"คู่มือ...ทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์" (ฉบับรีไซเคิ้ล) เล่มนี้ ผมขออนุญาตเรียกอย่างนี้ เพราะกระดากที่จะเรียกว่า "ตำรา" ผมเขียนขึ้นจากประสบการณ์ในการทำกับข้าวด้วยตนเองเกือบจะทุกวัน ตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่จนเกือบจะลาจากโลกใบนี้ไปแล้ว ส่วนหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นส่วนมากที่สุดมาจากความทรงจำในอดีต ที่ได้อาสาเป็นลูกมือช่วยผู้ใหญ่ทำกับข้าวอยู่เสมอ... และทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ผมได้ตรวจสอบชำระข้อความบางท่อนบางตอนที่เป็นส่วนสาระสำคัญกับหนังสือ "ตำราทำกับข้าวเมืองเหนือ" เขียนโดย คุณสงวน โชติสุขรัตน์ ซึ่งเป็นบรมครูทางการหนังสือพิมพ์ขั้นปฐมของผม แล้วนำมาคลุกเคล้าผสมผสานเรียบเรียงเขียนขึ้นมาใหม่ในเชิง "เล่าสู่กันฟัง" ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่คนรุ่นใหม่ จะได้นำเอาไปเป็น "คู่มือ" อนุรักษ์การทำกับข้าวของเมืองเหนือ ให้คงอยู่ถึงคนรุ่นต่อๆไป โดยคำนึงถึงวิธีการการทำกับข้าวเพื่อให้ทำกันได้อย่างง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร
"โปรดสังเกต.. ที่ช่อง url ด้านบนซ้าย ถ้าเป็น https กรุณาเปลี่ยนเป็น http แล้วกด enter เข้ามาใหม่ครับ"
@ คลิกที่นี่ ดูบนyoutube... @ ภาพรับปริญญามีต่อที่นี่... @ และที่นี่อีกจ้า... @ บัณฑิตรามฯรุ่น38(2555) ทุกคณะและทุกคน โหลดคลิปที่นี่...

วันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

"ก่อนชีวิตจะจางหาย ภายใต้ฟ้ากว้าง" (3) By: Chote Vanhakij

"ขออนุญาตคุณ Chote Vanhakij ขอนำบทความของท่านมาโพสต์ที่นี่นะครับ" ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร

UpDate..
ตอนที่ 21 "ประสาพราน" ถึง ตอนที่ 30 "กะระณียะเมตตสูตร"

"ก่อนชีวิตจะจางหาย ภายใต้ฟ้ากว้าง"
By: Chote Vanhakij

@ คลิกที่นี่.. ตอนที่ 1 "ถวิลหาอดีต..." ถึง ตอนที่ 11 "ล่าเก้ง"
@ คลิกที่นี่.. ตอนที่ 12 "ผีโพง" "ผีเป้า" ถึง ตอนที่ 20 "คาถากันผีน้ำ"
@ คลิกที่นี่.. ตอนที่ 31 "ป" ถึง ตอนปัจจุบัน


ตอนที่ 21 "เรื่องประหลาด" "ประสาพราน"

"ประสาพราน"

พอดีมีเรื่องไม่สบายใจเกี่ยวกับความผูกพันในเพื่อนเฟสเลยขอเอาเรื่องเบา ๆ มาคั่นสักวันครับ จะหยุดเขียนก็จะว่างไปมีกฎข้อห้ามของพรานล่าสัตว์มาให้อ่าน.

กฎข้อห้ามของพรานล่าสัตว์ที่มีมาแต่โบราณ เรื่องพวกนี้แม้ในสมัยปัจจุบัน ป่าแทบจะไม่เหลือแล้ว แต่ถ้าได้อ่านแล้ว ก็ควรจะจดจำรำลึกไว้ครับ...อย่าถึงกับละเลย.

เช่น........................

1. ไม่ยิงสัตว์ที่กำลังท้อง หรือมีลูกอ่อน ๆ จะรู้ว่าสัตว์นั้นมีท้อง หรือมีลูกอ่อน ต้องหัดสังเกตเองครับ เช่นเห็นนกที่ปากคาบแมลง, หนอน หรือไส้เดือนไว้ตลอดไม่ยอมกลืนกิน ก็คิดได้เลยครับ มันกำลังหาอาหารไปป้อนลูกอ่อนของมัน

2. ยิงสัตว์ถ้ามีโอกาสต้องยิงให้ตาย...เพราะถ้าปล่อยไปจะเป็นอันตรายกับพราน หรือชาวบ้านป่าคนอื่น.

3. ไม่พูดจาหยาบคาย ขณะอยู่ในป่าหรือออกล่าสัตว์.

4. นั่งห้างกลางคืน ปวดขี้ปวดเยี่ยวก็ห้ามลงจากห้าง(พรานโบราณตัดกระบอกไม้ไผ่ขึ้นไปบนห้างไว้ฉี่) มีคนมาเรียกหรือตามกลับบ้านก็ห้ามลง จนกว่าจะรุ่งเช้า (พรานโบราณ มักบอกว่าเป็นเสือสมิง, ผีป่า, ผีโป่ง ถ้าเป็นเสือสมิงจำแลงมา ให้โยนไม้ขีดไฟ หรือไฟแช็ค ให้จุด ซึ่งเสือไม่มีมือ จะจุดไฟไม่ได้ ถ้าจุดไฟให้ดูได้ ค่อยลงจากห้าง แต่ถ้าไม่ใช่ พรานโบราณบอกยิงหัวได้เลย)

แต่พูดแล้วก็ยาวครับ...ต่อให้เป็นชาวป่า เมียพราน หรือพรานเดินป่าคนอื่น ไปตามหาพรานที่นั่งห้างกลางป่า ก็ผิดปกติอยู่

5. ไม่ยิงสัตว์มั่ว ประเภทคะนองปืน เจอตัวอะไรก็ยิงดะไป.

6. ไม่เผาป่าเพื่อให้หญ้าอ่อนเกิดใหม่ และมารอยิงเก้ง กวาง หรือกระต่าย ที่จะมากินหญ้าระบัด หรือออกมาเล่นลานหญ้า.

7. ห้ามทำปืนผูก เพราะเป็นอันตรายกับชาวป่า หรือพรานคนอื่น ๆ อย่างนี้ก็ตายกันมาเยอะแล้วครับ.

8. ไม่มั่นใจว่าเป้านั้น เป็นคนหรือสัตว์อย่ายิง อย่างนี้พรานชาวกรุงที่ส่องสัตว์ หรือแม้แต่พรานชาวบ้านด้วยกัน ก็ยิงกันตายมาเยอะแล้ว เพราะบางทีอาจเป็นชาวบ้าน หรือพรานด้วยกันมานั่งถ่ายทุกข์หัวผลุบ ๆ โผล่ ๆ มองไม่ดีกลายเป็นสัตว์ไป โป้งเข้าให้...จอดเลย...!

9. ไม่ทิ้งขยะหรือของเหลือใช้ไว้ในป่า จำเป็นก็ต้องกลบฝัง เพราะสัตว์ป่ากระสากลิ่นเร็ว...อาจเตลิดหนี

หรือห้ามถ่มน้ำลายในป่าเปะปะไปทั่ว เหตุผลคงเพราะกลัวสัตว์กระสากลิ่น.

10. ถ้าจะล่าสัตว์ มีการขอ หรือบนจากเจ้าป่าก็ควรจะเซ่นไหว้ทุกครั้ง ด้วยข้าว หมาก พลู บุหรี่ หรือบางคนถึงขนาดเตรียมเหล้าขาวไปจากบ้านก็มี เพื่อใช้บนเจ้าป่า และอยากยิง อยากได้อะไรก็บอกกล่าวท่านไป ขอแล้วต้องยิงสัตว์ที่ขอเท่านั้น ห้ามยิงสัตว์อื่น เช่น ขอกวาง แต่ไปยิงกระทิงแบบนี้ก็ไม่ได้ เพราะจะผิดอาถรรพ์ป่า จนพรานเองจะอยู่ไม่ได้ บางทีเกิดพายุใหญ่ในป่า ฝนตกหนัก จนพรานป่วยไข้ตาย หรือยิงสัตว์ไม่ตาย ต้องตามซ้ำ จนตัวเองโดนเสือกัดตาย เพราะไปทำผิดกฎป่า

11. ห้ามทำห้างบนต้นไทร หรือบนต้นไม้ที่มีรากโผล่ขึ้นมาบนดิน(เชื่อกันว่ามีผีเจ้าที่ หรืออย่างอื่นสิงอยู่...แต่ผมมองว่าต้นไทรมันรก น่าจะมีงูใหญ่อาศัยอยู่แล้วเป็นอันตรายกับพรานมากกว่า พรานโบราณถึงห้าม)

12. ห้ามทำลูกห้างเกินจำนวน ไม่แน่ว่าเท่าไหร่? แต่คิดว่าไม่เกินสิบ เพราะต้องไปตัดไม้มาจากที่ไกล ๆ คงลำบากกับพรานที่ทำห้างมากกว่า.

อ้าว...! ทำไมต้องไปตัดจากที่ไกล ๆ ที่จะนั่งห้างละครับ?.

ก็อย่างที่บอกครับ สัตว์ป่ากระสากลิ่นเร็ว ต่อให้นั่งเฝ้าโป่ง ไปตัดไม้รอบโป่งมาทำลูกห้าง พรานก็นั่งไปเถอะครับ สามวันก็ไม่มีสัตว์เข้ามาให้ยิง

13. ห้ามนั่งหลับบนห้าง เพราะเขาเล่าว่าพรานเก่า ๆ โดนงูเหลือม งูหลามเอาไปกินเยอะแล้ว เช้าแล้ว เพื่อนพรานมาตะโกนเรียกก็ไม่เห็น ปีนขึ้นไปบนห้าง ก็เห็นแค่ปืนแก๊ป และเครื่องใช้ส่วนตัวเหลืออยู่

(ข้อนี้ ส่วนตัวผมคิดว่าเกินไป เพราะงูใหญ่พวกนี้ กินสัตว์ใดแล้ว มักจะนอนอยู่ในที่ใกล้ ๆ ไปไหนไกลไม่ได้ ถ้ามีอะไรมาแตะต้องตัว มันจะรีบสำรอกเหยื่อออกทันที พอหายเหนื่อย แล้วจะเลื้อยหนี).

มีเรื่องเล่าแทรกว่า พรานเก่าแก่ชาวกะเหรี่ยงบางคนจะใช้เชือกกล้วยมาทำเข็มขัดผูกเอว และทำสร้อยคอเวลาเข้าป่านั่งห้าง (เชื่อว่างูเหลือม-งูหลามแพ้เชือกกล้วย ผู้เล่า เล่าว่า งูรัดพรานตายแล้ว แต่กลืนเข้าไปได้แค่ครึ่งตัว เพราะติดเชือกกล้วยที่ทำเป็นเข็มขัดที่เอว เลยขยอกน้ำย่อยออกมาย่อย จนเมื่อมีคนไปพบศพ ก็เหม็นคละคลุ้งไปทั้งป่า).

14. กลางคืน ห้ามทำบังไพรตรงโป่ง ให้นั่งห้างอย่างเดียว จะปลอดภัย เพราะมักจะมีผีโป่งเป็นลูกไฟ ลอยไป ลอยมาให้เห็นเสมอ และมักจะกรีดร้องเสียงแหลมเล็กเหมือนเด็กและผู้หญิง (เข้าใจว่า คงจะไม่ปลอดภัยจากเสือมากกว่า เพราะตรงโป่งมีสัตว์เยอะ เสือคงจะเข้ามาด้อมบ่อย เผลอ ๆ พรานกำลังจ้องแต่สัตว์ข้างหน้า เสือโคร่งก็เล่นพรานซะเอง).

15. ห้ามตั้งแคมป์ใกล้แหล่งน้ำ ถ้าในป่านั้น มีแหล่งน้ำแหล่งเดียว เขาว่ากลัวช้างป่ามาทำลายแคมป์.

16. #กินน้ำจากป่าต้องต้มทุกครั้ง อันนี้สำคัญครับ ต้องทำทุกครั้งถ้ามีโอกาส เพราะมีเชื้อไข้ป่า และตายกันมานักต่อนัก.

17. วันพระไม่ออกล่า คงเพราะคิดว่า ไม่น่าจะได้สัตว์

18. ไม่ฆ่างูจงอาง เพราะกลัวคู่ของมันจะมาทำร้าย.

19. ไม่นำลูกของสัตว์ป่ามาขาย...ไม่ยิงหรือทำร้ายสัตว์มีลูกอ่อน ตามที่กล่าวแล้ว.

20. ส่วนข้อสุดท้าย บอกไว้สำหรับคนปัจจุบัน ห้ามมีเพศสัมพันธ์ในป่า.

#เรื่องเล่าแทรก...หลายปีมาแล้วครับ ขณะนั้นหลังปีใหม่มีโอกาสไปหาปลากับญาติข้างเมีย ลูกชาย และเพื่อนของลูกที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ค่อนมาทางทุ่งทะเลทราย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ห้า หกคน มีด่าง(อวนล้อม...ภาษาถิ่น แหครบคน)...พอดีไปถึงโน่น มีกลุ่มคนหาปลาซึ่งเป็นคนงานจากทางอีสาน มารับจ้างตัดอ้อย ว่างจากตัดอ้อย ก็มาหาปลา ไม่ได้นัดแนะแต่ก็รู้จักกัน เลยรวมเป็นกลุ่มใหญ่ กั้นด่างหัวคลอง ท้ายคลอง เตรียมหาปลา.

ตอนที่รื้อหญ้า ก็แปลก ๆ ว่าลุงเขย แกไม่รื้อหญ้าที่หัวคลอง แต่ขึ้นจากหัวคลองมารื้อหญ้าที่ใกล้ ๆ ผม(แกจับงูขายมาก่อน)รื้อหญ้าเสร็จ ก็ลงทอดแหกันสักพัก.

ก็ได้ยินเสียงล้งเล้ง ๆ ทางหัวคลอง ว่าเจอปลาชะโดใหญ่ เรียกแหมาหลายปาก ช่วยกันทอดแหซ้อนกันหลาย ๆชั้น กันปลาแหกออก

ปล้ำกันอยู่ 10 นาทีได้ ปลาก็ยังแหกออกได้ทุกครั้ง ผมเองก็แปลกใจ เลยบอกพวกคนงานหยุดทอดแห รอปลาผลุบน้ำ แล้วผมจะทอดแหเอง.

สักพักก็โผล่ละครับ หัวเท่ากำปั้น...งูเหลือมครับ...!!!

แต่ต้องจับงูขึ้นจากน้ำ เพราะไม่อย่างนั้น จะไม่มีใครลงน้ำหาปลาอีกเพราะขยาด.
ผมก็บอกพวกคนงานตัดอ้อยว่า เดี่ยวจัดการให้...ขอแหปากใหญ่ ๆ สิบสองศอก จากแรงงานตัดอ้อย กะว่าไม่พลาด ก็โยนตูม ครอบงูเหลือมตรงกลางพอดี.

พอแหจมเสร็จแล้ว ก็ค่อย ๆ เดินลงน้ำ ค่อยตะล่อมรวบตีนแห ไล่ต้อนงู ไปอยู่ตรงกลางแห ขอแรง แรงงานตัดอ้อยคนเฒ่าที่ไม่ค่อยกลัวงูให้ดึงจอมแหพ้นน้ำ ไม่ให้โดนตัวงู กลัวงูมุดออกจากแห พอรวบตีนแหได้เสร็จ ผมก็ยกขึ้นฝั่งพร้อมกับคนเฒ่า.

ก็ตัวเบ้อเริ่มละครับ ที่อยู่ในแห ที่เหลือพอเห็นก็แตกตื่นไม่กล้าเข้าใกล้...ผมก็ค่อย ๆ เปิดแหล้วงเข้าข้างใน กำที่ลำคองู(ที่กล้า เพราะรู้ว่างูเหนื่อยมากแล้วจากการโดนทอดแห)ได้ ก็บอกให้ลูกชายเอาถุงปุ๋ยมาหา.

ยกขึ้นใส่ถุงปุ๋ย บอกเลิกหาปลา ก็พากันวิ่งรถยนต์ย้อนลงมาทาง อ.อินทร์บุรี ถามหาร้านรับซื้องู เจอหลายร้าน แต่ไม่ซื้อ จนมาถึงร้านหนึ่ง เขายอมรับซื้อ แต่ซื้อแค่กิโลกรัมละ 50 บาท(งูตัวนี้ชั่งแล้ว 16 กิโลกรัม) ใหญ่ เล็กแค่ไหนก็ลองคิดดูนะครับ ลำตัวขนาด 4 นิ้วครึ่ง.

มีโอกาสผ่านทางอินทร์บุรี จะไป อ.ตากฟ้า แยกซ้ายเข้าทางสะพานข้ามถนน ตามสะพานลงอีกฝั่ง วิ่งรถเข้าไปตามถนน จะมีร้านอาหารแปลก ๆ ประเภทผัดเผ็ดงูเห่า ผัดเผ็ดคางคก หนูนา ฯลฯ ให้ชิมครับ.

ขอพักเรื่องเดินป่าเมืองเพชรฯ สักตอน ฝากภาพ มาให้ชมก่อนครับ.

ตอนหน้าจะมาต่อ....!

Chote Vanhakij
30 กรกฎาคม 2560 เวลา 22:28 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1889979217989688&id=100009328851456

* * * * *


ตอนที่ 22 "เรื่องประหลาด" "ขันธะปริตตะสูตร"

"ขันธะปริตตะสูตร"

การนับถือ หรือเชื่อว่าคาถา(คำที่สื่อถึงอำนาจใดอำนาจหนึ่ง,คำศักดิ์สิทธิ์)จะให้ผลได้นั้น ต้องมีการย้อมใจให้อยู่ในอารมณ์นั้น ๆ ด้วย(ภาษาในทางธรรมชั้นสูง ๆ อาจเรียกว่าปฏิภาคนิมิต)จะยังไม่อธิบายนะครับ.

จะแถไปเรื่องไสยศาสตร์ก่อน และเมื่อจะแถก็เอาเรื่องแบบนี้เลย เดี๋ยวจะหาว่าไม่รู้จริง...!!!

ลองคิดกันเล่น ๆ ว่า เวลาทำเสน่ห์ให้ผัวรัก ผัวหลง หรือเมียน้อย อยากทำเสน่ห์ให้อาเสี่ยหลง ทำไมเวลาลงนะหน้าท้อง(สะกดไม่ผิดครับ) ปิดทองหัวนม ฯลฯ อาจารย์ที่ทำพิธีต้องให้มีการถอดเสื้อ ถอดผ้า ทำพิธีเหมือนกับจะร่วมเพศ ต้องคลึง ต้องเค้น ต้องนวดให้เกิดอารมณ์เพศ.

มันมีอุปเท่ห์อยู่ในนั้นครับ...ก็คือการย้อมใจให้อยู่ในอารมณ์นั้น ๆ เพื่อให้เกิดความขลัง และแรงดึงดูดสามารถเกาะเกี่ยวเอาอารมณ์คนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเองและมีอารมณ์เดียวกับตัวเองให้หลงและติดอยู่ในอารมณ์นั้น ๆได้ และอยากเข้าถึงอารมณ์นั้น ๆ เสมอ(ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าหลงนั่นแหละ)โดยมีตัวคาถา หรือวิทยามนต์ที่อาจารย์เสกเป่าเข้าไปในขณะนั้น เป็นตัวบังคับให้คนให้หลงติดในอารมณ์คนที่ทำเสน่ห์นั้น ๆ เข้าไปด้วย.

มันยังไง ???.

ยังงี้ครับ...เมื่ออาจารย์และคนที่ทำพิธี พร้อมแล้ว จะให้ลูกศิษย์ถอดเสื้อผ้า นอนหงาย อาจารย์ที่ทำพิธี จะใช้วัตถุอาถรรพ์ตามตำรับของใคร ของมัน คลึงเคล้นที่จุดจะลงอาถรรพ์ หรือใช้มือก็ตามแต่ จนลูกศิษย์เริ่มเคลิ้ม อยู่ในอารมณ์กระสันปั่นป่วน มีอารมณ์ทางเพศ (อาจารย์ที่ทำพิธีจะมีอารมณ์ตามไม่ได้นะครับ...ขอบอก) อาจารย์ที่ทำพิธี ก็จะเริ่มลงนะ หรืออาคม วิทยามนต์ตามตำราไสยศาสตร์ที่เรียนมา คลึงเค้น จนแผ่นทองจมหายไปในจุดที่จะฝังอาถรรพ์ หรือวัตถุอาถรรพ์นั้นเคล้นไปตลอดจนจบวิทยามนต์ ถ้าอาจารย์ไม่ตบะแตกเสียก่อน...ก็เป็นอันเสร็จพิธีตามตำรับ.

(แต่ถ้าอาจารย์มีอารมณ์เพศเสียเอง ตบะแตกโดยเผลอไปมีเพศสัมพันธ์กับลูกศิษย์ ตอนที่ลูกศิษย์เคลิบเคลิ้ม มีอารมณ์เพศ อย่างนี้พิธีเสียนะครับ...พิธีแตกแล้ว ไม่ขลังแล้ว).

อ้าว...! แล้วมันขลังยังไง? ตอนไหน?...

ตอนนี้ครับ...................!!!

ตอนที่ลูกศิษย์กำลังเคลิบเคลิ้มปั่นป่วนด้วยอารมณ์เพศ ตอนนั้นแหละที่เขาเรียกย้อมใจด้วยอารมณ์นั้น เป็นเอกัคคตารมณ์ (มีอารมณ์เดียวที่กำลังคุคลั่ง) แต่ไม่สามารถกำกับวิทยามนต์ลงไปด้วยตัวเองให้เพิ่มความขลังลงไปได้ ต้องให้อาจารย์ช่วย และถ้าอาจารย์กำกับวิทยามนต์ลงไปถูกจังหวะ ถูกเวลาตรงกันแล้ว เมื่อจบวิทยามนต์ เมื่ออารมณ์คนเข้าพิธีสงบมีสติคืนมาแล้วเป็นอันจบพิธี(โดยที่อาจารย์ไม่ตบะแตกเสียเอง โดยต้องมาร่วมเพศจริง ๆ กับคนทำพิธี)ทางไสยศาสตร์นับว่าเข้มขลังยิ่งนัก.

เมื่อจบพิธีแล้ว อาจารย์จะเสกเป่าเพิ่มเติม บอกข้อกำกับเพิ่มหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วแต่ตำราของใคร ของมัน.

มันออกฤทธิ์ตอนไหน?.

ตอนนี้ครับ เมื่อเธอผู้นั้น มีโอกาสมีเพศสัมพันธ์กับใครที่เธอต้องการให้หลงเมื่อเข้าถึงอารมณ์เพศที่เธอมีตอนทำพิธีไสยศาสตร์ แรงเอกัคคตารมณ์ที่เธอเคยมี และแรงกำกับจากวิทยามนต์จะออกฤทธิ์ หน่วงเอาอารมณ์คนที่มีเพศสัมพันธ์กับเธออยู่ด้วย ให้คลุ้มคลั่ง ลุกโชนผิดปกติ

แม้ผ่านไปแล้ว ก็จะถวิลหาอารมณ์นั้นไม่วายเว้นชนิดที่เรียกว่าเช้า ค่ำ ย่ำเย็น ก็ถวิลหาแต่อารมณ์นั้น แบบที่คนโบราณท่านว่าโดนของจนหน้าดำนั่นแหละ...!

อธิบายมาน่าจะพอเข้าใจนะครับ ว่าการหน่วงอารมณ์ หรือการย้อมใจ ย้อมอารมณ์ให้เป็นเอกัคคตารมณ์เพื่อให้คำศักดิ์สิทธิ์, วิทยามนต์, คาถาอาคม, หรืออะไรก็แล้วแต่ออกฤทธิ์นั้นมันเป็นอาการแบบนี้.

แม้จะเป็นไสยศาสตร์ชั้นต่ำ ก็ต้องการแรงสมาธิ

ทีนี้...สมาธิที่ค่อนข้างห่างกิเลสไป และชั้นสูง ๆ มันเป็นยังไง?

จะเอาเรื่องกสิณไฟ มาอธิบายเป็นลำดับให้อ่านครับ...การจะเรียนกสิณไฟ ต้องมีนิมิต(หรือรูปเปรียบ หรือตัวอย่างของไฟ)มาเป็นแบบก่อน.

นิมิต คือ เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนดในการเจริญกรรมฐาน, ภาพที่เห็นในใจอันเป็นตัวแทนของสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน.

1. บริกรรมนิมิต (นิมิตแห่งบริกรรม,นิมิตตระเตรียมหรือแรกเริ่ม ได้แก่สิ่งใดก็ตามที่กำหนดเป็นอารมณ์ในการเจริญสมถะกรรมฐาน เช่น กสิณไฟ ก็ต้องมีกองไฟหรือดวงไฟที่เตรียมไว้เป็นอารมณ์(preliminary sign)) ได้ในสมถะกรรมฐานทั้ง 40 วิธี.

2. อุคคหนิมิต (นิมิตที่ใจเรียน, หรือนิมิตติดตา ได้แก่ บริกรรมนิมิตนั่นแหละแต่เราจำหรือเพ่งจนติดตา ติดใจ จนเห็นแม่นในมโนสำนึก หลับตาบริกรรมก็มองเห็นภาพไฟในนิมิตใจอยู่ตลอด (learning sign; abstract sign; visualized image))ได้ในสมถะกรรมฐานทั้ง 40 วิธี

3. ปฏิภาคนิมิต (นิมิตเสมือน, นิมิตเทียบเคียง ได้แก่นิมิตที่เป็นภาพเหมือนของอุคคหนิมิตนั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากสัญญา เป็นเพียงอาการปรากฏแก่ผู้ได้สมาธิ จึงบริสุทธิ์จนปราศจากสีเป็นต้น และไม่มีมลทินใด ๆ ทั้งสามารถนึกขยายหรือย่อส่วนได้ตามความปรารถนา----sign; conceptualized image)) นิมิตนี้ได้ในเฉพาะกรรมฐาน 22 คือ กสิณ 10, อสุภะ 10, กายคตาสติ 1, และอานาปานสติ 1.

เมื่อฝึกจนเกิดเป็นปฏิภาคนิมิตขึ้น จิตย่อมตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิ จึงชื่อว่าปฏิภาคนิมิตเกิดพร้อมอุปจารสมาธิ เมื่อเสพ(ทำบ่อย ๆ)ในปฏิภาคนิมิตนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิ ก็จะสำเร็จเป็นอัปนาสมาธิต่อไป

ปฏิภาคนิมิต จึงชื่อว่าเป็นอารมณ์หรือบาทฐานแห่งอุปจารภาวนา(อุปจารสมาธิ) และอัปปนาภาวนา(อัปปนาสมาธิ)...

นึกถึงตอนที่ผมสวด "อาฏานาฏิยะปริตตะสูตร" ในป่าวันแรกที่บอกว่า แผ่เมตตาแล้วขยายจิตออกเป็นวงกลมได้ไหม?.

คือตรงนี้แหละครับ...สร้างอุคคหนิมิตจากภาพรอบตัว สาธยายปริตตะสูตรแล้ว ขยายจิตออกเพื่อเป็นการสร้างเกราะ(รั้ว) ทางจิตไว้ให้ตัวเองแล้วก็จำวัตร.

เช่นหลวงพี่สองท่านที่มาจาก จ.มหาสารคาม ท่านทำ รูปแรก เสกไม้ ขีดดินรอบที่นอน...!

อีกรูป หยิบก้อนดินมาเสก แล้วโยนเป็นอาณาเขตกั้นข่ายอาคมไว้ทั้ง 4 ทิศ.

ส่วนจะมีอะไรเกิดขึ้น และขันธะปริตตะสูตมีเนื้อความว่าอย่าง รอต่อวันหน้าครับ.....

Chote Vanhakij
7 สิงหาคม 2560 เวลา 23:49 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1894007774253499&id=100009328851456

* * * * *


ตอนที่ 23 "เรื่องประหลาด" "ขันธะปริตตะสูตร" (ต่อ)

"ขันธะปริตตะสูตร" (ต่อ)

จะเอาเรื่องกสิณไฟ มาอธิบายเป็นลำดับให้อ่านครับ..การจะเรียนกสิณไฟ ต้องมีนิมิต(หรือรูปเปรียบ หรือตัวอย่างของไฟ)มาเป็นแบบก่อน...ในสมัยโบราณฤๅษี, ดาบส, นักพรต, นักสิทธิ์, วิทยาธร ที่บำเพ็ญตบะ หรือเล่นกสิณไฟ จะจุดไฟไว้ในอาศรมเพื่อเป็นเครื่องเจริญกสิณ ไม่ดับตลอดเวลาจนกว่าจะละบริกรรมนิมิต ถือเอาปฏิภาคนิมิตเจริญจิตอย่างเดียว.

นิมิต คือ เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนดในการเจริญกรรมฐาน, ภาพที่เห็นในใจอันเป็นตัวแทนของสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน.

1. บริกรรมนิมิต (นิมิตแห่งบริกรรม,นิมิตตระเตรียมหรือแรกเริ่ม ได้แก่สิ่งใดก็ตามที่กำหนดเป็นอารมณ์ในการเจริญสมถะกรรมฐาน เช่น กสิณไฟ ก็ต้องมีกองไฟหรือดวงไฟที่เตรียมไว้เป็นอารมณ์(preliminary sign)) ได้ในสมถะกรรมฐานทั้ง 40 วิธี.

2. อุคคหนิมิต (นิมิตที่ใจเรียน, หรือนิมิตติดตา ได้แก่ บริกรรมนิมิตนั่นแหละแต่เราจำหรือเพ่งจนติดตา ติดใจ จนเห็นแม่นในมโนสำนึก หลับตาบริกรรมก็มองเห็นภาพไฟในนิมิตใจอยู่ตลอด (learning sign; abstract sign; visualized image))ได้ในสมถะกรรมฐานทั้ง 40 วิธี

3. ปฏิภาคนิมิต (นิมิตเสมือน, นิมิตเทียบเคียง ได้แก่นิมิตที่เป็นภาพเหมือนของอุคคหนิมิตนั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากสัญญา เป็นเพียงอาการปรากฏแก่ผู้ได้สมาธิ จึงบริสุทธิ์จนปราศจากสีเป็นต้น และไม่มีมลทินใด ๆ ทั้งสามารถนึกขยายหรือย่อส่วนได้ตามความปรารถนา----sign; conceptualized image)) นิมิตนี้ได้ในเฉพาะกรรมฐาน 22 คือ กสิณ 10, อสุภะ 10, กายคตาสติ 1, และอานาปานสติ 1.

เมื่อฝึกจนเกิดเป็นปฏิภาคนิมิตขึ้น จิตย่อมตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิ จึงชื่อว่าปฏิภาคนิมิตเกิดพร้อมอุปจารสมาธิ เมื่อเสพ(ทำบ่อย ๆ)ในปฏิภาคนิมิตนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิ ก็จะสำเร็จเป็นอัปนาสมาธิต่อไป

ปฏิภาคนิมิต จึงชื่อว่าเป็นอารมณ์หรือบาทฐานแห่งอุปจารภาวนา(อุปจารสมาธิ) และอัปปนาภาวนา(อัปปนาสมาธิ)...

เมื่ออิสี(ฤๅษี) บำเพ็ญกสิณไฟไปจนถึงปฏิภาคนิมิตแล้ว อาจสร้างไฟให้เกิดในใจของตัวเอง และไฟให้เกิดในใจของบุคคลอื่น แต่ไฟนี้ก็ยังเป็นไฟที่ถือว่าไฟปลอม คือไฟที่เกิดขึ้นในจิต ไม่ใช่ไฟที่เผาไหม้สิ่งใดได้จริง.

ทีนี้ ไฟที่เผาไหม้สิ่งใดได้จริงที่เกิดจากอำนาจกสิณไฟ มีไหม?.

มีครับ.....

จะเล่าเรื่องในเมืองไทยก่อน เอาพอรู้นะครับ ไม่ระบุตัวตน หรือชื่อ อันจะทำให้ผู้อ่านบทความผมงมงาย ติดตัวบุคคล หรือเชื่อโดยไม่แยกแยะ ไม่วิเคราะห์ด้วยปัญญา ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายของบทความหรือข้อเขียนที่ตั้งใจไว้เดิม ว่าเขียนเพื่อบันทึกเรื่องราว และความคิด ความเชื่อของคนยุคหนึ่งเท่านั้น...แม้จะจริง...!!!

แต่ผู้อ่านก็ต้องวิเคราะห์ พิจารณาด้วยปัญญาที่มีเสมอ

ซึ่งเท่าที่เคยอ่านพบอัตตโนชีวะประวัติของพระป่าหลายท่าน มีหลวงปู่ หลวงพ่อที่บำเพ็ญเพียรทางจิต สามารถบันดาลให้ฝนตกเฉพาะที่หรือเป็นวงกว้างได้ แต่ท่านมักจะบอกว่าขอจากเทวดาที่ทำฝน(มีท้าววิรุฬหกเป็นใหญ่) แต่ผมมองอีกทีว่าท่านอาจจะสำเร็จอาโปกสิณ(กสิณน้ำ)ซึ่งกสิณนี้ เมื่อฝึกสำเร็จ อาจบันดาลให้น้ำท่วม น้ำหลาก หรือชำแรกตัวลงไปในดิน(เพราะทำดินให้อ่อนเหมือนน้ำ) หรือบันดาลให้ฝนตก ฝนหยุดได้.

ซึ่งจะกินพื้นที่กว้าง แคบ ขนาดไหน คงแล้วแต่พลังอำนาจจิตและกสิณ ที่ท่านสามารถทำให้เกิดได้......

แต่ไม่ปรากฏได้ยินว่ามีพระเกจิอาจารย์ท่านใด ๆ จะสำเร็จกสิณไฟ หรือเล่นทางนี้เลย ที่เคยได้ยินตำนานเก่า ๆ ก็มีหลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา บ้านหมี่ ลพบุรี, และปัจจุบันเข้ามาหน่อยก็มีหลวงพ่อโอภาสี แห่งอาศรมสวนส้ม บางมด บางขุนเทียน(ผู้สนใจเสาะหาเองเถิด)ที่พอเข้าเค้าว่าท่านสำเร็จเตโชกสิน(กสิณไฟ).

มีเรื่องเล่าว่า เกจิอาจารย์ท่านหนึ่ง แสดงวิชาแปลงร่างให้เสด็จในกรม กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ดู โดยให้ทหารมหาดเล็กเอาเชือกผูกเอวให้แน่น ลงไปยืนในสระน้ำที่วัด พอท่านรดน้ำมนต์ ทหารมหาดเล็กก็กลายร่างเป็นจระเข้ขนาดใหญ่ ดิ้นน้ำตูมตาม จนทดลองให้มหาดเล็กที่ตามเสด็จถึงสามคน ดึงเชือกไว้ ก็แทบดึงไม่อยู่ แต่หลวงปู่ที่ตัวผอม ๆ คนเดียวกับดึงเชือกอยู่.

เมื่อเห็นสมควร ท่านรดน้ำมนต์อีกที ทหารมหาดเล็กคนนั้นก็คืนร่าง เป็นคนเหมือนเดิม.

ประเด็นอื่นจะไม่พูดถึงนะครับ แต่จะพูดถึงประเด็นที่หลวงปู่รูปนี้แสดงไป น่าจะเป็นปฐวีกสิณ(กสิณดิน) คือสามารถเปลี่ยนวัตถุธาตุให้เป็นไปตามปรารถนา.

เมื่อครั้งอังกฤษเข้าครอบครองอินเดียใหม่ ๆ มีคนอังกฤษอยากทดสอบโยคีของอินเดีย ว่ามีอำนาจทางจิตอย่างที่ร่ำลือกันหรือไม่ โดยได้เชิญโยคีอินเดียที่มีชื่อเสียงทางด้านอำนาจจิตมาแสดงฤทธิ์ให้ดู โดยขอให้เสกอาหารที่ตนต้องการมาให้ตนกิน ดื่ม ซึ่งเมื่อโยคีทราบแล้ว เข้าสมาธิสักครู่.

บัดดลก็บังเกิดโต๊ะ เก้าอี้ พร้อมอาหารและเหล้าไวน์ให้คนอังกฤษที่ต้องการทดสอบนั้น ได้ดื่ม กิน จนอิ่ม...และเมื่ออิ่มแล้ว ก็บอกให้โยคีอินเดียทำให้หายไปเสีย ซึ่งก็เหมือนตอนเสกมาครับ...สิ้นคำก็หายวับ...!

ซึ่งคนอังกฤษตามเรื่องเล่าที่ต้องการทดสอบ บอกว่าดื่มจริง กินจริง โต๊ะ เก้าอี้ และอาหารมีจริง.

ตามการวิเคราะห์ของผม(เพื่อให้คนอ่านคิดตาม.....)

อย่างแรก สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นแค่อำนาจสะกดจิตของโยคี ที่มีพลังจิตเข้มข้นจนสามารถสะกดคนที่ตื่นอยู่ มีสติสมบูรณ์ ให้เชื่อว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจริง จับต้องได้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง ๆ เป็นเพียงจิตของคนอังกฤษโดนครอบงำให้เชื่อตามนั้น เท่านั้น ( หลวงปู่ดูลย์ อตุโล, กล่าวว่า สิ่งที่เห็นนั้น เห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็นไม่จริง).

อย่างที่สอง โยคีท่านนี้ สำเร็จปฐวีกสิน(กสิณดิน)จนสามารถสร้างวัตถุธาตุจากอากาศที่ว่างเปล่ามาให้คนอังกฤษกินได้.

ที่เอามาเขียน เพราะเรื่องการย้อมอารมณ์ของคนที่มาทำเสน่ห์ให้ตกอยู่ในภวังค์รักและใคร่จนได้ที่แล้ว..... อาจารย์ที่ทำพิธีก็กำกับอาคมลงไปนั้น มันชัดเจนจนมีคนถามหลังไมค์ว่า...อาจารย์ทำจริง ๆ เหรอ...!

ปล่อยไว้ให้คิดครับ.....????????

เขียนมาสองวัน ยังไม่ได้ลงเนื้อคาถาของ "ขันธปริตตะสูตร" เลย.

ขอยกยอดไปพรุ่งนี้อีกทีครับ...ขออาบน้ำ และทำสมาธิก่อนครับ.

Chote Vanhakij
8 สิงหาคม 2560 เวลา 22:25 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1894504304203846&id=100009328851456

* * * * *


ตอนที่ 24 "เรื่องประหลาด" "ขันธะปริตตะสูตร" (ต่อ)

"ขันธะปริตตะสูตร" (ต่อ)

ไปป่าเมืองเพชรฯ คราวนั้น มีพระที่ร่วมคณะกันเป็นมหาเปรียญเสีย 4 รูป(รวมผมด้วย) สามเณรที่ไปด้วย ก็เป็นเปรียญ (มี อ.จันทร์ กับหลวงพี่คนเมืองเพชรฯ เท่านั้นที่ไม่ได้เป็นเปรียญ) ลูกศิษย์ที่ไปในคณะ ก็เป็นเด็กที่ติดตามเพื่อนสหธรรมิกมาเรียน เป็นเด็กจาก จ.หนองคาย ก็คุ้นเคยกับป่า และไม่รู้สึกแปลกแยกกับป่า...พูดง่าย ๆ คือไม่ตื่นป่าเหมือนเด็กเมือง และไม่กลัวป่าจนไร้เหตุผล

การเดินทางร่วมกันเป็นเวลานาน ๆ และผจญภัยคล้ายแบบนี้ ทุกคนถ้ามีนิสัยดั้งเดิมเป็นอย่างไรจะแสดงออกมาหมด ขี้เกียจ, ตาขาว กลัวไปหมดทุกสิ่ง, ชอบเอาเปรียบหมู่คณะ, เห็นแก่ตัว ฯลฯ...แสดงออกมาหมดครับ ทดสอบดูได้ทุกครั้งที่ต้องออกทริปหฤโหดแบบนี้กับใคร หรือคณะใดได้ทุกท่าน แล้วท่านจะเห็นนิสัยแท้จริงของแต่ละคน

แต่ไม่หรอกครับ เล่าให้ทราบกันเฉย ๆ เพราะที่ไปทั้งหมดนั้น ล้วนแต่นิสัยใจคอคล้ายกัน ไม่มีแปลกแยก แตกต่างกันมากน้อย เวลานอนบนหาดทรายตอนกลางคืน เมื่อถึงที่จะพัก ก็จะนอนลักษณะคล้าย ๆ วงกลมให้ลูกศิษย์นอนอยู่ในสุด ส่วนท่านที่เหลือก็เลือกที่เหมาะตามสะดวก เพราะป่าก็คือป่า ภยันตรายรอบด้าน ทั้งจากสัตว์ใหญ่อย่างเสือแล้ว ยังมีสัตว์มีพิษสารพัดชนิดที่มองไม่เห็น ซึ่งอาจเป็นคู่เวรที่พร้อมจะทำให้ชีวิตของพระแต่ละรูปล้มหายตายจากไปได้ง่าย ๆ จึงต่างต้องระวังตัวอย่างที่สุด

เพราะเวลานอน คือนอนแบบไม่มีอะไรเป็นเครื่องป้องกันตัวเลย ไม่มีเต้นท์, ไม่มีมุ้งกลด, ไม่มีหมอน, ไม่มีรั้ว, ไม่มีเครื่องป้องกันใด ๆ ทั้งสิ้น, มีแต่เวทมนต์ คาถา หรือวิชาที่พระแต่ละรูปเรียนมาเท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องป้องกันตัว(ถ้ามองจากสายตาคนธรรมดา ก็บอกว่ามันจะป้องกันอะไรได้)...

ถ้าจะให้บอกแบบจินตนาการคือ ลองมองภาพ พระ 6 รูป นอนล้อมสามเณร และลูกศิษย์ บนลานหญ้ากว้าง ๆ สิครับ แบบนั้นเลย...!

ทีนี้...เมื่อเวลาจะนอน แต่ละรูปก็จะเอาวิชาที่ตัวเองมี ออกมากางเป็นข่ายอาคมล้อมรอบบริเวณที่นอน(ซึ่งถ้าผู้มีฤทธิ์มองเห็น คงเห็นข่ายอาคมซ้อนกันหลายชั้น) เพราะแต่ละรูป ก็วางข่ายอาคมไว้ทุกรูป ซึ่งแม้แต่ผมก็ทำอย่างที่เคยบอกไว้ตั้งแต่บทแรก ๆ แล้ว เพื่อกันภยันตรายจากภูต และอทิสมานกายต่าง ๆ ที่เป็นคู่เวรที่อาจเข้ามาให้ร้ายในขณะนั้น...

ซึ่งบรรดาปริตตะสูตรที่นำมา ก็ล้วนเป็นปริตตะสูตรที่ใช้เจริญพุทธมนต์ในงานมงคลพิธีของชาวพุทธอยู่แล้ว ถ้าใช้เจ็ดสูตร จะเรียกเจ็ดตำนาน สิบสองสูตรจะเรียก สิบสองตำนาน(จะเล่าแยกต่างหาก ถ้าไม่เบื่ออ่าน หรือคนเขียนเบื่อเสียก่อน)...

คืนแรกที่นอน ผมสรรเสริญไตรรัตน์คุณแล้ว เจริญ "อาฏานาฏิยะปริตตะสูตร" ขอความคุ้มครองเป็นอันดีจงเกิดมีมาแต่ท้าวมหาราชทั้งสี่...แผ่เมตตา เข้าสมาธิหน่อยหนึ่ง ขยายจิตออกเป็นวงกลมแล้วนอน.

คืนที่สอง นอนช้าหน่อย เลยเห็นเพื่อนพระอีกสองรูปวางข่ายอาคมตามที่เล่าแล้วในบทก่อน ก่อนจะนอนหรือจำวัตร...

คืนที่สอง...ผมนอกจากทำตามคืนแรกแล้ว เพิ่ม "ขันธะปริตตะสูตร" เจริญพระปริตตมนต์บทนี้โดยเฉพาะ เพื่อแผ่เมตตาแก่ท้าววิรูปักข์ และบริวาร โดยเฉพาะเพิ่มเติมอีก เป็นการเจาะจงซึ่งท้าววิรูปักข์เป็นภุมมัฏฐเทวดา(เทวดาประจำพื้น)ร่วมกับท้าวกุเวร(ท้าวเวสสุวรรณ).

ซึ่งต่างจากท้าวธตรัฐ ทิศบูรพา, และท้าววิรุฬหก ทิศทักษิณ ซึ่งเป็นอากาศเทวดา.

(#ดูพระคาถาและคำแปล ด้านล่างนะครับ...นำมาลงไว้แล้ว.)

คืนนั้น...ไม่มีอะไรผิดปกติครับ...ตอนดึก ๆ ตื่นมาชุนฟืนเข้ากองไฟ ก็ไม่เห็นค้างคาวโฉบกินยุง ไม่มีเสียงประหลาดจากป่า ไม่มีเสียงแปลก ๆ จากพงไพรรอบข้าง

ไม่มีเสียงนกฮูก นกแสก ป่าทั้งป่านิ่งสงบ...

และแม้แต่เงาไม้ไหว(อันจะทำให้คนขวัญอ่อน มองเห็นเป็นภูตพรายกวักมือเรียก)ก็ไม่เห็นมี

จนใกล้รุ่งเช้า...น่าจะตีสี่...?????

(พระคาถามีดังนี้)...

วิรูปักเขหิ เม เมตตัง
ข้าพเจ้ามีเมตตาจิต กับงูตระกูลวิรูปักขะทั้งหลาย

เมตตัง เอราปะเถหิ เม
ข้าพเจ้ามีเมตตาจิต กับงูตระกูลเอราปถะทั้งหลาย

ฉัพยาปุตเตหิ เม เมตตัง
ข้าพเจ้ามีเมตตาจิต กับงูตระกูลฉัพยาปุตตะทั้งหลาย

เมตตัง กัณหาโคตะมะเกหิ จะ
และข้าพเจ้ามีเมตตาจิต กับงูตระกูลกัณหาโคตมกะทั้งหลาย

อะปาทะเกหิ เม เมตตัง
ข้าพเจ้ามีเมตตาจิต กับสัตว์ไม่มีเท้าทั้งหลาย

เมตตัง ทิปาทะเกหิ เม
ข้าพเจ้ามีเมตตาจิต กับสัตว์สองเท้าทั้งหลาย

จะตุปปะเทหิ เม เมตตัง
ข้าพเจ้ามีเมตตาจิต กับสัตว์สี่เท้าทั้งหลาย

เมตตัง พะหุปปะเทหิ เม
ข้าพเจ้ามีเมตตาจิต กับสัตว์มีเท้ามากทั้งหลาย

มามัง อะปาทะโก หิงสิ
ขอสัตว์ไม่มีเท้า อย่าได้เบียดเบียนข้าพเจ้าเลย

มามัง หิงสิ ทิปาทะโก
สัตว์สองเท้า ก็อย่าเบียดเบียนข้าพเจ้าเลย

มามัง จะตุปปะโท หิงสิ
ขอสัตว์สี่เท้า อย่าได้เบียดเบียนข้าพเจ้าเลย

มามัง หิงสิ พะหุปปะโท
สัตว์มีเท้ามาก ก็อย่าเบียดเบียนข้าพเจ้าเลย

สัพเพ สัตตา สัพเพ ปาณา
ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ผู้มีลมปราณ

สัพเพ ภูตา จะ เกวะลา
และเหล่าภูตสัตว์ทั้งปวง ผู้หาลมปราณมิได้

สัพเพ ภัทรานิ ปัสสันตุ
จงประสบแต่ความเจริญ ด้วยกันทั้งหมดเถิด

มา กิญจิ ปาปะมาคะมา
อย่าได้รับโทษอันชั่วช้าใด ๆ เลย

อัปปะมาโณ พุทโธ
พระพุทธเจ้า ทรงมีพระคุณสุดที่จะประมาณ

อัปปะมาโณ ธัมโม
พระธรรม มีพระคุณอันหาประมาณมิได้

อัปปะมาโณ สังโฆ
พระสงฆ์ ทรงพระคุณสุดที่จะกำหนด

ปะมาณะวันตานิ สิริงสะปานิ
สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย อันมีประมาณคือ

อะหิวิจฉิกา สะตะปะที
งู แมงป่อง ตะขาบ

อุณณานาภี สะระภู มูสิกา
แมงมุม ตุ๊กแก และหนู

กะตา เม รักขา กะตา เม ปะริตตา ปะฏิกกะมันตุ ภูตานิ
ขอสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น จงหลบหลีกไปเสียเถิด เพราะการรักษาป้องกัน อันข้าพเจ้าได้ทำไว้แล้ว

โส หัง นะโม ภะคะวะโต
เพราะข้าพเจ้านั้น กระทำความนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่

นะโม สัตตันนัง สัมมาสัมพุทธานัง
กระทำความนอบน้อม แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง ๗ พระองค์อยู่.

..................................

จบพระปริตบทนี้ เท่านี้ครับ...สวดท่อง ทำจิตให้มีเมตตา ในบรรดาสัตว์เหล่านี้เถิด.

ท่านจะปลอดภัย จากสัตว์มีเขี้ยวทั้งปวง...

Chote Vanhakij
9 สิงหาคม 2560 เวลา 22:01 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1894973424156934&id=100009328851456

* * * * *


ตอนที่ 25 "เรื่องประหลาด" "กะระณียะเมตตสูตร"

"กะระณียะเมตตสูตร"

ผมค้างไว้แต่ตอนที่แล้วว่า...จนกระทั่งตีสี่กว่า ๆ......????? คืนนั้น พระทุกรูปที่ไปเมืองเพชรฯ คราวนั้น ต่างหลับสนิทด้วยล่องแพกันมาวันแรก ต่างเหนื่อยอ่อน ถ้าเป็นระยะทางคงไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตร...เหนื่อยอ่อนเพราะอะไรครับ?.

ช่วงแรกลำน้ำแคบ ๆ ล่องแพค่อนข้างลำบาก ชนหน้าชนหลัง ด้วยยังไม่คุ้น, แพล่ม รูปอื่นต้องมาช่วยกันเก็บข้าวของกันโกลาหล, น้ำเชี่ยว แพขวางแก่งต้องช่วยกันมางัดแพออกจากแก่ง สารพัดเหตุการณ์ สนุก...!!! ดีที่ไม่มีรูปไหนได้รับอันตรายอะไร ผ่านพ้นมาตลอด.

แล้วตีสี่มีอะไรครับ?.

น้ำป่าครับ...เพื่อนพระที่มาจากจังหวัดหนองคาย ท่านตื่นมาพอดี น้ำท่วมมาครึ่งหาด เกือบจะถึงที่นอนอยู่แล้วเลยไปปลุก อ.จันทร์ รูปอื่น ๆ ก็เลยตื่นกันหมด.

อันดับแรก ช่วยกันลากแพเกยหาดให้สูงขึ้นมาอีก ทุกแพ ตอกหลักริมฝั่ง หาเชือกมาผูกแพให้แน่น.

อันดับสอง ช่วยกันย้ายกองไฟให้สูงขึ้นไปบนฝั่งทั้งสองกอง ซึ่งลูกศิษย์กับสามเณรก็ได้รับคำสั่งให้ทำอยู่ก่อนแล้ว แต่ท่อนไม้ใหญ่ลากสองคนไม่ไหว ต้องรอมาช่วยกันทั้งหมด

อันดับสาม สำรวจข้าวของว่าไม่มีอะไรเหลือในที่พักแล้ว นำไปมัดรวมกันไว้บนฝั่ง ข้าวสารและเสบียง ถูกแก้ออกจากแพ ขนขึ้นไว้บนฝั่งทั้งหมด

ก็มานั่งคุยกัน อ.จันทร์ท่านพูดว่าฝนน่าจะตกตรงน้ำตกทอทิพย์ที่เราพักเมื่อวาน ช่วงบ่ายหรือหัวค่ำ น้ำเลยหลากมาถึงเรา(ซึ่งในขณะที่ล่องแพกันอยู่ไม่เห็นตก แต่เมฆฝนที่ครึ้มก็ไม่มีใครสงสัยว่าฝนตกต้นน้ำ).

ซึ่งก็ยังไม่มีอะไรมากมายครับ แค่น้ำในลำห้วยเอ่อขึ้นมาและสีน้ำขุ่นมาหน่อย ตอนนี้ ไม่มีรูปใดหลับต่อแล้ว ใกล้สว่าง...เห็นว่าน้ำมีแค่นั้น ก็ต่างรูปต่างไปอาบน้ำ ล้างหน้า ให้ลูกศิษย์หุงหาอาหาร เตรียมล่องแพกันต่อ

สนุกดี...มหาฯ หนุ่มหลายรูปว่างั้น...!

เป็นอันว่ายกได้ วางได้(สำนวนธรรมะ) คือไม่ตกอกตกใจรุนแรง พร้อมเผชิญหน้าสุข ทุกข์ตามสภาวะเป็นจริงของมันอย่างคนผู้พร้อมเผชิญโลก.

(#สามัญชนอย่างเรา แม้ไม่มีเวลาพิจารณาข้อธรรม ข้ออรรถ แห่งธรรมะในศาสนาใด ๆ เพราะมุ่งแต่ต้องทำมาหากิน เลี้ยงชีพตัวเอง แต่ถ้าได้รู้อะไรที่มันประเทืองปัญญาน่าคิด ก็จะเป็นผู้รู้ก่อนตาย จะได้เข้าใจความเป็นจริง ยอมรับความจริงและปลงตกเสีย แม้ทำไม่ได้ทุกเรื่อง...ก็ต้องพยายามทำใจ

เพื่อที่เราจะได้ใช้เวลาอันน้อยนิดที่มีอยู่ในโลกนี้ เข้าหาภาวะที่มีความสุขตามอัตตภาพและเลี่ยงทุกข์บางอย่างเสีย และปล่อยบางสิ่ง บางอย่างให้จบสิ้นลงตามครรลองของมัน ควรใช้ความฉลาด และความเข้าใจของตนจัดการชีวิตที่มีอันน้อยนิดนี้ เพื่อที่จะอยู่อย่างเข้าใจโลกและมีความสุข ให้คุ้มค่าที่สุด)

...................................

#ก่อนจะไปเรื่อง "กะระณียเมตตะสูตร" ซึ่งเป็นบทเจริญพุทธมนต์บทที่ 6 ในการเจริญพุทธมนต์ของชาวพุทธในงานมงคลพิธีต่าง ๆ (สิบสองตำนาน)ซึ่งบทที่ 7 คือ "ขันธะปริตตะสูตร"ก็ได้เขียนไปแล้ว และบทที่ 11 หรือตำนานที่ 11 คือ "อาฏานาฏิยะปริตตะสูตร" ก็เขียนมาแต่วันแรกแล้ว.

จะนำเรื่องของท้าวเวสสุวรรณมาเขียนต่อให้สมบูรณ์ในเรื่องจ้าวแห่งยักษ์

ในสุตตันตะปิฎก ทีฆะนิกาย ปาฏิกะวรรค มีการอธิบายถึงการบำเพ็ญบารมี ในชาติก่อนของท้าวกุเวร (ท้าวเวสสุวรณ)ไว้ ซึ่งเราชาวพุทธส่วนมากรู้จักกันดีว่า ท้าวกุเวร เป็นยักขะเทวดา ราชาแห่งหมู่ยักษ์ และภูตผี เป็นที่เคารพยำเกรงของเหล่าอมนุษย์ เนื่องด้วยอาวุธของท้าวกุเวรเป็นอาวุธวิเศษ มีอานุภาพรุนแรง เมื่อขว้างออกไปก็อาจฆ่ายักษ์ได้เป็นพัน แล้วลอยกลับมาในมือเจ้าของดังเดิมได้ หรืออาจทำลายโลกได้พริบตาถ้าอยากจะทำ

เราชาวพุทธ(และฮินดู)จึงเชื่อกันว่าถ้ามีภาพเขียนหรือรูปปั้นในรูปของยักษ์ตัวเขียว หน้าดุ ยืนถือกระบองอยู่ติดบ้าน ก็จะป้องกันอันตรายจากอมนุษย์ได้ส่วนหนึ่ง คตินี้ เห็นได้จากรูปยักษ์ยืนถือกระบองที่วัดพระแก้วฯ วัดโพธ์ ท่าเตียน, วัดอรุณราชวราราม(วัดแจ้ง) ฯลฯ

นอกจากนี้ยังเป็นเทวดาผู้ร่ำรวย มีทรัพย์สมบัติมหาศาล เรียกได้ว่าเป็นระดับมหาเศรษฐีของเหล่าทวยเทพ จนในไตรภูมิพระร่วง พระมหากษัตริย์ผู้รจนาคัมภีร์ ได้ทรงบรรยายว่า "เครื่องประดับตัวและบริวารทั้งหลาย เทียรย่อมทองเนื้อสุก ฝูงยักษ์ทั้งหลายนั้น บ้างถือค้อน ถือสากและจามจุรี เทียรย่อมทองคำ บ่มิรู้ขิร้อยล้าน" คือร่ำรวยระดับทำอาวุธทองคำ เครื่องประดับทองหลายร้อยล้าน โดยที่ตัวเองยังมีอีกเหลือเฟือ

คติของมนุษย์ที่เชื่อมั่นเรื่องพวกนี้ จึงเชื่อว่าถ้าบูชารูปของเขาในรูปนั่งพุงพลุ้ย แล้วจะมีโชคลาภ.

แต่รูปกายของท้าวกุเวรยังอาจปรากฏในภาพลักษณ์อื่น ๆ ได้อีก เช่น เทพบุตรนั่งแท่นถือกระบอง ยกมือเหมือนจะห้ามปรามอันเป็นสัญญลักษณ์ของอัยการในไทย ก็อย่าแปลกใจครับ เทวดาท่านมีฤทธิ์มากมาย อยากเนรมิตรูปลักษณ์แบบไหนก็ตามใจ จึงปรากฏได้หลายรูปแบบ

แต่กว่าท้าวเธอจะมาเป็นแบบนี้ เป็นได้อย่างไร? ตั้งแต่เมื่อไหร่? ยังไง? ก็ต้องเขียนให้อ่านกันครับ แล้วท่านจะรู้ว่ากว่าจะมาเป็นผู้ที่รวยและมีอิทธิพลระดับต้น ๆ ของเหล่าเทวดาบนเขาพระสุเมรุ(ตามคติพุทธ) และเขาสัตตบริภัณฑ์นั้น ไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ

ในพระสุตตันตะปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ว่ากาลที่เป็นช่วงว่างของพุทธศาสนา คือ ในช่วงนั้น สมัยนั้น ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติและตรัสสอนคำสอนไว้ ท้าวกุเวรเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีไร่อ้อยเป็นทรัพย์สมบัติ กุเวรพราหมณ์มีความคิดริเริ่มอะไรใหม่ ๆ ซึ่งก็เป็นวิสัยทัศน์ของคนจะร่ำรวยเขาแหละครับ พอตัดอ้อยมา ก็คิดจะแปรรูปต่อยอดผลิตภัณฑ์ จึงสร้างหีบยนต์สำหรับคั้นน้ำอ้อยขึ้น เปลี่ยนจากต้นอ้อยธรรมดาให้เป็นน้ำอ้อยแสนหวานอร่อย ก่อนเอามาขาย และน้ำอ้อยของกุเวรพราหมณ์นี่...ท่านว่าขายดิบ ขายดีมาก

ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความขยัน และการเก็บออม พอเวลาผ่านไป จากชาวไร่อ้อยธรรมดา กุเวรพราหมณ์ก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นเศรษฐีเจ้าของกิจการ มีเงินไปขยายกิจการ จากหีบยนต์บีบอ้อยหีบเดียว ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายกลายเป็นเจ้าของเครื่องยนต์หีบอ้อยถึงเจ็ดหีบ(ภาษาปัจจุบัน ก็คงเสี่ยกุเวรละครับ).

พอรวยแล้ว กุเวรพราหมณ์ก็คิดว่าจะเอาเงินของตัวเองมาแบ่งปันแก่สังคมบ้าง ได้เอาเงินที่เหลือกินเหลือใช้ไปสร้างที่พักให้คนเดินทาง และใครที่มาพักหรือเดินทางผ่านไปมา กุเวรพราหมณ์ก็แจกน้ำอ้อยให้กินกันฟรี ๆ ไม่รับค่าตอบแทน และทำแบบนี้มาตลอดจนกระทั่งสิ้นชีวิต ด้วยบุญกุศลจากการสร้างที่พักสาธารณะ และแจกน้ำอ้อยให้คนอื่นกินฟรี ส่งให้กุเวรพราหมณ์มาเกิดเป็นยักขะ(ผู้ควรบูชา)เทวดา คือพระกุเวร ภายหลังมีนามว่า ท้าวเวสสุวรรณ จากการได้เป็นเจ้าเมืองเทวดา ชื่อเมือง วิสาณะ และได้บรรลุเป็นพระอริยะบุคคล ชั้นโสดาบัน

(คติทางศาสนาฮินดูเกี่ยวกับเรื่องพระกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรณก็มีอยู่ แต่จะไม่นำมาเขียนเล่าไว้ บอกเพียงชื่อในศาสนานั้นแค่ว่า ชื่อพระไพรศรพณ์)

แต่เราชาวพุทธ รู้จักกันมากในชื่อท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวร หรือมีชื่ออื่น ๆ เช่น รัตนครรภ์ (ท้องแก้ว)เนื่องจากมีพุงพลุ้ย...หรือธเนศวร (เจ้าแห่งทรัพย์)

ในคติพุทธ ในตำนาน "อาฏานาฏิยะสูตร" ที่เคยใช้เจริญมนต์ก่อนนอนเมื่อคืนแรกที่เล่าไว้ในการนอนป่าเมืองเพชรฯ...พระอรรถกถาจารย์ท่านเล่าว่าเมื่อมีพุทธศาสนาเกิดขึ้น ท้าวกุเวรกับท้าวมหาราชอีกสามพระองค์ พบว่ามีอมนุษย์ในสังกัดจำนวนหนึ่งที่ไม่อยู่ในศีล ในธรรม รบกวนเหล่าสมณะและคนดีทั้งหลาย ท้าวกุเวรจึงได้เชิญประชุมท้าวโลกบาลที่เหลือเพื่อหาข้อสรุปที่เมืองเทวดาชื่อ "อาฏานาฏิยะนคร" และได้ข้อสรุปออกมาเป็นมนต์ชื่อ "อาฏานาฏิยะปริตร" หรือที่ไทยเรียกว่า "ภาณยักษ์" โดยตั้งกฏไว้ว่าอมนุษย์ใด ได้ยินมนต์นี้แล้วไม่เชื่อฟัง ยังแสดงพฤติกรรมไม่ดี จะถูกท้าวจตุโลกบาลลงโทษ...แล้วนำมนต์นี้มาถวายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้พระภิกษุได้ใช้เจริญ(สวด)คุ้มกันภัยจากอมนุษย์กันต่อไป

จึงเห็นคติพุทธมหายาน ท้าวกุเวรจึงเป็นหนึ่งในธรรมบาลช่วยปกป้องรักษาพุทธศาสนา

ตามตำนานที่ว่ามานั้นแหละครับ ท้าวกุเวรเป็นยักษ์ที่ดี มีครั้งหนึ่งที่ปรากฏในธรรมมิกสูตร ว่าท้าวกุเวรจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อสนทนาธรรม แต่ระหว่างทางพบหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ "นันทมารดา" เป็นอนาคามีบุคคล(เป็นพระอริยบุคคลชั้นที่สาม สูงกว่าโสดาบันบุคคล ซึ่งเป็นชั้นแรก และสกทาคามีบุคคล ซึ่งเป็นชั้นที่สอง...ชั้นที่สุดคือ อรหันตบุคคล สิ้นกิเลสทั้งปวงแล้ว) เธอกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับการเก็บข้าว เข้ายุ้งฉาง ท้าวกุเวรจึงสั่งให้บริวารทั้งหลายช่วยกันลำเลียงข้าวเข้ายุ้งฉางจนเต็มทุกยุ้งฉาง นับแต่นั้นมายุ้งฉางของ "นันทมารดา" ไม่เคยขาดแคลนข้าวอีกเลย จากนั้นท้าวกุเวร จึงพาบริวารไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และเมื่อพระพุทธองค์ทักว่ามาผิดเวลา ท้าวกุเวรก็ทูลถวายรายละเอียดให้ทรงทราบโดยละเอียด

#แต่ในความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู ชีวิตหลังเป็นยักษ์ของท้าวกุเวรไม่ได้เรียบง่ายราวโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ เกิดมาแล้วโตเลย มีบ้าน มีเมืองครองเลยเหมือนคติพุทธ เนื่องจากเขาไม่ได้เกิดแบบ โอปปาติกะ ใน รามายณะเล่าว่าเขาเป็นบุตรของ วิศระวัสมุนี ในมหาภารตะว่าเป็นบุตรของ ปุลัสตยะมุนี (รามเกียรติ์ไทยมาเลือนเสียงเป็น ลัสเตียน และเรียกกุเวรว่า กุเปรัน)

ในรามายณะบอกว่า บิดาของท้าวกุเวรตั้งใจให้เขาครองกรุงลงกาแต่แรก แต่ท้าวกุเวรไม่ได้ต้องการแค่นั้น ด้วยความที่เป็นคนดี เขาคิดอยากดูแลปกป้องทั้งจักรวาล จึงออกไปบำเพ็ญตบะฝึกฝนวิชานับพันปี จนกระทั่งพระพรหม(ในคัมภีร์ปุราณะ บางแห่งว่า เป็นพระศิวะ)ได้ปรากฏกายขึ้น และประทานพรให้ท้าวกุเวรได้เป็นหนึ่งในผู้พิทักษ์จักรวาลสมใจปรารถนา พร้อมทั้งมอบสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติมหาศาล บุษบกวิเศษ และอำนาจปกครองเหนือเหล่ายักษ์ วิทยาธร กินนร ปีศาจ และ "คุยหกะ"(ภูตเฝ้าขุมทรัพย์ทั้งปวง)

ก่อนจบวันนี้ ฝากไว้อีกตอนครับ...การเลือกที่พักในการเดินป่า มีข้อควรที่จะพิจารณาเป็นอันดับแรกคือ ความปลอดภัย และอันดับต่อมาคือ ความสะดวกสบาย...จะฝากไว้พอประมาณครับ

1. ไม่ควรสร้างที่พักใต้ต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งไม้ผุ หรือมีผลขนาดใหญ่

2. ไม่ควรกางเต็นท์ใกล้ลำห้วยที่น้ำแห้งขอด เพราะน้ำป่าอาจหลากมาทันทีทันใด จนหลบหนีไม่ทัน

3. อย่าสร้างที่พักขวางทางด่านสัตว์ หรือแหล่งน้ำ

4. ควรอยู่สูงบนเนินที่โล่ง ทำให้ลมเย็น ไม่มีแมลงและยุงมารบกวน

5. ที่พักไม่ควรไกลแหล่งน้ำ หรือไกลลำห้วยมากเกินไป

6. ทำเลในการตั้งแคมป์ควรเป็นพื้นที่ราบเรียบ ไม่ลาดชันเกินไป.

ฉันเช้าแล้ว จะล่องแพ เดินทางวันที่สองแล้วครับ.

(อ้อ...! นึกได้ หน้าฝนช่วงนี้ แนะนำนักท่องเที่ยวขาลุย ล่องแก่งลำน้ำเข็ก พิษณุโลกครับ...สนุกสุด ๆ)

Chote Vanhakij
12 สิงหาคม 2560 เวลา 21:06 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1895913187396291&id=100009328851456

* * * * *


ตอนที่ 26 "เรื่องประหลาด" "กะระณียะเมตตสูตร" (ต่อ)

"กะระณียะเมตตสูตร" (ต่อ)

เรื่องนอนป่า นอนดง ในเรื่องที่ไปล่องแพ เมืองเพชรฯ เพราะ อ.จันทร์ท่านต้องไปลาญาติที่บ้านเดิมในป่าลึกเลยชวนพวกผมไปเป็นเพื่อนนั้น ได้เขียนมาหลายตอนว่าใช้ปริตตะมนต์เจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และบทอื่น ๆ ตามที่เขียนมาหลายบท และเรื่องคาถา อาคมเวทมนต์อื่น ๆ เพื่อเป็นเครื่องคุ้มกันภัยเวลานอนป่า เล่นน้ำ และเขียนแบบให้วิเคราะห์ตาม ไม่เอางมงายหรือปักใจเชื่อ และกระบวนการทำจิต ย้อมจิตก่อนโอมอ่านวิทยามนต์ ก็แนะนำแล้วกันการงมงาย.

และก่อนที่จะเขียนถึงตำนานหรือที่มาของสูตรนี้ ก็ขอเอาเรื่องที่เกี่ยวข้องกันมาเขียนแนะนำก่อน บางทีท่านแนะนำว่าการนอนป่า อย่าฝากตัวกับเจ้าป่า เจ้าเขา ท่านว่าไม่ค่อยปลอดภัย จะสาเหตุอะไร ตอนนี้ ผมยังไม่ชัดเจน เจอแล้วจะนำมาฝากครับ.

ท่านว่า นอนป่าถ้านอนพื้นดิน ให้ไหว้สา แล้วฝากตัวกับพระแม่ธรณีดีกว่า ท่านว่าจะปลอดภัยจากอันตรายหลายด้าน ท่านว่าอย่างนั้น.

แต่กรณีนี้กลับแปลก...!!! แปลกอย่างไร? ต้องขอนำข้อเขียนของ อ.มาลา คำจันทร์มาถ่ายทอดต่ออีกตอนครับก่อนจะเขียนในเนื้อเรื่องทางศาสนาให้อ่านกันสนุก ๆ ตามกันเข้ามาอ่านครับ.

มีเรื่องเล่าขานส่งผ่านกันมาทาง อ.เชียงของ เชียงคำ เมืองปง เข้ามาทางพะเยา แม่ใจ ผ่านเมืองพานขึ้นไปทางแม่สรวย เวียงป่าเป้า แล้วจะทะลุไปทางใดอีกไม่รู้? เรื่องราวมีอยู่ว่า เมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๐๙ สงครามแย่งชิงประชาชนระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมูนิสต์แห่งประเทศไทยยังเข้มข้นอยู่ ยังมีตำรวจตระเวณชายแดนชั้นผู้น้อยคนหนึ่ง ถูกหัวหน้าใช้ให้มารายงานที่อำเภอ เป็นงานด่วนร้อน ประเภทคอขาดบาดตายที่จะรอเวลาไม่ได้

ตชด.ชั้นผู้น้อยนายนั้นก็เร่งรีบเดินทาง เพื่อจะตัดข้ามป่าใหญ่ให้ได้ก่อนมืดค่ำ แต่ทำยังไงไม่รู้ เขาคงประสบอุบัติเหตุสักอย่างทำให้การเดินทางล่าช้า เลยตัดข้ามป่าใหญ่ไม่ทันก่อนจะมืดจึงวิตกกังวล และหวาดกลัวไปสารพัด กลัวเสือ กลัวผีสางกลางดง กลัวเจอกับผู้ก่อการร้าย จึงยกมือขึ้นจบ (พนมมือเหนือหัว) บอกกล่าวต่อเจ้าที่ เจ้าแดนว่าตนเป็นข้า(ราชการ)ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาในหน้าที่ มาดี ไม่ได้มาเกะกะระราน หรือสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้ใคร บัดนี้คับขันจวนตัว ขอให้เจ้าที่ เจ้าแดน ช่วยปกปักรักษาด้วยเถิด.

มืดมาก เงียบสงัดปราศจากสรรรพเสียงทั้งหลาย สักครู่หนึ่งก็มองเห็นแสงไฟอยู่ไกล ๆ แต่แรกก็คิดว่าตาฝาด พอแฝงตัวเข้าใกล้ก็เห็นว่าเป็นกระท่อมชาวดง จึงขอพักอาศัย ชายชาวดงใจดี บอกว่าขึ้นมานอนบนกระท่อมด้วยกันเถิด แต่ ตชด.นายนั้นบอกว่าไม่เป็นไร ขอนอนที่ใต้ถุนแล้วกัน

คืนนั้นเขาหลับไปเพราะเพลียจัด ใกล้สว่างก็สะดุ้งตกใจแต่กลับขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้เลย เมื่อมองออกไป ก็เห็นผู้คนมืด ๆ ดำ ๆ กลุ้มรุมล้อมรอบกระท่อม แต่แรกคิดว่าเป็นผู้ก่อการร้าย แต่เมื่อมองดูอีกทีก็คิดว่าไม่ใช่ เพราะมีทั้งชาย หญิง มีทั้งคนแก่และเด็ก คนพวกนั้นถกเถียงกันอยู่กับเจ้าของบ้าน

คนลึกลับ "หมูป่าตัวอ้วน เข้ามาถึงเรือนสู จงแบ่งให้พวกข้าได้กินเดี๋ยวนี้"

ลุงเจ้าของบ้าน "ไม่ได้หรอก เขามาพึ่งพาอาศัยข้า เขาบอกกล่าวขอความช่วยเหลือจากข้า ข้าจะให้สูกินเขาไม่ได้"

"สูจะหวงไว้กินคนเดียวหรือ?"

"เขาเป็นข้าพระเจ้าอยู่หัว ข้าไม่กินเขา พวกสูเองก็อย่าหมายว่าจะได้กิน จงเร่งกลับไปเสีย"

ตชด.หนุ่มคนนั้นเล่าว่า เหมือนฝันร้าย แต่รู้สึกตัวตลอด รู้ทุกอย่างเพียงแต่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้เลย ต่อมาก็มีเสียงตึงตังโครมครามเหมือนไม้หลักหักโค่น เหมือนโขลงช้างแล่นผ่านดงไม้ แล้วเขากลับไม่รู้สึกอะไรอีก หลับเหมือนดับหายไปเลย กระทั่งรุ่งเช้าแดดออก เขาคลานออกมาจากใต้ถุนกระท่อมหลังนั้น ปรากฏว่ามันไม่ใช่กระท่อมชาวดงอย่างที่มองเห็นเมื่อคืน แต่เป็นหอเจ้าที่ ที่ชาวป่า ชาวดอยเขาสร้างไว้บูชา แต่ร้างไปนานแล้ว.

ฝากเรื่องนี้ไว้ให้คิดเท่านี้ครับ........

ส่วนเรื่องทางพุทธศาสนา มีเรื่องประกอบที่จะนำมาเล่าประกอบคือ เรื่องที่เจ้าของบ้านขับไล่พระภูมิ(ภุมมัฏฐะเทวดา) ออกจากบ้านได้นั้น มี...แต่มิได้ปรากฏแต่สมัยพุทธกาลเท่านั้น แต่ในยุคกรุงธนบุรี เป็นราชธานี ก็มีพระบรมราชโองการประกาศต่อเทพารักษ์ให้ทำหน้าที่กำจัด ภูต ผี ปีศาจ เมื่อครั้งเกิดอาเพศโรคระบาดในเมืองเช่นกัน ถึงขนาดคาดโทษไว้ว่าหากไม่ดูแลประชาราษฎร์แล้ว จะขับไล่ออกไปจากเมืองหลวงเลยทีเดียว จะจริง จะเท็จ มีสาระ หรือไร้สาระอย่างใดก็ช่างเถิด

เรื่องเก่าผ่านไปแล้ว....

แต่เชื่อว่าเหล่าราษฎรคงมีกำลังใจต่อสู้ชีวิตขึ้นมาอีกเยอะทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อในเรื่องเทพารักษ์(ภุมมัฏฐะเทวดา)นั้น ต่างพึ่งพาอาศัยร่วมด้วยช่วยมนุษย์ คงเพราะเป็นเทวดาที่อยู่ใกล้ภูมิชิดกับมนุษย์มากที่สุด.

พระภูมิ หรือ (ภุมมะเทวดา, ภุมมัฏฐะเทวดา)เป็นหนึ่งในเทวดาชั้น จาตุมมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นต้น หนึ่งในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นตามคติพุทธ อันมีมิติทับซ้อนใกล้ชิดกับภูมิมนุษย์ จึงถือได้ว่าเป็นเทวดาที่มีความสนิทกับมนุษย์ที่สุด ซึ่งเทวดาเหล่านี้ก็อยู่ประจำในสถานที่ต่าง ๆ และกลายเป็นผู้ปกป้องสถานที่เหล่านั้นโดยปริยาย ท่านเลยเรียกว่า เทพารักษ์.

ในสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกานี้ มีความหลากหลายของเทวดาหลายกลุ่ม จะแยกให้เห็นง่าย ๆ ตามสถานที่ก่อนครับ.

1. ภุมมัฏฐะเทวดา เทวดาภาคพื้น พวกนี้จะรวมเอาทั้ง รุกขะเทวดา เทวดาประจำต้นไม้ หรือสถานที่ต่าง ๆ เช่น บรรพตเทวดา เทวดาประจำภูเขาหรือเจ้าป่า เช่นเรื่องที่เล่ามาตอนแรกข้างบน เป็นต้น มี...

1.1 ท้าววิรูปักษ์ ผู้เป็นเจ้าแห่งเหล่างู นาค และสัตว์มีพิษอื่น ๆ ประจำทิศทักษิณ

1.2 ท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรณ ผู้เป็นเจ้าแห่งเหล่ายักษ์ รากษส ภูติ ปีศาจอื่น ๆ ประจำทิศอุดร.

2. ส่วนอากาสัฏฐะเทวดาก็สองพวกครับ ดูแลส่วนบนสูงขึ้นไปในอากาศ

2.1 ท้าวธตรัฐ ผู้เป็นเจ้าแห่งคนธรรพ์ วิทยาธร และเหล่าเทวดาที่อยู่ในวิมานอากาศ ประจำอยู่ทิศบูรพา

2.2 ท้าววิรุฬหก ผู้เป็นเจ้าแห่งอสูร อยู่ประจำทิศทักษิณ.

ในครั้งพุทธกาล พระภูมิที่สถิต ณ ซุ้มประตูบ้านอนาถะปิณฑิกะเศรษฐี ได้ปรากฏกายเตือนท่านเศรษฐี เนื่องจากท่านเศรษฐีนั้นทำบุญ ทำทาน บำรุงพระศาสนาอย่างเกินกำลัง จนกระทั่งทรัพย์ในคลังลดน้อยลงอย่างมาก การเตือนด้วยความหวังดีนั้นทำให้ท่านเศรษฐีไม่พอใจ จนถึงกับขับไล่พระภูมินั้นให้ออกจากบ้านตนไป.

พระภูมิ ท่านเดือดร้อน ด้วยหาที่สิงสถิตไม่ได้จนต้องไปหาเทวดาประจำเมืองสาวัตถี...เรื่อยไปจนท้าวมหาราชทั้งสี่ ท้าวสักกะ...จนท้าวสักกะแนะนำให้ไปทำกรรมดีแล้วขอไถ่โทษ เมื่อเศรษฐีอภัยโทษให้แล้วยังได้นำพระภูมิที่ซุ้มประตู(ทวารบาล) ไปกราบขอขมาต่อพระพุทธเจ้าด้วย เพราะคำทัดทาน ตักเตือนของพระภูมิที่ให้หยุดการทำทานของเศรษฐีนั้น ย่อมรวมถึงการไม่ใส่บาตร และทำบุญเลี้ยงภัตตาหารแก่พระศาสดาและพระอรหันตสาวกด้วย เมื่อพระภูมิได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว ได้บรรลุธรรม สำเร็จเป็น โสดาบันบุคคล

ดังนั้น อย่าได้เผลอใจ เผลอจิตดูถูกคิดว่าเหล่าพระภูมิเจ้าที่นั้นเป็นเทวดาระดับล่าง ๆ เชียว เพราะพระอรรถกถาจารย์และเกจิอาจารย์หลายท่าน กล่าวไว้หลายที่ว่า ภุมมัฏฐะเทวดา และอากาสัฏฐะเทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกานั้น บางตน เป็นพระอริยะบุคคลมาแต่พุทธกาลก่อนโน้น และเป็นอริยะบุคคลในสมัยพระบรมศาสดาของเราก็เยอะแยะ

ฝากไว้พอเรียกน้ำย่อยนะครับ......

ว่าการนอนแปลกที่ นอนป่า นอนดง หรือแม้แต่นอนในโรงแรมห้าดาว ล้วนมีเจ้าที่เขาสิงสถิตอยู่ทั้งนั้น...ผมมักจะขำ ๆ เวลาบริษัทจัดทัวร์ให้ไปเที่ยว ถ้าเป็นห้องคู่(ไม่ใช่ผัวเมีย) แล้วเห็นไม่กล้านอนกัน ไปนอนอัดกันอยู่ที่อีกห้องเพราะความกลัว (ไม่ได้บอกว่าตัวเองเก่งหรอกครับ...แต่ทุกปี เพื่อนร่วมห้องก็หนีไปนอนห้องอื่นเสมอ...นอนคนเดียวตลอด อยากเจอประสบการณ์เรื่องลึกลับเสมอ...แต่ก็ยังไม่เคย)...เห็นมีแต่บางที เจอผีสาวมาเป็นตัว เป็นตนบุกห้องอยู่บ่อย ๆ จนต้องลากออกไปส่งที่อยู่เขาเสมอ

ไว้พรุ่งนี้มาต่อครับ.

Chote Vanhakij
14 สิงหาคม 2560 เวลา 21:11 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1897614847226125&id=100009328851456

* * * * *


ตอนที่ 27 "เรื่องประหลาด" "กะระณียะเมตตสูตร" (ต่อ)

"กะระณียะเมตตสูตร" (ต่อ)

กำลังอยู่ในเรื่องนอนป่าที่เขื่อนแก่งกระจานเมืองเพชรฯ อยู่นะครับ แต่เรื่องเล่า ยิ่งเล่าก็ยิ่งยาว เพราะเรื่องเกี่ยวเนื่องนั้น มีเยอะ...แต่ก็จะเอามาให้อ่านแบบค่อนข้างจุใจละครับ...ตอนนี้จะเข้าเรื่องนอนป่าแล้วทำไมต้องเจริญปริตตะมนต์บทนี้ เรื่องที่มาในบาลีตามตำราทางพุทธนั้น เอาไว้ก่อนครับ มาปูเรื่อง ด้วยเรื่องพื้นบ้านถึงเจ้าที่ เจ้าทางหรือเทพารักษ์ที่ได้แยกแยะให้อ่านกันแล้วในบทก่อน ก่อนครับ.

สำหรับคนนอนป่า หรือคนชอบทางป่า ชอบผจญภัยหลีกเลี่ยงยากครับจากความเชื่อพื้นบ้านเหล่านี้...และหลายที่ก็มักจะถือเหมือนกัน ในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในป่า ตามมาอ่านกัน...!

มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ ๒๕๐๔ ที่ดอยผาแดง อ.งาว จ.ลำปาง.

มีเรื่องเล่าว่า มีชาวต่างบ้าน ต่างเมือง ต่างความเชื่อ ต่างวัฒนธรรมกลุ่มหนึ่งเข้าป่าล่าสัตว์ พวกเขาประพฤติปฏิบัติอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง ที่สร้างความอึดอัดไม่สบายใจให้แก่พรานนำทางชาวพื้นเมือง แต่คนพื้นเมืองพูดไม่ออกเพราะเขาจ้างมา อยู่มาวันหนึ่ง คนกลุ่มนี้ก็ละเมิดกฎหรือข้อห้าม หรือกติกาเกี่ยวกับป่าอย่างฉกาจฉกรรจ์ คือหนุ่มที่เป็นหัวหน้ากลุ่มกับแฟนสาวของเขาร่วมเพศกันในป่า(ผิดผี หรือผิดป่า).

พรานพื้นเมืองไม่อาจห้ามปรามหรือแก้ไขอะไรได้ทัน เขาได้แต่จุดธูปบอกกล่าวเจ้าที่ เจ้าแดน ขอขมาไหว้สาตามลัทธิความเชื่อถือ.

แต่เจ้าที่ เจ้าแดนคงพิโรธโกรธเคืองสุดขีดจนไม่อาจอภัยให้ได้ ตกดึกคืนนั้นจึงเกิดฝนใหญ่ลมหลวง ไม้หลักหักโค่น ฝนฟ้ากระหน่ำอื้ออึงจนไฟฟืนดับไปหมด ลมกระชากเอากระโจมผ้าใบไปทั้งผืน หนาวสั่นเปียกปอนกันไปหมด ฟ้าผ่าเปรี้ยง ๆ ฟ้าร้องครืนครั่น คนที่รอดมาเล่าภายหลังว่า คนทั้งกลุ่มมองเห็นตาแก่ผมเผ้า หนวดเคราขาวโพลน ขี่หลังเสือโคร่งตัวใหญ่สูงเท่าม้า เห็นช้างโขลงใหญ่คราคร่ำเต็มป่า ตาแก่หน้าตาโกรธเกรี้ยวดุดันคนนั้นเอาไม้เท้าชี้มาที่พวกตน ช้างแต่ละตัว ตัวเท่าภูดอยก็ย่ำเข้ามา ต่างคนต่างเผ่น ต่างคนต่างแตกหนีกระเจิดกระเจิงไปคนละทิศละทาง

รุ่งเช้าทุกอย่างกลับดูสงบสงัดเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ไม้หลักหักโค่นต่าง ๆ ไม่มี เสือสางช้างร้ายที่แวดหน้าล้อมหลังไม่มี แต่กระโจมผ้าใบปลิวไปค้างบนคบไม้ยางสูงใหญ่นั้นจริง สูงขนาดพรานชาวบ้านต้องตอกทอยขึ้นไปเอาลงมาให้ หลังได้สติกันแล้ว ต่างคนต่างออกตามหากัน กู่ร้องป้องปาก ยิงปืนขึ้นฟ้า เรียกหาหมู่ชุม รวมตัวกันได้แต่ไม่ครบ ขาดไปแต่หนุ่มหัวหน้ากับแฟนสาว............ต้องกลับเข้าหมู่บ้านไปขอพ่อหลวง(กำนัน)ให้ระดมคนค้นหา ค้นอยู่สองวันไปพบหนุ่มหัวหน้ากลายเป็นศพขึ้นอืด ส่วนหญิงสาวไปติดอยู่ในถ้ำลึก ในสภาพสติแตกจำอะไรไม่ได้เสียแล้ว พูดได้แต่ว่า "กลัวแล้ว ๆ"

ชาวบ้านสรุปว่านี่คือ อำนาจเจ้าที่เจ้าแดน แต่แปลกที่ว่าไม่ใช่เจ้าป่า เจ้าเขา.

โบราณท่านว่าแบบนี้เรียกว่า "ขึด" ทางอีสานว่า "เข็ด" หรือ "เข็ดขวง".

ขึด, เข็ด, เข็ดขวง...คือสภาพไม่ปกติสุข คือหายนะหรืออุบาทว์วินาศ อันเกิดจากการกระทำที่ไม่ถูกต้องของคน หากเกิดขึ้นในป่า มักจะเรียกขึดป่า การกระทำที่จะกระทำให้เกิดขึดป่า มีหลายอย่าง เช่น เอาหม้อจ้วงน้ำจากห้วย, กอบน้ำจากห้วยใส่ปาก, ฉี่รดจอมปลวก, ฉี่รดโคนไม้ใหญ่, ฉี่ลงน้ำ, ผิดผี(ชาย หญิงสมสู่กันในป่า) รวมไปถึงอาการรุ่มร่ามไม่สำรวมต่าง ๆ

ส่วนสภาพที่เกิดขึ้น เมื่อขึดป่า ก็มี ฝนใหญ่ลมหลวง ไม้ไพรใหญ่โค่น ฟ้ามืดฟ้ามัว เสือคาบคนไปกิน ได้ยินเสียงผีปกกะโหล้งร้องตั๊กแต้ ตั๊กแต้ แวดหน้าล้อมหลัง.

แม้ปัจจุบันนี้ ชาวล้านนา หรือชาวป่าทั่วไป ก็ยังเชื่อถือเข้าป่าเก็บเห็ดหรือหาฟืน ก่อนจะกินข้าว จะเอาคำข้าววางไว้บนดินพร้อมบอกกล่าวไหว้สาผีเจ้าที่เสียก่อน จะไม่กินก่อนผี หากมีใครเผลอไปกินก่อนผี ก็มักจะไม่สบายใจกังวลหวั่นไหวไปว่าจะเกิดขึด.

แล้วทำไม? ผู้นอนป่า นอกจากระวังสัตว์ร้ายอย่างอื่นแล้ว แล้วทำไมต้องมาระวังสิ่งเหล่านี้ด้วย.

ก็ติดตามกันครับ...ไม่แน่ว่าชาวเมืองสักวันหนึ่งอาจต้องไปนอนป่า นอนรีสอร์ท หรือที่พักกลางป่าแล้วถ้าเคยอ่านเรื่องของผม ก็อาจระลึกถึงก็ได้.

วันนี้...ขอพักแค่นี้ครับ เวลามีน้อย...

Chote Vanhakij
16 สิงหาคม 2560 เวลา 23:33 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1898760847111525&id=100009328851456

* * * * *


ตอนที่ 28 "เรื่องประหลาด" "กะระณียะเมตตสูตร" (ต่อ)

"กะระณียะเมตตสูตร" (ต่อ)

ยังล่องแพไม่ถึงวันที่สามเลยครับ อ่านกันต่อเพื่อน ๆ มีงานเยอะเลยหาเวลาว่างยาก....

ก่อนจะเข้าเรื่องใหญ่ที่เกริ่นเอาไว้ ก็จะนำคติที่มีอยู่ในเรื่องเทพารักษ์ และเทวดาในชั้นจาตุมมหาราชิกามาเขียนให้อ่านก่อนครับ.

ในการขยายความและแยกแยะถึงเทวดาในชั้นนี้ ก็เขียนมามากมายพอสมควร และคิดว่าชัดเจน จนน่าจะไม่สับสนในเรื่องของเทวดาที่มีภพภูมิอันมีมิติซ้อนอยู่ในภพภูมิใกล้ชิดกับมนุษย์ จนมนุษย์อาจจะร้องขอให้ช่วยเหลือในสิ่งที่ไม่เกินกรรม ไม่ฝืนกรรม และให้ผลในทางดีได้ พร้อมกับให้โทษ หรือบันดาลให้อยู่ไม่สุขสบาย เจ็บไข้ ได้ป่วย มากน้อยแล้วแต่แรงกรรมจะช่วยผสม.

และก็คงไม่พ้นที่จะนำเอาเรื่องคติพื้นบ้านไทย ๆ ที่มีต่อเทพารักษ์เหล่านี้เข้ามาเขียนขยายความให้อ่านกัน ก่อนที่จะเข้าเรื่องโบราณอันมีมาแต่ครั้งพุทธกาลก่อนโน้น ซึ่งบางทีการเขียนเนื้อ ๆ หรือเข้าเรื่องเลย ไม่มีการเกริ่นนำ ก็อาจยากทำความเข้าใจ หรือทำให้เข้าใจไขว้เขวไปได้

หอปู่ ตา หรือศาลเทพารักษ์ประจำหมู่บ้านในทางภาคอีสาน และเหนือ คือ ศาลของเทวดาเจ้าที่ ศาลใหญ่ประจำหมู่บ้านที่อาจเป็นการบูชาถึงบรรพบุรุษผู้สิ้นชีพไปแล้ว หรือ เทพารักษ์(เทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกา)ที่เชิญมาจากภูเขา, ต้นน้ำ(ขุนห้วย), ป่าใหญ่ ฯลฯ ที่คนโบราณอาจนับถือว่าเข็ดขวง, ขึด...(ซึ่งก็เขียนถึงในบทก่อนไปแล้ว) เพื่อให้มาปกปักรักษา คุ้มครองหมู่บ้านให้ร่มเย็นเป็นสุข และเกือบทุกหมู่บ้านแม้จะนับถือพุทธศาสนา แต่ก็ไม่ทิ้งการนับถือผีเชื้อ หรือเทพารักษ์แบบนี้ เพราะรู้ว่าเป็นเทวดาในภพภูมิใกล้เคียงกับมนุษย์ และพุทธศาสนาก็ไม่เคยปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับว่า เทวดาแบบนี้จะไม่มี(แต่จะย้ำว่า แม้เทวดาอาจบันดาลอะไรให้จริง) แต่ไม่ช่วยให้พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ หากแต่มนุษย์แต่ละคนต้องปีนป่ายหาทางพ้นทุกข์ด้วยตัวเองเท่านั้น เพราะเทวดาทั้งปวงก็ยังไม่ใช่ผู้สิ้นทุกข์ หากแต่กุศลกรรมส่งผลจึงเกิดในภพภูมิที่ดีในบางช่วง บางภพ เมื่อหมดกุศลกรรม ก็อาจลงมาเสวยทุกข์พอ ๆ กับมนุษย์เช่นเดียวกัน

อ่านเรื่องที่นำมาจากข้อเขียนของ อ.มาลา คำจันทร์ ก่อนครับ...จะได้รู้จักกับคติโบราณที่น่าคิด

คนโบราณดั้งเดิม ถือผีป่า(เทพารักษ์ผู้เฝ้าป่า)ผู้รักษาต้นน้ำลำธาร...คนล้านนา และอีสานให้ความเคารพยำเกรงต่อผีป่าและผีขุนน้ำแบบนี้มาก(แม้จะจืดจางไปมากแล้วในปัจจุบัน) หากป่าตอนใดเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำ(ทางอีสานก็จะมีป่าดอนปู่ ตา หรือป่าชุมชนที่นับถือคตินี้ และช่วยกันอนุรักษ์) ป่านั้น ๆ จะได้รับการพิทักษ์หวงแหนยิ่งกว่าป่าอื่น ๆ คนจะไม่เข้าไปตัดไม้หรือล่าสัตว์เด็ดขาด ถึงเวลาอันควร เช่น ก่อนหน้าลงนาเล็กน้อย คนก็จะไปไหว้ผีขุนน้ำ ณ ต้นกำเนิดของแม่น้ำสายนั้น ๆ.

(เช่นที่เล่าแล้วในเรื่องขันธะปริตตะสูตร ในเรื่องของคนทางเมืองแก่นท้าว สปป.ลาว ที่จะเซ่นสรวง ด้วยการบนผีงูเงือกในศาลเทพารักษ์ให้ออกไปรับสัตว์สองเท้า เมื่อถึงฤดูกาลก่อนการเพาะปลูก เป็นเครื่องเซ่น จนคนที่อยู่รอบลำน้ำสายนั้นไม่กล้าลงทำกิจกรรมในช่วงเวลาที่กล่าว).

ทางล้านนา ผีขุนน้ำ(ขอให้เข้าใจว่าคือ เทพารักษ์ แต่ขอใช้คำเดิม ๆ ที่เข้าใจง่าย มาสื่อ)ไม่ปรากฏรูปร่างตัวตนว่าเป็นอย่างไร เป็น "กลุ่มผี" ที่เฝ้าต้นน้ำลำธาร ไม่ใช่ผีโดดเดี่ยวเดียวดาย แต่หมายเอาผีหลายตนที่อาจสิงสู่อยู่แถวต้นน้ำนั้น ๆ แต่เดิมอาจเป็นผีโป่ง ผีป่า หรือผีดุร้ายนานามาก่อนก็ได้ ต่อมาเห็นว่าดุร้าย หรือเฮี้ยนจัด ชาวบ้านเลยสร้างศาลอัญเชิญให้อยู่อาศัยแถวต้นน้ำนั้นเอง เมื่อสร้างที่สถิตให้แล้ว ก็บอกกล่าวร้องขอให้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาต้นน้ำลำธาร...ผีร้ายเลยกลายเป็นดีนับแต่ที่เชิญขึ้นศาล.

ผีขุนน้ำ มักได้ชื่อตามลำน้ำสายนั้น ๆ เช่น ผีขุนลาว ได้ชื่อจากแม่น้ำลาว ผีขุนออนได้ชื่อจากแม่น้ำออน เป็นต้น ถึงกาลใกล้ฤดูทำนา ชาวบ้านจะทำพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ เพื่อเป็นการขอบคุณที่ดูแลรักษาขุนน้ำ ทำให้มีน้ำใช้ในการเกษตรกรรม พิธีดังกล่าวจะจัดขึ้นที่ศาลของผีขุนน้ำในเดือน ๘ หรือเดือน ๙ ทางเหนือ (ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน).

การเลี้ยงผีขุนน้ำนั้น ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ พ่อครูหลวงอีกท่านด้านล้านนาคดี เขียนไว้ในประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย ว่าเครื่องสำรับบูชา ประกอบด้วยเทียน ๔ เล่ม ดอกไม้ ๔ กรวย หมาก ๔ ขด ช่อขาว(ธงขาว) ๘ ผืน มะพร้าว ๒ ทะลาย กล้วย ๒ หวี อ้อย ๒ เล่ม หม้อใหม่ ๑ ใบ แกงส้มแกงหวาน หัวหมู ไก่ต้ม สุราและโภชนาหาร ๗ อย่าง รวมทั้งเมี่ยงและบุหรี่เป็นต้น ส่วนวิธีการเลี้ยงผีและเซ่นสังเวยผีนั้น ท่านเขียนไว้ว่า เมื่อจัดแต่งเครื่องสังเวยพร้อมแล้วจะทำชะลอม ๓ ลูก สำหรับใส่เครื่องบูชาทั้งหลาย หาบไป ๒ ใบ คอนไป ๑ ใบ แล้วจัดทำศาลขึ้นหลังหนึ่งที่ต้นน้ำนั้น ๆ ประกอบด้วยหลักช้างและหลักม้าปักอยู่ใกล้ ๆ ศาล แล้วนำเอาเครื่องสังเวยขึ้นวางบนศาล ทำพิธีกล่าวอัญเชิญเทพารักษ์ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผีสางต่าง ๆ ซึ่งประจำรักษาอยู่ ณ ต้นน้ำลำธารสายนั้นให้มารับเครื่องสังเวยต่าง ๆ แล้วจะอ้อนวอนขอให้ผีขุนน้ำอำนวยให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล จากนั้นจะรออยู่พอสมควรแก่เวลา ก็จะนำเอาเครื่องเซ่นสังเวยเหล่านั้น มาเลี้ยงดูสู่กันกิน

ผู้เขียน(อ.มาลา คำจันทร์) เคยอ่านพบเรื่องราวเกี่ยวกับผีขุนน้ำเรื่องหนึ่ง เห็นว่าน่าสนใจ ขออนุญาต #คุณสังคีต จันทนะโพธิ ซึ่งเขียนเกี่ยวกับการเลี้ยงผีขุนน้ำออน ไว้ในหนังสือชื่อ "เปิดกรุล้านนาร่วมสมัย" ท่านเขียนไว้ว่า...

"ลำน้ำออนไหลผ่านอำเภอสันกำแพง ยาวประมาณ ๗๕ ก.ม. ชาวบ้านที่ใช้น้ำจากลำน้ำนี้ จะเลี้ยงผีขุนน้ำในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ทางเหนือ ของทุกปี จะใช้วัวดำ หมูดำ และไก่ดำ ฆ่าเลี้ยง เนื้อวัวทำแกงอ่อม หมูทำลาบ ไก่ทำไก่ย่าง จะสลับสับเปลี่ยนไม่ได้

เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ ถึงเวรตำบลทรายมูลไปเลี้ยงผีขุนน้ำ พญาอาษาราษฎร์บำรุง กำนันตำบลทรายมูลสลับสับเปลี่ยนเนื้อ ไม่ทำตามที่เคยทำกันมาแต่ก่อน ใครห้ามก็ไม่ฟัง การทำอย่างนี้ ทำให้ผีขุนน้ำไม่พอใจ บันดาลให้เกิดฝนตกฟ้าร้องอย่างหนัก น้ำเอ่อนอง พญาอาษาราษฎร์บำรุง จะข้ามน้ำ(กลับบ้าน)ให้ได้ ใครห้ามก็ไม่ฟัง น้ำซัดทั้งคนและม้าจมหายไป รุ่งเช้าจึงมีคนไปพบศพติดอยู่ที่ฝายล้อง(ร่องน้ำที่มีน้ำในหน้าฝน ๔ เดือน นอกฤดูน้ำแห้ง)วัวแดง"

เรื่องนี้คงพอสะท้อนถึงความคิด ความเชื่อและการกระทำของคนล้านนา(ในอดีต)ที่เกี่ยวกับผีขุนน้ำได้พอสมควร ผม(มาลา คำจันทร์)เองไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับผีขุนน้ำ แต่สมัยเมื่อผมยังเป็นเด็กบ้านดอยอยู่นั้น หลังบ้านผมคือดอยจอมแว่ เป็นเทือกดอยเล็ก ๆ แต่ก็ยังมีน้ำห้วยไหลอยู่ มีปลากั้งให้เห็น(#คนพื้นเมืองสมัยนั้นไม่กินปลากั้งเพราะเชื่อว่ามันคือจิ้งเหลนที่ลงไปอยู่ในน้ำแล้วกลายร่างเป็นปลากั้ง ใครกินแล้วจะเป็นขี้ทูด ปลากั้งจึงมีเยอะ) เนื้อดินของดอย ยังมีเห็ดขอน เห็ดดินให้เก็บกิน มีผักแพระ ผักป่าพออาศัยเก็บใส่หม้อแกงได้ ที่หล่ายดอยหรืออีกฟากของดอยจอมแว่ มีบ่อน้ำทิพย์ ซึ่งพออนุมานได้ว่าเป็นขุนห้วย เพราะเป็นต้นกำเนิดของน้ำห้วย น้ำบ่อทิพย์ที่ว่ามานี้เป็นตาน้ำผุดจากใต้ดิน ไหลออกจากปากบ่อ เลาะล่องไปตามหลืบดอย คนเชื่อกันว่าบ่อน้ำทิพย์รักษาโรคบางชนิดได้ ที่บ่อน้ำทิพย์นี้เชื่อกันว่า มีผีรักษา พวกเราแม้เป็นลูกเล็กเด็กดอยที่ซุกซนสดใสไปตามประสา แต่ก็ไม่กล้าจะทำทะลึ่งทะเล้นเป็นลูกวอกลูกลิง แถว ๆ บ่อน้ำทิพย์ หากจำเป็นต้องฉี่ยังยกมือไหว้ขอขมาเวลาจะฉี่ก็ต้องหันหน้าไปทางอื่นไม่หันไปทางบ่อน้ำทิพย์

การเลี้ยงผีขุนน้ำนั้น ปัจจุบันก็ยังปฏิบัติกันอยู่ ความเคารพยำเกรงต่อผี และความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมอาจลดหย่อนลง แก่นสารเนื้อในอาจหดหายไปตามกระแสความเชื่ออื่น ๆ ที่รุกล้ำเข้ามา แต่รูปแบบพิธีกรรมยังคงมีอยู่ เราคงไม่อาจบูรณะฟื้นฟูตัวความเชื่อเกี่ยวกับผีขุนน้ำให้มีผลในเชิงปฏิบัติในการรักษาป่าต้นน้ำลำธารไว้ได้ดังเดิม

เราคงไม่สามารถจะใช้ผีขุนน้ำให้เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำได้ดังเดิมอีกแล้ว ผีขุนน้ำถูกเราฆ่าตายเสียแล้ว แต่เรากลับไม่มีปัญญาสร้างเครื่องมือในการดูแลรักษาป่าที่ทรงประสิทธิภาพอย่างที่คนโบราณท่านสร้างไว้.

การที่ผม(เจ้าของเฟส) เล่าเรื่องการไปเป็นเพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งเดินทางกลับบ้านในป่าลึกเพื่อร่ำลาญาติก่อนเดินทางไปต่างประเทศ...แล้วแทรกเรื่องอื่นเพื่อเป็นการบอกเล่าความคิด อธิบายสิ่งต่าง ๆ ให้อ่านกันนั้น...ก็เพื่อจะบอกแนวคิดแบบนี้ครับ.

"การเข้าใจสิ่งต่าง ๆ โดยมีคนอธิบายให้เข้าใจชัดเจนนั้น...เหมือนปราชญ์จีนโบราณท่านพูด...การอ่านหนังสือดี ๆ หรือบทความดี ๆ สักเล่มหนึ่ง เรื่องหนึ่ง....เทียบได้กับการที่เราเดินทางหมื่นลี้ เพื่อหาประสบการณ์เอง".

วันที่สามที่เดินทางทางแพ ก็ยังสนุกสนานเหมือนเดิมครับ...กะว่ารุ่งขึ้นของวันที่สี่ บ่าย ๆ คงถึงผาน้ำหยด ร่องน้ำแคบ และลำน้ำเพชรฯ ช่วงนี้จะไหลขึ้นไปทางทิศเหนือ (ปกติไหลมาแต่ทางทิศตะวันตก สู่ตะวันออก)ก่อนไหลลงทะเลด้านอ่าวไทย...

วันหน้า มาตามเรื่องกันต่อครับ.....

@ คลิกที่นี่.. พระคาถากรณียเมตตสูตร

Chote Vanhakij
20 สิงหาคม 2560 เวลา 22:39 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1900846693569607&id=100009328851456

* * * * *

พระคาถาชินบัญชร - นาที 10:00 พระคาถากรณียเมตตสูตร
* * * * *


ตอนที่ 29 "เรื่องประหลาด" "กะระณียะเมตตสูตร" (ต่อ)

"กะระณียะเมตตสูตร" (ต่อ)

การที่พระภิกษุ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อเรียนสมถะกรรมฐานแต่สำนักอาจารย์ใดแล้ว เลือกสถานที่ที่สงบเพื่อฝึกจิตตัวเองให้เข้าสู่สมาธินั้น เป็นเรื่องธรรมดา เช่น พระป่าสายอีสาน สมัยหลวงปู่ ครูบาอาจารย์ในสมัยก่อน ๆ ในเมืองไทย...แต่ใช่ว่าจะมีแต่สมัยนี้ก็หาไม่ มีมานานแล้ว.

แต่ป่าหรือสถานที่ที่ทำความเพียรนั้น อาจมีเจ้าที่ เทพารักษ์ อยู่อาศัยมาก่อน พอมีพระเข้าไปบำเพ็ญเพียรก็อาจเดือดร้อนด้วยอำนาจตบะ ของพระภิกษุจนทำให้อยู่ลำบากต้องออกมาขับไล่โดยการแสดงร่างไปต่าง ๆ นา ๆ ให้กลัว เช่นตำนานของกระณียะเมตตะสูตรนี้...จนทำให้พระที่ยังไม่บรรลุคุณธรรมชั้นใด ๆ เกิดอาการขนพองสยองเกล้า จนต้องทิ้งสถานที่นั้น มาทูลถามพระพุทธองค์ และพระพุทธองค์ทรงสอนบทแผ่เมตตาให้ เพื่อเจริญสติแผ่เมตตาแก่เทวดา จะได้ไม่มารบกวน เบียดเบียนพระให้หวาดกลัวอีก.

ในตำนานที่ว่า หลังจากพระท่านกลับไปสถานที่นั้นอีกก็ใช้ปริตตะมนต์บทนี้แผ่เมตตาให้เทวดา จนเทวดารักใคร่ไม่ได้เบียดเบียนให้ลำบาก และพระภิกษุท่านก็ปฏิบัติธรรมจนบรรลุตามสภาวะแห่งจิตของท่าน.

จนเป็นตำนานแห่งพระคาถาที่พระใช้เป็นบทเจริญพุทธมนต์ตราบเท่าทุกวันนี้

เทพารักษ์นั้น กล่าวมาหลายตอนครับ และบางทีก็อาจจะเขียนอีกตอน สองตอน ก่อนจะเข้าสู่ตัวพระคาถาและคำแปลที่เคยใช้เจริญมนต์เมื่อครั้งนอนป่าที่เมืองเพชรฯ แต่จะนำเอาเรื่องที่น่าเกี่ยวข้องกันมาให้อ่านก่อนครับ ว่าเทพารักษ์นั้น แม้ผู้มิใช่สามัญชนก็ได้ทรงเคยประสบพบเห็นมาแล้ว เช่นเรื่องนี้.

เรื่องเกี่ยวกับเทพารักษ์ หรือเทวดาในชั้นจาตุมมหาราชิกานี้ มีอีกหลายกระแส แม้แต่กับพระมหากษัตริย์ก็ทรงได้เคยทรงประสบพบเห็นมาด้วยพระองค์เองก็มี

เช่นที่ผมจะนำเรื่องผีในพระราชพงศาวดาร ซึ่งเป็นข้อเขียนของท่าน ส.พลายน้อย มาเขียนขยายต่อให้อ่านกันตามนี้

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช ได้ประสบกับภูติ ผี, วิญญาณ, ปีศาจนี้ (บางแห่งว่าข้าราชการเป็นผู้ฝัน แล้วนำเรื่องมาทูลถวาย และบางแห่งเล่าขานกันว่าที่ลพบุรีบ้าง ที่ดงพญาเย็นบ้าง) แต่ผมจะยึดตามข้อเขียนของคุณ ส.พลายน้อยเป็นหลักว่า...เดิมเมื่อปี ร.ศ.๑๒๕ (พ.ศ.๒๔๔๙ ) ขณะดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารนั้น พระองค์ได้ทรงประสบหลายครั้ง ที่นับว่าสำคัญเรื่องหนึ่งคือ ท้าวหิรัณยฮู หรือท้าวหิรันยพนาสูร มาขอเฝ้า เป็นราชองครักษ์ ตามจดหมายเหตุที่บันทึกไว้ดังต่อไปนี้.

เมื่อครั้งเสด็จมณฑลพายัพ เมื่อจะออกเดินทางจากอุตรดิตถ์ไปในทางป่า เวลานั้น ผู้ที่ตามเสด็จพระราชดำเนินพากันมีความหวาดหวั่น เพราะเกรงกลัวความไข้และภยันตรายต่าง ๆ ซึ่งจะพึงมีมาได้ในกลางทางป่า จึงได้ทรงพระกรุณาดำรัสชี้แจงว่า "ธรรมดาเจ้าใหญ่นายโต จะเสด็จแห่งใด ๆ ก็ดี คงจะมีทั้งเทวดาและปีศาจ ฤาอสูร อันเป็นสัมมาทิฏฐิคอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวง มิให้มากล้ำกรายพระองค์และบริพารผู้โดยเสด็จได้ ถึงในการเสด็จครั้งนี้ก็มีเหมือนกันอย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดมีความวิตกไปเลย"

ต่อนั้นไปมีผู้ที่ตามเสด็จผู้หนึ่งกล่าวว่าฝันเห็นชายผู้หนึ่งรูปร่างลำสันใหญ่โต ได้บอกกับผู้ที่ฝันนั้นว่า ตนชื่อหิรันย์เป็นอสูรชาวป่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ ในครั้งนี้จะมาตามเสด็จพระราชดำเนินไปในกระบวน เพื่อคอยดูแลระวังมิให้ภยันตรายทั้งปวงอันจะพึงบังเกิดมีขึ้นได้ในระยะทางกลางป่านั้น มากล้ำกรายพระองค์ฤาราชบริพารได้

ครั้นทรงทราบความเช่นนั้นจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้จุดธูปเทียน และเครื่องโภชนาหารไปเซ่นที่ในป่าริมพลับพลา และเวลาเสวยค่ำทุก ๆ วัน ก็ได้ทรงพระกรุณาให้แบ่งพระกระยาหารจากเครื่องไปตั้งเซ่นเสมอ.

ภายหลังจากคราวที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลพายัพนั้น แม้จะเสด็จพระราชดำเนินไปแห่งใด ก่อนที่จะเสด็จจากกรุงเทพฯ ข้าราชบริพารก็ได้พร้อมใจกันน้อมเชิญหิรันยอสูรให้ตามเสด็จด้วย และโดยมากเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปโดยสวัสดิภาพแล้วก็พากันกล่าวว่าเพราะหิรันยอสูรตามเสด็จไปด้วย บางคราวบางสมัยเมื่อเสด็จไปประทับอยู่ในหัวเมือง ถึงกับมีผู้ได้อ้างว่าแลเห็นรูปคนร่างกายใหญ่ล่ำสัน ยืนฤานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใกล้ ๆ ที่ประทับ แลอ้างว่าได้แลเห็นพร้อม ๆ กันหลายๆ คนก็มี.

การที่มีผู้นิยมเชื่อถือในหิรันย์เช่นนี้ มิใช่แต่เฉพาะในหมู่ผู้ที่เป็นราชบริพารที่ตามเสด็จไปในกระบวนเท่านั้น แต่ข้าราชการฝ่ายเทศาภิบาลก็พลอยนิยมเชื่อถือไปด้วย การที่มีผู้นิยมเชื่อถือเช่นนี้จะมีมูลหรือไม่อย่างไรก็ดี จึงทรงพระราชดำริว่า "ธรรมดาคนโดยมากยังละเว้นความประสงค์ที่จะหาเทวดาฤามนุษย์เป็นที่พึ่งคุ้มกันภยันตรายต่าง ๆ นั้นมิได้ขาดทีเดียว เมื่อมีที่นิยมยึดเหนี่ยวอยู่เช่นหิรันยอสูรนี้เป็นต้น ก็มักจะทำให้เป็นที่อุ่นใจในการที่จะเดินทางไปในถิ่นทุรกันดาร ถ้าแม้ใจดีอยู่แล้วก็มักจะไม่ใคร่เป็นอันตราย" เมื่อทรงพระราชดำริดังนี้ จึงได้ทรงตกลง คงเซ่นหิรันยอสูรต่อมา คือให้แบ่งพระกระยาหารเสวยจากเครื่องเซ่นที่เคยทำมาแล้ว ครั้งเสด็จประพาสมณฑลพายัพนั้นเป็นธรรมเนียมต่อมา.

ครั้นปี ร.ศ.๑๒๙ ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)ทรงคำนึงถึงหิรันยอสูรซึ่งนิยมกันว่าได้เคยตามเสด็จพระราชดำเนินมาหลายแห่ง หลายหน การเสด็จพระราชดำเนินในแห่งใด ๆ ก็ได้เป็นไปโดยสวัสดิภาพและเป็นที่อุ่นใจแห่งข้าราชบริพารทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อรูปหิรันยอสูรด้วยทองสัมฤทธิ์แล้วเสร็จบริบูรณ์ในเดือนเมษายน ร.ศ.๑๓๐.

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องสังเวยเซ่นสรวง ตามสมควรแล้ว ขอเชิญหิรันยอสูรเข้าสิงสถิตในรูปสัมฤทธิ์ และทรงขนานนามพระราชทานใหม่ว่า ท้าวหิรันยพนาสูร มีชฎาเทริดอย่างไทยโบราณและไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศสืบไป.

เรื่องการหล่อรูปท้าวหิรันยพนาสูรเพื่อประดิษฐานที่พระราชวังพญาไทย(ซึ่งเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎในปัจจุบัน)ผู้เขียน(ส.พลายน้อย)เคยอ่านในหนังสือเล่มหนึ่งตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนในหนังสือเล่มนั้นเรียกว่าท้าวหิรันยฮูได้เล่าว่าเมื่อตอนที่ฝรั่งนำรูปหล่อขึ้นตั้งบนแท่นนั้นได้ใช้เชือกล่ามผูกคอท้าวหิรันยพนาสูรชักรอกขึ้นไป

ขณะที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นปรากฏว่านายช่างฝรั่งมีอาการหายใจไม่ออก มือไขว่คว้าไปมาทำให้คนตกใจกันมาก มีผู้เฉลียวใจคิดว่าอาจเป็นเพราะท้าวหิรันยพนาสูรไม่พอใจในการกระทำเช่นนั้นก็ได้ จึงได้จุดธูปกล่าวขอขมาลาโทษเหตุร้ายก็สงบไป

เสียดายที่หนังสือเล่มนั้นหายเสีย ไม่เช่นนั้นก็จะทราบรายละเอียดอื่น ๆ อีกมาก

เรื่องต่าง ๆ ดังได้กล่าวมานี้ จะเห็นว่าเรื่องของวิญญาณ หรือเจตภูต, อทิสมานกาย ตลอดจนอำนาจลี้ลับอะไรต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ไม่อาจจะพิสูจน์ให้เห็นได้ นอกจากจะบังเกิดขึ้นแก่คนใดคนหนึ่งหรือมีผู้ประสบด้วยตนเองเท่านั้นจึงจะตอบได้ว่า จริง หรือไม่จริง

อย่างไรก็ตามเป็นการไม่บังควรที่จะลบหลู่สิ่งเคาระของคนเป็นอันมาก

รูปท้าวหิรันยพนาสูรดังกล่าวนี้ สูงราว ๑๐ นิ้วปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งกรัณยสภาในพระบรมมหาราชวัง ยังมีการตั้งเครื่องสังเวยทุกวันก่อนเวลา ๑๑.๐๐ น. และตามคำบอกเล่าของพระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) กล่าวว่าพระยาอนุศาสนจิตรกร (จันทร จิตรกร) เป็นผู้เขียนรูปร่างท้าวหิรันยพนาสูรตามพระราชดำรัส (มีอีกกระแสหนึ่งว่า ทรงพระสุบินเห็นรูปร่างของอสูรนั้น) และได้ปั้นแบบตามร่างภาพนั้น

พระมหาเทพกษัตรสมุห ได้เล่าต่อไปว่าเคยมีรูปหล่อท้าวหิรันยพนาสูรประดิษฐานอยู่ที่หน้ารถพระที่นั่ง แต่จะเป็นรูปเดียวกันกับที่กล่าวถึงนี้หรือเปล่า?...ไม่ทราบได้.

อนึ่ง เมื่อทรงสร้างวังพญาไทยแล้วโปรดให้หล่อรูปท้าวหิรันยพนาสูรขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๕ ด้วยทรงต้องการให้ท้าวหิรันยพนาสูรเป็นเทพารักษ์ประจำวังพญาไท

และตอนต่อไป จะนำเรื่องของเทพารักษ์ที่อยู่ใจกลางเมืองมาเล่าต่อ ก่อนจะจบบทความตอนนี้ จะได้สมบูรณ์ครบถ้วนกระบวนความ โดยเอาข้อความเหล่านี้มาแสดงให้ทราบถึงสี่แยกมหาเทพ ใจกลางย่านธุรกิจในกรุงเทพฯ มาพูดถึง...ตามนี้.......

อาถรรพ์แรกคือ พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ซึ่งสามัญชนคนธรรมดาจะมาทำการค้าอาศัยอยู่ไม่ได้ เพราะแรงสาปแช่งที่มีต่อพื้นที่ตรงนี้ นอกเสียจากจะให้ทางญาติมาทำพิธีถอนคำสาป.

อาถรรพ์ที่สอง สมัยสงครามโลกมีการทิ้งระเบิดแถว ๆ วังเพชรบูรณ์และโดยรอบ ทำให้มีคนล้มตายกันเยอะ ส่วนหนึ่งเขาจะเอาศพมากองไว้แถบ ๆ ย่านนี้ ทำให้มีวิญญาณคนตาย ยังวนเวียนไม่ยอมไปไหน เพราะตายโหง ธุรกิจร้านค้าแถบ ๆ นี้ ทุก ๆ ปี หากไม่ทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้คนตาย หรือทำพิธีทางจีน ยากที่ธุรกิจจะประสบผลสำเร็จ

อาถรรพ์ที่สาม การย้ายศาลพระตรีมูรติไปไว้ที่ฝั่ง zen ซึ่งแต่เดิมอยู่ตรงหัวมุมถนนพระราม 1 ซึ่งตั้งมานาน เมื่อมีการย้าย จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ห้างสมัยที่เสื้อแดงมาชุมนุมที่ตรงนี้ เพราะการเกิดแรงปะทะ ที่ไม่ดีตรงสี่แยก ที่คนโบราณท่านได้สร้างไว้แก้อาถรรพ์ ถ้าไม่ย้ายศาลไป ห้างคงไม่เกิดไฟไหม้

อาถรรพ์ที่สี่เมื่อย้ายพระตรีมูรติไปไหว้ที่ฝั่ง zen ประกอบกับการสร้างรถไฟฟ้า ทำให้เกิดแรงปะทะ กระแสในแนวราบ วิ่งไปมาของรถไฟฟ้าทั้งสองสาย มาปะทะกันตรงสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งห้าง CTW ก็โดนเต็ม ๆ นานเข้าแรงปะทะเมื่อถึงจุดระเบิด เพราะไม่มีอะไรมาแก้ได้ จึงเกิดไฟไหม้ขึ้นอยู่บ่อย ๆ

เดาออกไหมครับ?

ที่ไหน?

Chote Vanhakij
21 สิงหาคม 2560 เวลา 23:18 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1901350756852534&id=100009328851456

* * * * *


ตอนที่ 30 "เรื่องประหลาด" "กะระณียะเมตตสูตร" (ต่อ)

"กะระณียะเมตตสูตร" (ต่อ)

การพูดถึงพระภูมิเจ้าที่ เทพารักษ์ชั้นจาตุมมหาราชิกาที่ผ่านมาก็คิดว่าพอสมควรแก่เรื่องที่เขียนแล้ว แต่จะนำเอาเรื่อง เทพารักษ์ชั้นผู้ใหญ่ที่เสด็จมาสถิตยังพระรูปปั้นกลางเมืองหลวงมาเล่าต่อละกัน...จะได้ชัดเจนขึ้น.

(ไม่เอางมงายหรอกนะครับ)...แต่จะเอาข้อเขียนที่เขียนโดยนักเขียนดังท่านหนึ่ง มาเขียนต่อให้อ่านกันพอเบา ๆ ถึงเทพที่ดูแลสถานที่ในแต่ละแห่งบ้าง ในป่า นอกป่าบ้าง พอให้ได้รู้สำหรับคนไม่รู้ จะได้เปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น.

ดังจะเอาเรื่องศาลท้าวมหาพรหมนี่แหละ มาเขียนให้อ่าน...ศาลพระพรหมนั้นก่อนจะตั้งมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านสมถะกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน เป็นผู้แนะนำให้ตั้ง ก่อนจะตั้งก็มีเรื่องเล่าตามนี้ครับ

ที่โรงแรมเอราวัณนั้นมีศาลท่านท้าวมหาพรหมที่รู้จักกันดีโดยคนที่แนะนำให้ตั้งคือ พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ร.น.(ราชนาวี...ในราชการกองทัพเรือ)เป็นผู้ติดต่อและอัญเชิญ

เมื่อทางรัฐบาลสมัยนั้น มีความเห็นว่าโรงแรมเอราวัณเก่านั้น ที่เป็นที่เชิดหน้า ชูตาของเมืองไทยสมัย ๒๐ กว่าปีมาแล้วนี้...เล็กเกินไป ไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้เพียงพอ จึงสั่งการรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นโรงแรมใหม่ ประชาชนคนไทยส่วนมากที่เคยไปสักการะท่านท้าวมหาพรหมที่มุมโรงแรมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ต่างพากันใจหายใจคว่ำ เกรงว่าทางราชการจะรื้อศาลที่ท่านท้าวมหาพรหมสถิตอยู่

แต่ทุกวันนี้ ศาลทุกอย่างยังเหมือนเดิมเพราะไม่มีใครกล้าไปแตะต้อง แม้โรงแรมเอราวัณจะถูกทุบทิ้งไปแล้วก็ตามทั้งนี้ด้วยผู้ใหญ่ในรัฐบาลท่านทราบดีถึงประวัติความเป็นมาของศาลท่านท้าวมหาพรหม ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ ผม(เจ้าของเฟส)จึงขอนำมาขยายต่อ เพื่อเป็นการยืนยันว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นมีจริง(แต่อย่างมงายจนถึงกับไม่ช่วยเหลือตัวเอง) วิญญาณของเทพเบื้องบนมีจริง ผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูงเท่านั้นจึงจะสามารถติดต่อได้

ซึ่งท่านผู้นั้นในอดีตคือ ท่านอาจารย์ พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. อดีตนายแพทย์ใหญ่กรมแพทย์ทหารเรือผู้เพียรปฏิบัติสมถะกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน จนล่วงรู้ถึงขั้นที่เรียกว่า มีอภิญญา ๖ เช่น หูทิพย์ ตาทิพย์ และมีอำนาจจิตอันเป็นที่ยอมรับนับถือจากประชาชนทั่วไป ตลอดจนนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตราบจนท่านถึงแก่อนิจกรรม

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อสมัยเริ่มก่อสร้างโรงแรมเอราวัณใหม่ ๆ นั้น มีอุปสรรคมากมายอย่างไม่คาดฝัน อาทิ การสั่งซื้อสิ่งของอุปกรณ์มาแล้วใช้ไม่ได้ เพราะผิดขนาดและผิดความต้องการของฝ่ายช่างเสมอ ทั้งคนงานก็ทำผิดวัตถุประสงค์ ต้องแก้ไขทำใหม่เป็นเหตุให้เสียเวลาอยู่เป็นนิจ

ข้อสำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าช่างปูน ช่างเหล็กมักจะประสบอุบัติเหตุถึงแก่เลือดตกยางออกอันเป็นเหตุให้คนงานเสียขวัญไปตาม ๆ กัน จึงทำให้ผลงานล่าช้ายิ่งขึ้นจนถึงจะทำให้การก่อสร้างโรงแรมเอราวัณหยุดชะงักได้

เมื่อเรื่องทราบถึง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และประธานกรรมการบริหารโรงแรมเอราวัณสมัยนั้น ว่าการก่อสร้างดูท่าจะไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ท่านจึงได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริการ เพื่อปรึกษาหารือถึงวิธีแก้ไขความล่าช้าในการก่อสร้างโรงแรม ซึ่งได้มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้แนะนำให้ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ติดต่อขอความช่วยเหลือจากท่านอาจารย์ พล.ร.ต.หลวงสุวิชานแพทย์เป็นการด่วน ด้วยท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์เป็นผู้ที่สามารถหยั่งรู้เหตุการณ์ที่มิชอบด้วยประการทั้งปวง และมีความสามารถในทางมหัศจรรย์ที่คนธรรมดาสามัญไม่มีทางจะรู้เท่าทันท่านได้.

พล.ต.อ.เผ่า ได้ยินเช่นนั้น ประกอบกับเคยได้ยินกิตติศัพท์ของคุณหลวงสุวิชานแพทย์ มาก่อนแล้ว จึงรับคำแนะนำของผู้ใหญ่ท่านนั้น และได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ม.ล.จเร สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ควบคุมการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ ไปติดต่อหารือคุณหลวงสุวิชานแพทย์ เพื่อขอให้ท่านกรุณาตรวจดูว่า อุปสรรคทั้งหลายในการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณนี้มีมูลเหตุมาจากสิ่งใด และมีวิธีแก้ไขให้หมดสิ้นไปได้อย่างไร เพื่อให้การก่อสร้างเสร็จตามกำหนด

เมื่อ พล.ต.ต ม.ล. จเร สุทัศน์ฯ ได้ไปพบท่านคุณหลวงสุวิชานฯแล้ว ได้เรียนให้ท่านทราบเรื่องราวโดยละเอียด ท่านคุณหลวงสุวิชานฯ นั่งสมาธิตรวจดูเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงได้พบว่าสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดอุปสรรคนานาประการในการก่อสร้างครั้งนี้ มาจากการตั้งชื่อโรงแรมแห่งนี้ว่า "เอราวัณ" นั่นเอง เพราะคำว่า "เอราวัณ" นี้เป็นนามของช้างทรงของพระอินทร์.

(ส่วนสาเหตุอื่น มีว่าเช่นเจ้าของสถานที่เดิมท่านสาปแช่งไว้ ขอไม่กล่าวถึงด้วยจะกระทบถึงหลายส่วน).

ท่านจึงได้แนะนำ จะต้องแก้ไขด้วยการบอกกล่าวขออำนาจต่อท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ ขอบารมีพระองค์ท่านจงดลบันดาลให้สิ่งที่ร้ายทั้งหลายกลับกลายเป็นดี การก่อสร้างโรงแรมนี้จึงจะลุล่วงได้ทันตามกำหนด และเมื่อก่อสร้างโรงแรมเรียบร้อยแล้ว จะต้องตั้งศาลท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ถวายแด่พระองค์ท่านทันที....

และการสร้างถวายท่านท้าวมหาพรหมนั้น พระองค์ท่านโปรดตรงมุมของโรงแรม ด้านสี่แยกราชประสงค์

สำหรับศาลของท่านท้าวมหาพรหมนี้ คุณเจือระวี ชมเสวี, ม.ล.ปุ่น มาลากุล เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ ส่วนพระรูปหล่อจำลองนั้น คุณจิตร พิมพ์โกวิท ช่างโทในสมัยนั้นที่ประจำกองแผนกหัตถศิลป์ กรมศิลปากรเป็นช่างปั้น ตามแบบแผนของกรมศิลปากร โดยการค้นคว้าของพระยาอนุมานราชธน เมื่อสร้างศาลท่านท้าวมหาพรหมเสร็จแล้ว จึงได้ประกอบพิธีอัญเชิญขึ้นประทับเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ โดยท่าน พล.ร.ต.หลวงสุวิชานฯ ร.น.ได้มอบหมายให้คุณประยูร วงศ์ผดุง เป็นผู้ทำพิธีด้วยการติดต่อทางจิต ผ่านคุณหลวงสุวิชานฯ ซึ่งเป็นผู้ชี้แนะทั้งสิ้น.

เรื่องราวมหัศจรรย์เกี่ยวกับองค์ท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณนี้เมื่อครั้ง พล.ร.ต.หลวงสุวิชานฯยังมีชีวิตอยู่ท่านเคยเล่าถึงองค์เทพที่สถิตอยู่ในรูปปั้นท่านท้าวมหาพรหมว่า แท้ที่จริงคือทิพย์วิญญาณพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 4 ของกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง.

จากการตรวจด้วยตาใน(ทิพยจักษุ)และการติดต่อทิพย์วิญญาณทางสมาธิจิต คุณหลวงสุวิชานได้เล่าถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า หลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จสวรรคตแล้วได้ไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหมทรงมีตำแหน่งหน้าที่เป็นรองท่านท้าวมหาพรหมและได้รับพระนามใหม่ว่า..."ท่านท้าวเกศโร" ซึ่งเมื่อพล.ร.ต.หลวงสุวิชานฯได้ทำพิธีประดิษฐานพระรูปปั้น ขององค์ท่านท้าวมหาพรหม ได้อัญเชิญพระวิญญาณให้มาสถิตอยู่ที่พระรูปปั้นด้วย เพื่อให้ช่วยปัดเป่าความทุกข์ยากและความเดือดร้อนของประชาชนที่มาสักการะ ซึ่งตามปกติผู้รู้ท่านว่า จะเสด็จมาประทับที่พระรูปปั้นทุกวัน ยกเว้นวันพระ.

("พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เป็นกษัตริย์จริงหรือไม่ ถ้าถือเอาตามหลักพฤตินัย ต้องถือว่าใช่เพราะพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระเชษฐาของพระปิ่นเกล้า เมื่อครั้งจะรับตำแหน่งเป็นกษัตริย์นั้นได้ระบุว่าให้ยกพระปิ่นเกล้าเป็นกษัตริย์เสมอกันด้วย.

ตามคำกราบบังคมทูลว่า "ขออัญเชิญพระบาทสมเด็จพระอนุชาธิบดีเจ้าฟ้ามงกุฎฯ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ".

ซึ่งคำข้างต้นเป็นคำกราบบังคมทูลเชิญเป็นกษัตริย์ซึ่งเห็นได้ว่ามีการระบุถึง ๒ พระองค์ คือเจ้าฟ้ามงกุฎฯ(พระจอมเกล้า) และเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์(พระปิ่นเกล้า). ดังนั้นตำแหน่งของพระปิ่นเกล้าจึงเป็นกษัตริย์ตามนิตินัย(โดยทางกฎหมาย)).

เขียนเรื่องล่องแพของตัวเอง แต่เขียนเกี่ยวกับเรื่องอื่นซะยาว...จนนอกเรื่องไปเยอะ.

ก็เอาพอย่อ ๆ ครับ...ขอจบห้วน ๆ วันหลังค่อยมาต่อกัน.

Chote Vanhakij
25 สิงหาคม 2560 เวลา 20:10 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1903412673313009&id=100009328851456

* * * * *