไว้เป็นพยานหลักฐาน เคลียร์สถานที่โดยรอบ และขอกำลังตำรวจเพิ่มเติมเพื่อรักษาความปลอดภัย


เวลาผ่านไปราวครึ่งชั่วโมง เรื่องทุกอย่างจึงเรียบร้อยลงได้ นักการเมืองคนเก่งขึ้นไปปราศรัยบนเวทีอีกครั้งหนึ่ง

"พี่น้องครับ เห็นไหมครับว่าเขาทำยังไงกับผม" นักการเมืองกล่าวด้วยสีหน้าเคร่งเครียด "ผมเองไม่เคยเป็นศัตรูกับใคร ไม่เคยใช้วิธีสกปรกกับใคร แต่ก็ยังถูกเขาเล่นงานด้วยวิธีนี้" แววตาของเขาบ่งบอกถึงความปวดร้าวเมื่อต้องพูดเรื่องนี้

"เขาไม่ได้นึกว่าผมทำประโยชน์อะไรให้กับประเทศชาติบ้าง เขาไม่ได้นึกว่าผมทำประโยชน์อะไรให้กับพี่น้องบ้าง เขานึกแต่ว่าผมไปขัดขวางผลประโยชน์ทุจริตของเขา เขาจึงใช้วิธีนี้กับผม"

ประชาชนนั่งฟังเขาอย่างตั้งใจ ต่างก็นึกเห็นใจเขาที่ถูกคู่แข่งใช้วิธีสกปรก เคราะห์ดีที่เขาไม่เป็นอะไร ไม่อย่างนั้นประเทศชาติก็จะต้องสูญเสียนักการเมืองที่ดีไป

"ถ้าการกระทำของเขาเป็นผล" นักการเมืองกล่าวปราศรัยต่อไป "แล้วผมตายไปจริงๆ ใครล่ะครับที่จะมาดูแลทุกข์สุขของพี่น้อง ใครล่ะครับที่จะมาอุทิศตัวรับใช้พี่น้องโดยไม่หวังผลตอบแทน"

พวกหน้าม้าที่นั่งอยู่หน้าเวทีปรบมือกันกราว ทำให้คนที่มานั่งฟังพลอยปรบมือไปด้วย เสียงปรบมือจึงดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ คล้ายกับว่าประชาชนชื่นชอบเขาเอามากมาย

นักการเมืองคนเก่งปราศรัยต่อไปอีกเกือบชั่วโมง แล้วจึงกล่าวอำลากับประชาชนโดยบอกว่าต้องไปให้ปากคำกับตำรวจ ทั้งที่จริงๆแล้วเขายังอยากพูดคุยกับประชาชนต่อไปอีก แต่ก็มามีเหตุให้ต้องไปโรงพักเสียก่อน ส่วนพวกที่คิดร้ายกับเขานั้นเขาบอกว่าอโหสิให้ เขาไม่คิดพยาบาทอาฆาตแค้น เขาเชื่อในบาปบุญคุณโทษ ใครทำอะไรไว้ก็ต้องรับผลกรรมของตน แล้วนักการเมืองก็ลงจากเวทีไปพร้อมกับเสียงปรบมือที่ดังกึกก้อง

นักการเมืองไปให้ปากคำและลงบันทึกประจำวันที่โรงพัก ก่อนจะกลับเขายังย้ำกับตำรวจว่าขอให้จับคนร้าย และคนบงการให้ได้โดยเร็ว ไม่ใช่เพื่อตัวเขาเอง แต่เพื่อนักการเมืองทุกคน และเพื่อทำให้การเมืองสะอาดและดีขึ้น เสร็จจากเรื่องตำรวจแล้วนักการเมืองคนเก่งจึงให้สัมภาษณ์กับนักข่าว ทั้งข่าวโทรทัศน์ และข่าวหนังสือพิมพ์ แน่นอนว่าเรื่องนี้จะต้องเป็นข่าวใหญ่ในวันพรุ่งนี้

ออกจากสถานีตำรวจมา ลูกน้องของนักการเมืองก็ขับรถพาเขากลับที่ทำการพรรค ตลอดทางที่รถแล่นมาเขานั่งหลับตานิ่งมาตลอด รู้สึกเหน็ดเหนื่อย และอ่อนเพลียเต็มทีกับวันที่แสนวุ่นวาย

เมื่อมาถึงที่ทำการพรรค นักการเมืองผู้อุทิศตัวเพื่อประชาชนก็ลงจากรถแล้วเดินตรงไปยังห้องทำงานของเขา โดยไม่พูดจาทักทายกับใครทั้งสิ้น เหล่าบริวารเดินติดตามอย่างใกล้ชิด

เปิดประตูห้องเข้าไปก็พบว่ามีคนมานั่งรออยู่แล้ว นักการเมืองกล่าวทักทายอย่างกันเอง

"มาแล้วรึมึง ตะกี้มึงเขวี้ยงเกือบโดนกบาลกูเชียวนะ คราวหลังเขวี้ยงให้มันห่างตัวหน่อยสิ...ไอ้เวร"

เหอ...เหอ...