"คู่มือ...ทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์" (ฉบับรีไซเคิ้ล) เล่มนี้ ผมขออนุญาตเรียกอย่างนี้ เพราะกระดากที่จะเรียกว่า "ตำรา" ผมเขียนขึ้นจากประสบการณ์ในการทำกับข้าวด้วยตนเองเกือบจะทุกวัน ตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่จนเกือบจะลาจากโลกใบนี้ไปแล้ว ส่วนหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นส่วนมากที่สุดมาจากความทรงจำในอดีต ที่ได้อาสาเป็นลูกมือช่วยผู้ใหญ่ทำกับข้าวอยู่เสมอ... และทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ผมได้ตรวจสอบชำระข้อความบางท่อนบางตอนที่เป็นส่วนสาระสำคัญกับหนังสือ "ตำราทำกับข้าวเมืองเหนือ" เขียนโดย คุณสงวน โชติสุขรัตน์ ซึ่งเป็นบรมครูทางการหนังสือพิมพ์ขั้นปฐมของผม แล้วนำมาคลุกเคล้าผสมผสานเรียบเรียงเขียนขึ้นมาใหม่ในเชิง "เล่าสู่กันฟัง" ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่คนรุ่นใหม่ จะได้นำเอาไปเป็น "คู่มือ" อนุรักษ์การทำกับข้าวของเมืองเหนือ ให้คงอยู่ถึงคนรุ่นต่อๆไป โดยคำนึงถึงวิธีการการทำกับข้าวเพื่อให้ทำกันได้อย่างง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร
"โปรดสังเกต.. ที่ช่อง url ด้านบนซ้าย ถ้าเป็น https กรุณาเปลี่ยนเป็น http แล้วกด enter เข้ามาใหม่ครับ"
@ คลิกที่นี่ ดูบนyoutube... @ ภาพรับปริญญามีต่อที่นี่... @ และที่นี่อีกจ้า... @ บัณฑิตรามฯรุ่น38(2555) ทุกคณะและทุกคน โหลดคลิปที่นี่...

วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

แนะนำสถานที่น่าท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน


วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร

จังหวัด "ลำพูน" มีสถานที่น่าท่องเที่ยวและน่าทัศนาอยู่มากมายหลายแห่ง ทั้งที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองลำพูนเอง และตามอำเภอต่าง ๆ ถ้าจะ "แอ่ว" (เที่ยว) ให้ทั่วถึงกันจริงๆแล้ว ใช้เวลาประมาณ 7 วันกำลังพอดีๆ ไม่เนิ่นนานและก็ไม่เร็วจนเกินไป โดยเริ่มต้นจากในตัวอำเภอเมืองก่อน "แอ่ว" ไปเรื่อยๆ เมื่อครบแล้ว จึงค่อยออกไปตามอำเภอต่างๆ ซึ่งอยู่รอบนอกอีกต่อไป...

ก่อนอื่นใด...เมื่อท่านเหยียบย่างเข้าตัวอำเภอเมืองลำพูนแล้ว สถานที่แห่งแรกที่สุดที่ผมขอแนะนำให้ท่านไปสักการะบูชา และกราบไหว้ เพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งแก่ตัวเองและครอบครัวของท่านกันก่อน คือ พระบรมธาตุ "หริภุญชัย" แล้วถือโอกาสเดินเที่ยวชมภายในบริเวณวัดไปด้วย

"วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร" หรือที่ชาวเมืองเรียกกันว่า "วัดพระธาตุ" เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดทางภาคเหนือ ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองลำพูน ริมฝั่งแม่น้ำกวงด้านทิศตะวันตก ห่างจากศาลากลางจังหวัดลำพูนเพียง 150 เมตรเท่านั้น อาณาเขตของวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ มีถนนล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ด้านทิศเหนือ คือ ถนนอัฏฐารส ด้านทิศใต้ คือ ถนนไชยมงคล ด้านทิศตะวันออก คือ ถนนรอบเมือง และด้านทิศตะวันตก คือ ถนนอินทยงยศ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 1440 ในสมัย "พระยาอาทิตยราช" กษัตริย์ผู้ครองเมือง "หริภุญชัย" เป็นลำดับที่ 33 และได้รับการบูรณะซ่อมแซมต่อเติมต่อเนื่องกันมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบันนี้

เริ่มต้นกันที่ถนนรอบเมืองซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของตัวอำเภอเมืองลำพูน หรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกวง ด้านประตู "สิงห์คู่" ตรงกันข้ามกับสะพาน "ท่าสิงห์พิทักษ์" เป็นทางเข้าวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ซึ่งประตูสิงห์คู่หันหน้าไปทางแม่น้ำกวงหรือทิศตะวันออก แต่ก่อนที่จะเข้าไปในบริเวณวัด จะต้องผ่านซุ้มประตูฝีมือโบราณสมัย "ศรีวิชัย" ซึ่งก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็นชั้นๆ เบื้องหน้าซุ้มประตูมี "สิงห์" ใหญ่คู่หนึ่ง ยืนเป็นสง่าบนแท่นสูงประมาณ 1 เมตร (ข้างละตัว) ปั้นขึ้นในสมัย "พระยาอาทิตยราช" เมื่อทรง "ถวายวัง" ให้เป็น "สังฆาราม"

เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้ว เบื้องหน้าจะเป็น "พระวิหารหลวง" ซึ่งเป็นพระวิหารหลังใหญ่ มีระเบียงรอบทั้งสี่ด้าน และมีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล และประกอบศาสนกิจทุกๆวันพระ พระวิหารหลวงหลังนี้สร้างขึ้นใหม่แทนพระวิหารหลังเก่าซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไปเมื่อปีพุทธศักราช 2466

ภายในพระวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธปฏิมาใหญ่ 3 องค์ ก่ออิฐ ถือปูน และลงรักปิดทองบนแท่นแก้ว รวมกับพระพุทธปฏิมาขนาดกลาง หล่อด้วยโลหะในสมัยเชียงแสนชั้นต้น และชั้นกลาง อีกหลายองค์ด้วยกัน

ด้านหลังของพระวิหารหลวง เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมธาตุ "หริภุญชัย" ซึ่งตั้งเด่นเป็นสง่า เมื่อยามต้องกับแสงอาทิตย์ จะเปล่งประกายเป็นสีทองสดใสแวววาว สร้างมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 1440 สมัย "พระยาอาทิตยราช" และได้สร้างเสริมกันต่อๆมาโดยลำดับ จนกระทั่งเป็นพระเจดีย์แบบล้านนาไทยแท้ๆ (ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบัน) ในสมัย "พระเจ้าติโลกราช" เมื่อปีพุทธศักราช 1986

เมื่อถึง "วันวิสาขบูชา" หรือ "วันเพ็ญเดือนหก" ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (ภาคกลาง) หรือเดือน 8 (ภาคเหนือ) หรือที่ชาวเมืองเรียกกันว่า "วันแปดเป็ง" ของทุกๆปี จะมีพิธีสักการะบูชาสรงน้ำและงานสมโภชพระบรมธาตุ "หริภุญชัย"


พระสุวรรณเจดีย์

"พระสุวรรณเจดีย์" ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ทางด้านขวาของพระบรมธาตุ "หริภุญชัย" สร้างขึ้นในสมัย "พระยาอาทิตยราช" และ "พระนางปทุมวดี" ซึ่งเป็นอัครมเหสี ภายหลังจากสร้างปราสาทครอบพระโกศทองคำ ซึ่งบรรจุพระโกศพระธาตุพระพุทธเจ้าอยู่ข้างในเสร็จได้ 4 ปี "พระสุวรรณเจดีย์" องค์นี้ สร้างเป็นทรงปรางค์สี่เหลี่ยม ฝีมือช่างละโว้ มีพระพุทธรูปประจำซุ้มเป็นฝีมือแบบขอมปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง ส่วนยอดของพระเจดีย์หุ้มด้วยทองเหลือง สำหรับภายใต้ฐานล่างเป็นกรุบรรจุ "พระเปิม" ซึ่งเป็นพระเครื่องยอดนิยมไม่แพ้ "พระรอด" ของวัดมหาวันวนารามเช่นกัน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย

"พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย" ตั้งอยู่ที่ถนนอินทยงยศ เยื้องกับด้านหลังของวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ เริ่มการก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2470 โดย "พระยาราชนิกุลวิบูลย์ภักดี" สมุหเทศาภิบาล มณฑลพายัพ เริ่มแรกได้อาศัยใช้ศาลาซึ่งอยู่ด้านหลังของพระบรมธาตุหริภุญชัย (ด้านทิศตะวันตก) เป็นสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ฯชั่วคราว ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ (ใช้อยู่ในปัจจุบัน) เสร็จเมื่อปีพุทธศักราช 2517 ซึ่ง "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ" เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเมื่อปีพุทธศักราช 2522

ภายในพิพิธภัณฑ์มี "ศิลาจารึก" อาวุธยุทธภัณฑ์ในการรบพุ่งของคนในสมัยโบราณ เช่น ง้าว, หอก, ดาบ, ปืนเล็กยาว, ปืนใหญ่, เหรียญเงิน, เงินรูปช้าง-รูปสิงห์ และพระราชวังจำลอง เป็นต้น รวมทั้งได้จัดให้มีการแสดงโบราณวัตถุ-ศิลปะ สมัย "หริภุญชัย" ซึ่งมีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ 17-19 และศิลปะ "ล้านนา" มีอายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 19-25

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. วันพุธถึงวันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์, วันอังคาร และวันนักขัตฤกษ์)

อนุสาวรีย์สุเทวฤๅษี

"อนุสาวรีย์สุเทวฤๅษี" ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน "สุเทวฤๅษี" หรือ "วาสุเทพฤๅษี" เป็นผู้สร้างเมือง "หริภุญชัย" หรือ "ลำพูน" ในปัจจุบัน โดยได้เกณฑ์พวกเมงคบุตรเชื้อสายมอญมาสร้าง เมื่อสร้างเสร็จเนื่องจาก "สุเทวฤๅษี" หรือ "วาสุเทพฤๅษี" เป็นผู้บำเพ็ญสมาบัติ (การเข้าฌาน) จึงได้ไปเชิญหน่อกษัตริย์จากเมืองละโว้มาปกครองเมืองแทน "พระยาจักวัติ" ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเมืองละโว้ในขณะนั้นไม่มีราชโอรส จึงได้ส่งราชธิดา คือ "พระนางจามเทวี" มาแทน พระนางจึงเป็นกษัตริย์ครองเมือง "หริภุญชัย" เป็นองค์แรก ซึ่งบ้านเมืองได้เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นมั่นคง และมีกษัตริย์ครองเมืองสืบต่อมาอีกหลายราชวงศ์

นอกจากนี้ "สุเทวฤๅษี" หรือ "วาสุเทพฤๅษี" ยังเป็นกำลังสำคัญช่วยเหลือ "พระนางจามเทวี" ให้ประดิษฐานพระบวรพุทธศาสนาในนคร "หริภุญชัย" อย่างมั่นคงอีกด้วย

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี

"อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี" ตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะ "หนองดอก" ห่างจากศาลากลางจังหวัดลำพูนไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ "พระนางจามเทวี" ปฐมกษัตริย์ของนคร "หริภุญชัย" ผู้ทรงมีคุณธรรมและเป็นนักปราชญ์ผู้กล้าหาญ

"อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี" นี้ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฎราชกุมาร" ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2525


วัดมหาวันวนาราม

ยังครับ...ยัง...ยังไม่ได้ออกไปที่ไหนไกลๆ ยังคงวนเวียนอยู่ภายในตัวอำเภอเมืองลำพูนนี่แหละ เพราะยังมีสถานที่น่าท่องเที่ยวน่าทัศนาที่ควรจะแนะนำอีกมากมายหลายแห่ง ผมจะลำดับให้ฟัง (อ่าน) ไป "ทีละแห่งๆ" จนกว่าจะหมด แล้วจึงจะพาออกจากตัวเมือง ไปเที่ยวตามอำเภออื่นๆอีกต่อไป ซึ่งสถานที่น่าท่องเที่ยวน่าทัศนาก็ไม่น้อยหน้าไปกว่าในตัวอำเภอเมืองสักเท่าไรนัก เอ้า...ผมจะไม่พูดพล่ามทำเพลงให้มันยืดเยื้อกันละครับ เอาเป็นว่า ผมจะขอต่อตรงที่...

"วัดมหาวันวนาราม" ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดลำพูนประมาณครึ่งกิโลเมตร เลียบไปตามคูเมืองเก่าด้านทิศตะวันตก วัดนี้ "พระนางจามเทวี" ได้โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อประมาณปีพุทธศักราช 1200 แต่เป็นที่น่าเสียดายที่สิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นได้ปรักหักพังไปหมดแล้ว สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดภายในวัดที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ล้วนเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ทำแทนขึ้นมาใหม่ทั้งสิ้น

เมื่อเดินเข้าไปในวัด สิ่งที่น่าชมเป็นอันดับแรก คือ "พระพุทธรูปนาคปรก" ที่เชื่อกันว่า คือ "พระพุทธสิกขิ" หรือ "พระศิลาดำ" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ "พระนางจามเทวี" ได้อัญเชิญมาจากกรุงละโว้ ปัจจุบันชาวเมืองเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระรอดหลวง" หรือ "พระรอดลำพูน" ซึ่งมีความสำคัญและเป็นแบบพิมพ์จำลองในการสร้างพระเครื่องที่ลือชื่อกรุหนึ่งของจังหวัดลำพูน นั่นก็คือ "พระรอดมหาวัน" หนึ่งในสุดยอดของพระเครื่องเบญจภาคีนั่นเอง

"วัดมหาวันวนาราม" นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูนด้วย

พระรอดได้ชื่อว่าเป็นพระที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ในกระบวนพระเครื่องเมืองไทย มีอายุราว 1 พันปี ซึ่งพระนางจามเทวี พระธิดาพระเจ้ากรุงละโว้ ผู้เสด็จขึ้นไปครองเมืองลำพูนเป็นผู้โปรดให้สร้างขึ้นบรรจุในวัดมหาวัน พระรอดเป็นหนึ่งในพระเบญจภาคี พบที่กรุวัดมหาวันเพียงแห่งเดียว เป็นพระพิมพ์ขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพระคง พระบางและพระเปิม

ลักษณะของพระรอด เป็นพระประทับนั่ง ขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย บนฐานเขียง ใต้ปรกโพธิ์ ผิวพระพบบ่อยๆว่าจะเหี่ยวย่น สืบเนื่องมาจากพระคายน้ำตอนเผาไฟ พระพักตร์ก้มเล็กน้อย รายละเอียดของพระพักตร์คล้ายศิลปะพม่าหรือพุกามเป็นพระศิลปะยุคเดียวกับทวาราวดี ตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 15-16

ตำหนิเอกลักษณ์
1. พระศกคล้ายฝาชี พระเกศสั้นจิ่ม
2. พระพักตร์สอบเสี้ยม พระเนตรโปนโต พระนาสิกสั้นโต พระโอษฐ์วาดโค้ง
3. มีเส้นนำตาดิ่งจากยอดพระกรรณ ลงมาจรดใบโพธิ์
4. ปลายพระกรรณซ้ายมือองค์พระหักวกเป็นตัววี
5. ต้นแขนขวาขงองค์พระจะเล็ก คล้ายพระคงแต่จะน้อยกว่า
6. พระพิมพ์ใหญ่โดยมากจะมีขอบปีกพระ
7. ขอบจีวรตรงอกจะนูนหนา
8. ปลายนิ้วทั้ง 4 จรดฐาน ส่วนนิ้วหัวแม่มือขวาที่พาดตักจะขาด
9. เส้นน้ำตกใต้แขนซ้าย มาโผล่ที่ใต้เข่าอีกจุด และในร่องใต้ฐานอาสนะชั้นบนสุด อาจมีเส้นน้ำตกบางๆในแนวเดียวกัน
10. แขนซ้ายองค์พระจะหักมุมเป็น 2 ส่วน
11. เส้นแซมใต้ฐานอาสนะชั้นที่ 1
12. ฐานอาสนะมี 3 ชั้น ชั้น 2 และ ชั้น 3 บางทีติดกันโดมีร่องตื้นๆขั้นกลาง
13. รอยกดพับที่ก้นฐาน และมีรอยนิ้วมือติดอยู่ เกิดจากการดันพระออกจากพิมพ์
14. ในพระรอดพิมพ์ใหญ่ จะเห็นปลายพระบาทซ้ายองค์พระคล้ายหัวงู มีร่องปากเล็กๆปรากฏอยู่

วัดจามเทวี

"วัดจามเทวี" หรือวัดที่ชาวลำพูนเรียกว่า "วัดกู่กุด" คำว่า "กู่" เป็นภาษาเหนือหมายถึง "เจดีย์" ส่วนคำว่า "กุด" หมายถึง "ด้วน" เมื่อนำมารวมกัน "วัดกู่กุด" ก็มีความหมายว่า "วัดเจดีย์ด้วน" หรือ "วัดที่มียอดเจดีย์หัก"

"วัดจามเทวี" ตั้งอยู่ที่ถนน "จามเทวี" ซึ่งเป็นถนนสายเดียวกับที่ "วัดมหาวันวนาราม" ตั้งอยู่ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเมืองลำพูน ห่างจากศาลากลางจังหวัดเพียง 1.5 กิโลเมตร หรือห่างจาก "วัดมหาวันวนาราม" 1 กิโลเมตร

"วัดจามเทวี" ตามตำนานเล่าไว้ว่า "เจ้าอนันตยศ" และ "เจ้ามหันตยศ" ซึ่งเป็นราชโอรสของ "พระนางจามเทวี" ได้สร้างขึ้นพร้อมกับพระเจดีย์ "สุวรรณจังโกฏิ" เพื่อใช้เป็นที่บรรจุ "พระอัฐิ" ของพระมารดา เมื่อปีพุทธศักราช 1298 เป็นฝีมือของช่างชาวละโว้ ลักษณะพระเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมคล้ายพระสถูปในพุทธคยาประเทศอินเดีย ซึ่งแต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่เป็นชั้นๆ ซึ่งแต่เดิมยอดของพระเจดีย์ "สุวรรณจังโกฏิ" ห่อหุ้มด้วยทองคำ ต่อมาจะเป็นสมัยใดไม่ทราบแน่ชัด ยอดพระเจดีย์ได้หักหายไป ชาวลำพูนจึงเรียกว่า "กู่กุด"

ต่อมาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น "ครูบาศรีวิชัย" นักบุญแห่งล้านนาไทย ได้ทำการบูรณะใหม่ และได้ขนานนามว่า "วัดจามเทวี" มาจนทุกวันนี้

นอกจากนี้ ภายในบริเวณ "วัดจามเทวี" ยังมี "รัตนเจดีย์" ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านขวามือของพระวิหาร สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 โดย "พระยาสรรพสิทธิ์" ตัวเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นซุ้มเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ สำหรับฐานล่างสุดของ "รัตนเจดีย์" นี้ เป็นรูป 8 เหลี่ยม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.40 เมตร สูงจรดยอด 11.50 เมตร

วัดพระยืน

"วัดพระยืน" หรือ "วัดพุทธมหาสถาน" ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกวงด้านทิศตะวันออก ที่ "บ้านพระยืน" ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน ต้องข้ามแม่น้ำกวงที่สะพาน "ท่าสิงห์พิทักษ์" ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับทางเข้าวัดพระธาตุ "หริภุญชัย" ด้านหน้า

"วัดพระยืน" เป็นวัดที่ "พระเจ้าธัมมิกราช" กษัตริย์ครองเมือง "หริภุญชัย" เป็นผู้สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 17

"พระเจดีย์วัดพระยืน" สร้างเป็นแบบพระปรางค์ทรงมณฑป เครื่องบนประกอบด้วยเจดีย์ห้ายอด โดยมีเจดีย์ทรงระฆัง และเจดีย์ทรงกลมขนาดเล็กเป็นประธาน ภายในพระเจดีย์บรรจุเครื่องบูชาต่างๆ มีพระพุทธรูปยืนสูง 8 ศอกที่ผนังด้านนอก 1 ด้าน

ต่อมาสมัย "พระเจ้ากือนา" แห่ง "ราชวงศ์เม็งราย" ทรงสร้างพระพุทธรูปยืนเพิ่มเติมอีก 3 องค์ รวมเป็น 4 องค์ อยู่รอบทั้ง 4 ด้านของพระปรางค์ ซึ่งคล้ายคลึงกับ "อานันทเจดีย์" ที่เมืองพุกาม ประเทศพม่า และ "พระเจดีย์วัดป่าสัก" จังหวัดเชียงราย

กู่ช้าง กู่ม้า

"กู่ช้าง กู่ม้า" ก็คือ "เจดีย์ช้าง เจดีย์ม้า" เป็นโบราณสถาน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณ ชุมชนวัดไก่แก้ว อำเภอเมืองลำพูน ห่างจากตัวเมืองออกไปทางด้านทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตรเท่านั้นเอง

"กู่ช้าง" เป็นสถูปทรงกระบอกปลายมน เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์สุสานช้างศึกคู่บารมีของ "พระนางจามเทวี" ชื่อ "ภูก่ำงาเขียว" ซึ่งหมายถึง "ช้างผิวสีคล้ำงาสีเขียว" ที่ทรงอานุภาพ และ อิทธิฤทธิ์ในสงคราม

ส่วน "กู่ม้า" เป็นสถูปทรงระฆัง เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์สุสานม้าทรงของ "เจ้าอนันตยศ" และ "เจ้ามหันตยศ" ราชโอรสของ "พระนางจามเทวี"

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย

"อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย" ตั้งอยู่ที่เชิงดอยติ ปากทางแยกเข้าตัวจังหวัดลำพูน ภายในบริเวณวัดพระธาตุ "ดอยติ" ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ตามทางหลวงหมายเลข 11 (ถนนเชียงใหม่-ลำปาง) ประมาณ 5 กิโลเมตร

"ครูบาศรีวิชัย" ท่านเป็นพระเถรเจ้า นักบุญแห่งล้านนาไทย เป็นนักพัฒนาทั้งทางด้านจิตใจ และทางด้านถาวรวัตถุ ให้แก่ชาวล้านนาไทยอย่างอเนกอนันต์ ท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงปีพุทธศักราช 2421 ถึง 2481 บ้านเกิดของท่านอยู่ที่ ตำบลแม่ตื่น อำเภอลี้ จึงเป็นความภาคภูมิใจอย่างใหญ่หลวงของชาวลำพูน ที่จังหวัดลำพูนได้เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านนักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาไทยผู้นี้

ศูนย์ศิลปหัตถกรรมผ้าไหมยกดอกเพ็ญศิริ

"ศูนย์ศิลปหัตถกรรมผ้าไหมยกดอกเพ็ญศิริ" ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ตามถนนลำพูน-ดอยติ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร เป็นสถานที่จัดแสดงและอนุรักษ์งานฝีมือ "ผ้าไหมยกดอก" ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมท้องถิ่นอันทรงคุณค่า ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำพูน ซึ่งมีลวดลายเฉพาะแบบโบราณเท่านั้น

ภายในศูนย์ฯ จัดให้มีการสาธิตขั้นตอนในการผลิต "ผ้าไหมยกดอก" การสาวไหม การย้อมไหม และการทอ โดยเปิดให้เข้าชมได้ทุก ๆ วัน ตั้งแต่ 08.00-17.00 น.

สวนสายน้ำแร่

"สวนสายน้ำแร่" ตั้งอยู่เลขที่ 9 บ้านหนองหล่ม ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมืองลำพูน ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ตามถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง (ทางหลวงหมายเลข 11) ประมาณ 7 กิโลเมตร สถานที่นี้ท่านสามารถอาบน้ำแร่จากธรรมชาติได้อย่างสะดวกสบาย เป็นสถานที่พักผ่อน และมีอาหารพื้นเมืองที่เอร็ดอร่อยให้บริการด้วย

ดอยขะม้อ

"ดอยขะม้อ" อยู่ในเขตตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองลำพูน ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 20 กิโลเมตร (อยู่ด้านหลังนิคมอุตสาหกรรมลำพูน)

"ดอยขะม้อ" เป็นภูเขาไฟโบราณ รูปทรงสัณฐานคล้ายฝาชี บนยอดมีปล่องกว้าง 3 เมตรลึกประมาณ 6 เมตร สูง 58 เส้น ตอนล่างเป็นบ่อมีน้ำตลอดปี ซึ่งชาวเมืองนับถือกันมาตั้งแต่โบราณว่าเป็นบ่อน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามผู้หญิงตัก หรือเข้าใกล้ เพราะถ้าฝ่าฝืน น้ำจะกลายเป็นน้ำเน่ามีหนอนขึ้นทันที จนกว่าจะนิมนต์พระภิกษุขึ้นไปสวดชัยมงคลคาถา น้ำทิพย์ก็จะกลับคืนสู่สภาพเดิม

เมื่อถึงวัน "แปดเป็ง" (วันวิสาขบูชา) ของทุกปี จะมีพิธีสักการะบูชาสรงน้ำ และงานสมโภชพระบรมธาตุ "หริภุญชัย" ซึ่งเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวลำพูน จะต้องตักน้ำทิพย์จากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ นำไปรวมกับน้ำพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วจึงนำขึ้นสรงพระบรมธาตุ "หริภุญชัย"

อนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์ไทยเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ จะต้องนำน้ำทิพย์จากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ อัญเชิญไปร่วมเป็นน้ำพุทธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกครั้ง

บ่อน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ท่านไม่ควรพลาดโอกาสอีกเช่นกัน

ตลาดสินค้าพื้นเมืองอำเภอป่าซาง

ตลาดสินค้าพื้นเมืองแห่งนี้ ตั้งอยู่ในตัวอำเภอป่าซาง ตรงกันข้ามกับวัด "ป่าซางงาม" ริมถนนสายลำพูน-ป่าซาง (ทางหลวงหมายเลข 106) ซึ่งตั้งร้านเรียงรายอยู่ตลอดทั้งสองฟากฝั่งถนน "ตลาดสินค้าพื้นเมืองอำเภอป่าซาง" อยู่ห่างจากอำเภอเมืองลำพูนประมาณ 11 กิโลเมตร เป็นที่รวมของสินค้าพื้นเมืองภาคเหนือ (จังหวัดลำพูน) เกือบจะทุกชนิด

นอกจากนี้ "อำเภอป่าซาง" ยังได้ชื่อว่า เป็นถิ่น "คนสวย คนงาม" อีกด้วย

แหล่งทอผ้าฝ้ายบ้านหนองเงือก

"บ้านหนองเงือก" ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง ไปตามถนนสายลำพูน-ลี้ (ทางหลวงหมายเลข 106) เมื่อถึง "บ้านมะกอก" จะมีถนนเลี้ยวขวา อยู่ลึกเข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือและสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองหลายชนิด

"ผ้าฝ้ายทอมือ" ของบ้านหนองเงือก มีรูปแบบการทอและลวดลายสีสันสวยงามเป็นธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่ชาวบ้านได้รับการสืบสานตกทอดมาจากบรรพบุรุษ

นอกจากนี้ "ผ้าฝ้ายทอมือ" ยังสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ เช่น ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน ผ้าเช็ดหน้า หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ตกแต่ง เช่น ผ้าม่าน และ "ตุง" (ธงที่ใช้ในพิธีกรรมของชาวเหนือ) ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่างๆเหล่านี้ เป็นที่นิยมนำไปใช้กันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งส่งเป็นสินค้าส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ นำเงินตราเข้าประเทศได้ปีละมากๆ

วัดหนองเงือก

"วัดหนองเงือก" ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านหนองเงือก ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง ก่อนจะถึงหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร หรือพูดง่าย ๆ แต่อาจจะฟังยาก... พอเลี้ยวขวาที่บ้านมะกอก จะถึงวัดหนองเงือกก่อนถึงหมู่บ้านหนองเงือก

"วัดหนองเงือก" เป็นวัดเก่าแก่ที่เป็นศิลปกรรมฝีมือของช่างพื้นบ้านที่งดงามน่าชม สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดคือ ศิลปะปูนปั้นที่ซุ้มประตูของวัดและหอไตร เป็นศิลปกรรมแบบพม่า มีลักษณะเป็นตึกโบราณสองชั้น และชั้นล่างมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม

วัดป่าเหียง

"วัดป่าเหียง" ตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนบ้านกองงาม ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง ไปตามถนนสายสบทา-ท่าลี่ แล้วเลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านกองงาม

"วัดป่าเหียง" ตามประวัติกล่าวไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2420 มีหอไตรอายุกว่าร้อยปีทีเดียว จัดเป็นโบราณสถานที่น่าสนใจและมีความสวยงาม หอไตรแห่งนี้สร้างไว้กลางสระน้ำ(ปัจจุบันเป็นสระคอนกรีต) เป็นศิลปกรรมแบบล้านนา สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น "โบราณสถาน" โดยกรมศิลปากรแล้ว

น้ำตกวังหลวง

"น้ำตกวังหลวง" ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าพลู ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ 18 กิโลเมตร เป็นภูเขาน้ำตกที่ตั้งอยู่กลางป่า ซึ่งมีน้ำตกไหลลดหลั่นกันลงมาอย่างสวยงามถึง 5 ชั้นด้วยกัน

วัดพระพุทธบาทตากผ้า

"วัดพระพุทธบาทตากผ้า" ตั้งอยู่ในท้องที่ของตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง ห่างจากตัวอำเภอไปตามถนนสายป่าซาง-ลี้ (ทางหลวงหมายเลข 106) ประมาณ 6 กิโลเมตร แล้วจะมีถนนแยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร วัดนี้จัดเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน ที่มีสิ่งก่อสร้างสวยงาม วิจิตร พิสดาร เป็นศิลปะลวดลายฝีมือของชาวเหนือสมัยใหม่ และเป็นสำนักวิปัสสนาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของภาคเหนือด้วย

ตามตำนานการสร้าง "วัดพระพุทธบาทตากผ้า" เล่าไว้ว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น พระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับที่วัดแห่งนี้ แล้วทรงนำจีวรออกตากกับหน้าผาหินแถวนั้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังปรากฏให้เห็นเป็นรอยตารางสี่เหลี่ยมคล้ายจีวรของพระอยู่จนถึงทุกวันนี้ จากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงอธิษฐานเหยียบพระบาทประดิษฐานรอยไว้บนผาลาดซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดในปัจจุบันนี้ด้วย

นอกจากนี้บน "ม่อนดอย" (ยอดดอย) เบื้องหลังวัด ได้มีการสร้างพระเจดีย์ซึ่งเป็นศิลปะที่ผสมผสานระหว่างพระธาตุ "ดอยสุเทพ" และพระธาตุ "หริภุญชัย" เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีบันไดนาคเชื่อมระหว่างพระเจดีย์บน "ม่อนดอย" กับ "วัดพระพุทธบาทตากผ้า" ที่เชิงดอย

เมื่อถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 (ภาคกลาง) หรือเดือน 8 (ภาคเหนือ) ซึ่งตรงกับวันถวายพระเพลิงพระสรีระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีพิธีสักการะบูชาและสรงน้ำรอยพระพุทธบาท ซึ่งนับเป็นประเพณีที่สำคัญอีกประเพณีหนึ่ง ที่ชาวลำพูนต้องจัดเป็นประจำทุกๆปีเช่นกัน

แหล่งศิลาแลง

"แหล่งศิลาแลง" อยู่ในท้องที่บ้านพระบาท ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง

"ศิลาแลง" เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมายในท้องที่ของจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นจังหวัดที่ผลิตออกจำหน่ายเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยเท่านั้น

"ศิลาแลง" ใช้ในการก่อสร้างและตกแต่งบริเวณบ้านหรือสถานที่ต่างๆ มีความแข็งแรง ทนทาน และสวยงาม โดยเฉพาะกำแพงวัดพระพุทธบาทตากผ้าก็ก่อสร้างด้วยศิลาแลงด้วยเช่นกัน

วัดพระเจ้าตนหลวง

"วัดพระเจ้าตนหลวง" ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลเหล่ายาว อำเภอบ้านโฮ่ง เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณที่รูปทรงสวยงามมาก

ถ้ำเอราวัณ

"ถ้ำเอราวัณ" ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปตามถนนสายป่าซาง-ลี้ ประมาณ 15 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายที่บ้านแม่อาว ไปตามถนนสายแม่อาว-ห้วยไฟ อีก 15 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 30 กิโลเมตร

ภายในถ้ำ "เอราวัณ" มีหินงอก หินย้อยตามธรรมชาติที่สวยงามและน่าชมอยู่เป็นจำนวนมาก จัดเป็นสถานที่น่าท่องเที่ยวน่าทัศนาอีกสถานที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาดอีกเช่นกัน

หมู่บ้านกะเหรี่ยงพัฒนาห้วยหละ

"หมู่บ้านกะเหรี่ยงพัฒนาห้วยหละ" เป็นหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลป่าพลู ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่ง ไปทางทิศใต้ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ซึ่งชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านแห่งนี้ ยังคงรักษาและยึดถือประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมที่ได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษไว้ นั่นคือการทอผ้าแบบดั้งเดิม โดยใช้เอวของตัวเองเป็นกี่ในการทอ

ถ้ำหลวง

"ถ้ำหลวง" ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าพลู ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่งไปทางทิศใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีช่องชั้นคูหาที่งดงามมาก ซึ่งเป็นถ้ำที่มีความยาวภายในถ้ำประมาณ 500 เมตร จัดเป็นสถานที่น่าท่องเที่ยวอีกสถานที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาดเช่นกัน

วัดบ้านปาง

"วัดบ้านปาง" ตั้งอยู่บนเนินเขาบ้านปาง หมู่ที่ 1 ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 89 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 ซึ่งอยู่ก่อนถึงตัวอำเภอลี้ประมาณ 38 กิโลเมตร

"วัดบ้านปาง" มีโบสถ์วิหารสวยงามมาก ภายในบริเวณวัดร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยที่แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมพื้นที่เอาไว้ เป็นวัดซึ่ง "ครูบาศรีวิชัย" นักบุญผู้ยิ่งใหญ่คนสำคัญของล้านนาไทย บวชเรียนเป็นวัดแรก

"วัดบ้านปาง" เป็นสถานที่ตั้ง "พิพิธภัณฑ์ครูบาศรีวิชัย" ซึ่งเก็บของใช้ส่วนตัวของท่านครูบาศรีวิชัยเอาไว้อย่างครบถ้วน นับตั้งแต่ สบง จีวร หมอน และเครื่องใช้อื่นๆ เช่น กระโถน แจกัน เป็นต้น

พระธาตุเจดีย์ห้าดวง

"พระธาตุเจดีย์ห้าดวง" หรือ "เวียงห้าหลัง" เป็นพระธาตุเจดีย์หมู่ 5 องค์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณที่สันนิษฐานว่าเคยเป็น "เวียงลี้" เก่า (เมืองลี้) มาก่อน ปัจจุบันอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอลี้เพียง 2 กิโลเมตร


วัดพระบาทห้วยต้ม

"วัดพระบาทห้วยต้ม" เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอลี้ ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านชาวเขาพระบาทห้วยต้ม หมู่ที่ 8 ตำบลนาทราย ห่างจากตัวอำเภอลี้ลงไปทางทิศใต้ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 ประมาณ 10 กิโลเมตร และเมื่อถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 46-47 จะมีทางแยกเข้าไปอีกประมาณ5 กิโลเมตร จุดสังเกตบริเวณทางเข้าวัด จะมีอนุสาวรีย์ "พระครูบาชัยวงศา" ตั้งอยู่

"วัดพระบาทห้วยต้ม" มีอาณาบริเวณวัดกว้างขวางมาก มีสิ่งก่อสร้างซึ่งทำจาก "ศิลาแลง" ที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลงด้านหลังวัด และมีองค์พระธาตุฯ ที่ได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม ซึ่งได้รับการบูรณะและก่อสร้างจากแรงศรัทธาของชนชาวกะเหรี่ยงที่มีต่อท่านครูบาชัยวงศา ซึ่งเป็นพระอาจารย์ชื่อดังของภาคเหนืออีกท่านหนึ่ง

บรรดาชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชาวเขาพระบาทห้วยต้ม นอกจากจะมีอาชีพทำไร่ทำนาทำสวนแล้ว ยังมีอาชีพเป็นช่างฝีมือ ช่างทอผ้า ช่างทำสร้อยคอ และเครื่องเงิน เป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนอีกด้วย

อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

"อุทยานแห่งชาติแม่ปิง" แต่เดิมมีชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติแม่หาด-แม่ก้อ" ได้รับ การ ประกาศ จัด ตั้ง เป็น อุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 มีพื้นที่อุทยานทั้งหมด 1,003 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่, อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก รวมทั้งหมด 3 จังหวัด

สำหรับที่ทำการ "อุทยานแห่งชาติแม่ปิง" ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จากตัวจังหวัดลำพูนลงใต้ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 ก่อนจะถึงอำเภอลี้ระหว่างหลักกิโล-เมตรที่ 47 จะมีทางแยกหมายเลข 1087 ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร เข้าไปถึงที่ทำการอุทยานฯ

ภายในเขต "อุทยานแห่งชาติแม่ปิง" มีพื้นที่บางส่วนเป็นลำน้ำแม่ปิง มีความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งทั้งสองฝั่งแม่น้ำเป็นเกาะแก่ง หินผา หินงอก หินย้อย ที่สวยงามมาก

การเดินทางท่องเที่ยวตามลำน้ำแม่ปิง สามารถเริ่มต้นจากอ่างเก็บน้ำดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เรือหางยาวเป็นพาหนะ แล้วมาต่อแพที่แก่งสร้อย ล่องตามลำน้ำแม่ปิงลงมาจนถึงเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก

ถ้ำยางวี

"ถ้ำยางวี" เป็นถ้ำที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตของ "อุทยาน-แห่งชาติแม่ปิง" เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ มีหินงอก หินย้อยสวยงามมาก และมีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากด้วย การเดินทางเข้าไปในถ้ำ ต้องใช้ไฟฉาย หรือคนถือไฟนำทางเข้าไป

ส่วนบริเวณไม่ไกลไปจาก "ถ้ำยางวี" จะเป็นป่าสนเขา ซึ่งชาวบ้านเรียกป่านี้ว่า "ป่าพระบาทยางวี" เป็นป่าที่มีธรรมชาติและวิวทิวทัศน์สวยงามมาก

ทุ่งกิ๊ก-ทุ่งนางู

"ทุ่งกิ๊ก-ทุ่งนางู" อยู่ในเขตของ "อุทยานแห่งชาติ-แม่ปิง" ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นที่ราบบนเนินเขาที่ปกคลุมไปด้วยทุ่งหญ้าสลับกับป่าไม้เต็งรัง ซึ่งมีทิวทัศน์และธรรมชาติที่สวยงามอีกป่าหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำพวก เก้ง กวาง กระต่าย และไก่ป่าชนิดต่างๆด้วย


น้ำตกก้อหลวง

"น้ำตกก้อหลวง" อยู่ในเขต "อุทยานแห่งชาติแม่ปิง" ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 20 กิโลเมตร และเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร

"น้ำตกก้อหลวง" เป็นน้ำตกหินปูนที่เกิดจากลำน้ำในห้วยแม่ก้อ ไหลผ่านหินดินดานเทาดำและหินทรายของหน้าผาที่มีความสูงต่างระดับลดหลั่นกันลงมา มีทั้งหมด 7 ชั้นด้วยกัน ซึ่งสวยงามมาก แต่เนื่องจากบริเวณเหล่านี้เป็นหินปูน จึงทำให้บริเวณชะโงกผาที่มีน้ำตกลงมา มีหินงอก หินย้อยอยู่มากมาย เสริมให้น้ำตกมีความสวยงามมากยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนั้นยังมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมีน้ำใสไหลกระเซ็นเห็นตัวปลา ว่ายวนไปมาน่าเอ็นดู...เอ๊ย...มีปลาชนิดต่าง ๆ มาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากด้วย

แก่งก้อ

"แก่งก้อ" อยู่ในเขต "อุทยานแห่งชาติแม่ปิง" หมู่ที่ 4 บ้านก้อจัดสรรตำบลก้อ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 16 กิโลเมตร

"แก่งก้อ" เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม และเป็นที่ตั้งของที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่าหน่วยที่ 2 ด้วย

ที่ "แก่งก้อ" นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือเพื่อชมภูมิประเทศอันสวยงามรอบๆแก่งได้ นอกจากนี้ยังมีสถานที่น่าท่องเที่ยวอีกหลายแห่ง ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของ "แก่งก้อ" เช่น น้ำตกอุมแป, น้ำตกอุมปาด, เกาะคู่สร้างคู่สม, ผาเต่า, ผาพระนอน, ผาคันเบ็ด, แก่งสร้อย, ถ้ำแก่งสร้อย,พระธาตุแก่งสร้อย, พระบาทบ่อลม และเขื่อนภูมิพล เป็นต้น

สำหรับ "แก่งสร้อย" ตามตำนานเล่าไว้ว่า เมื่อ 800 ปีที่ผ่านมา "แก่งสร้อย" เป็นส่วนหนึ่งของ "อาณาจักรเมืองสร้อย" ซึ่งมีเจ้าเมืองปกครองสืบต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย และเจ้าเมืองที่ปกครองเป็นคนสุดท้าย คือ "พญาอุดม" หลังจากนั้นเมืองสร้อยก็จมอยู่ในท้องน้ำ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีซากกำแพงเก่าให้เห็นอยู่ ส่วนพระเจดีย์ก็ชำรุดไปตามกาลสมัย ซึ่งสามารถล่องเรือไปชมได้ โดยขึ้นเรือที่แพท่าน้ำก้อ ล่องไปทางเขื่อนภูมิพล ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ก็จะเห็นเจดีย์สีขาวซึ่งตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางเกาะ

วัดศรีดอนชัย

"วัดศรีดอนชัย" ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ ห่างจากอำเภอบ้านธิไปประมาณ5 กิโลเมตรเท่านั้นเอง

"วัดศรีดอนชัย" เป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธรูปปางลีลา" หรือ "พระพุทธเฉลิมสิริราช" (พระเจ้ายืน) ซึ่งมีความสูง 59 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่ทั้งสูงและใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ สร้างเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2536 ด้วยแรงศรัทธาของมหาชนในประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปีที่ 50 ของ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหาราช"

อ่างเก็บน้ำแม่ธิ

"อ่างเก็บน้ำแม่ธิ" ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 9 บ้านดอยเวียง ห่างจากอำเภอบ้านธิประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาด 5 ล้านลูกบาศก์เมตร มีความกว้าง 470 เมตร และมีความยาวประมาณ 6 กิโลเมตร

"อ่างเก็บน้ำแม่ธิ" ให้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรแก่ท้องที่ของอำเภอบ้านธิ และยังเป็นสถานที่น่าท่องเที่ยว ซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจด้วย

วัดพระธาตุดอยเวียง

"วัดพระธาตุดอยเวียง" ตั้งอยู่หมู่ที่ 9บ้านดอยเวียง ห่างจากอำเภอบ้านธิประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณวัดซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่มีความเงียบสงบ และร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมไปทั่ว

ตาม "จารึกใบลานภาษาพื้นเมือง" เล่าไว้ว่า ในสมัย "พระนางจามเทวี" เมื่อปีพุทธศักราช 1220 "ขุนหลวงปาละวิจา" ได้โยกย้ายถิ่นฐานอพยพผู้คนมาตั้งเมืองที่ "บ้านดอยเวียง" แห่งนี้ และได้ก่อสร้างพระวิหารและพระเจดีย์ไว้บนยอดเขา ซึ่งก็คือ "วัดพระธาตุดอยเวียง" ในปัจจุบันนั่นเอง

"วัดพระธาตุดอยเวียง" เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ หน้าตักกว้าง 39 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งมีประวัติเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งเกิดฝนแล้ง ไม่ตกต้องตามฤดูกาลชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส จึงพร้อมใจกันนำพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ออกมาแห่เพื่อขอฝนจากเทพยดา ปรากฏว่าฝนตกลงมาอย่างพอเพียงจนหายเดือดร้อนกันทั่วหน้า ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระเจ้าสายฝน"

นอกจากนี้ "วัดพระธาตุดอยเวียง" ยังมีองค์ "พระเจ้าดำดิน" ซึ่งสร้างในสมัยของ "พระนางจามเทวี" อีกด้วย โดยประดิษฐานไว้บนยอดดอย 1 องค์ และประดิษฐานที่เชิงดอยอีก 1 องค์ ซึ่ง "พระเจ้าดำดิน" แต่ละองค์มีหน้าตักกว้าง 80 นิ้ว

พระธาตุดอยห้างบาตร

"พระธาตุดอยห้างบาตร" อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านธิประมาณ 9 กิโลเมตร เมื่อถึงหมู่บ้านห้วยไซใต้ จะมองเห็น "พระธาตุห้างบาตร" ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนดอยเบื้องหน้าแต่ไกลๆ

"พระธาตุห้างบาตร" เป็นเจดีย์รูปทรงจตุรมุขสีขาว มีฉัตรทองอยู่บนยอดเจดีย์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใดและสมัยใด

คำว่า "ห้างบาตร" เป็นภาษาพื้นเมือง มีความหมายว่า "ที่พักชั่วคราวเพื่อการเตรียมบาตร" ของพระภิกษุ ก่อนที่จะออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ ตามตำนานของล้านนาไทยเล่าไว้ว่า ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดอยซึ่งเป็นที่ตั้งของ "พระธาตุห้างบาตร" ในปัจจุบันนี้ และเตรียมเสด็จออกบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์ ซึ่งปัจจุบันมีร่องรอยที่พระพุทธองค์ทรง "ห้างบาตร" เป็นหลุมลึกลงไปในหินดินดาน และต่อมาได้ก่อสร้างมณฑปครอบเอาไว้

เมื่อขึ้นไปบนดอยที่ "พระธาตุห้างบาตร" ตั้งอยู่ จะสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามโดยรอบของเบื้องล่างได้ไกลสุดสายตา

"พระธาตุดอยห้างบาตร" จึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ท่านไม่ควรพลาดอีกเช่นกัน

อ่างเก็บน้ำแม่กึม

"อำเภอแม่ทา" ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดลำพูน ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ระยะทาง 25 กิโลเมตร

"อ่างเก็บน้ำแม่กึม" ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอแม่ทา 3 กิโลเมตร ไปตามถนนสายแม่ทา-ท่าจักร เป็นสถานที่ตกปลาตามธรรมชาติที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง ที่ผู้คนในท้องถิ่นนิยมไปท่องเที่ยว และเป็นสถานที่พักผ่อนเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถในวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วย

หมู่บ้านแกะสลักบ้านทา

"หมู่บ้านแกะสลักบ้านทา" ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอแม่ทาประมาณ 15 กิโลเมตร ไปตามถนนสายแม่ทา-ท่าจักรเป็นหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพเป็นช่างแกะสลักกันทั้งหมู่บ้าน ซึ่งนับได้ว่าเป็นแหล่งผลิตไม้แกะสลักที่มีฝีมือดีและใหญ่ที่สุดของจังหวัดลำพูน

งานไม้แกะสลักของหมู่บ้านแกะสลักบ้านทา จะเน้นให้เห็นลวดลายของเนื้อไม้ฉำฉา โดยแกะสลักเป็นรูปแบบต่างๆ เช่น รูปคน รูปสัตว์ รูปตุ๊กตา และแกะสลักเป็นภาชนะใช้สอยในครัวเรือน หรือแกะสลักเป็นของใช้ในการตกแต่งบ้าน เป็นต้น

ถ้ำจำหม่าฟ้า

"ถ้ำจำหม่าฟ้า" เป็นถ้ำหินงอก หินย้อยตามธรรมชาติ ที่สวยงาม ที่สุด ถ้ำหนึ่ง ของจังหวัดลำพูน ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอแม่ทาไปตามถนนสายแม่ทา-ท่าจักร ประมาณ 20 กิโลเมตร

"ถ้ำจำหม่าฟ้า" เป็นถ้ำที่คงสภาพตามธรรมชาติที่ท่านไม่ควรพลาดอีกสถานที่หนึ่งด้วย

อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน

"อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน" มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ของอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน อำเภอห้างฉัตร และอำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

"อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน" มีสภาพพื้นที่เป็นป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 255 ตารางกิโลเมตร

"อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน" สามารถเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวได้ทั้งทางรถไฟและทางรถยนต์ ทางรถไฟต้องลงรถที่สถานีขุนตาน จังหวัดลำพูน แล้วต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ สำหรับทางรถยนต์ ต้องไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 เมื่อถึงท้องที่อำเภอแม่ทา จะมีทางแยกเข้าไปอีกประมาณ 18 กิโลเมตร

มะ..มา..ลอดถ้ำขุนตานกันเถอะ...

อุโมงค์ขุนตาน

"อุโมงค์ขุนตาน" เป็นอุโมงค์สำหรับให้รถไฟวิ่งลอดผ่านที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 1,352 เมตร สร้างขึ้นในสมัย "พระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" รัชกาลที่ 5 โดยวิศวกรชาวเยอรมันชื่อ "เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์" แต่ไม่แล้วเสร็จ เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียก่อน และวิศวกรชาวเยอรมันผู้นี้ได้เดินทางกลับประเทศไป

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2460 "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน" ซึ่งเป็น "เจ้ากรมรถไฟหลวง" ในขณะนั้น และต่อมาทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น "พระบิดาแห่งการรถไฟ" ให้เสด็จฯ เป็นแม่งาน ก่อสร้าง จนกระทั่ง "อุโมงค์ขุนตาน" เสร็จสมบูรณ์และเปิดให้รถไฟวิ่งลอดผ่านไปมาได้ในปี พ.ศ. 2461

"พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน" เป็นพระราชโอรสใน "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" และ "เจ้าจอมมารดาวาด" ทรงประสูติเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2424 มีพระนามเดิมว่า "พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร" และทรงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2479 พระชันษา 54 ปี

การขึ้นไปเที่ยวในบริเวณยอดเขาขุนตาน เริ่มต้นจากที่ทำการอุทยานฯ เดินเท้าขึ้นไปประมาณ 1,500 เมตร จะถึง "ยอดเขาที่หนึ่ง" หรือ "ย. 1" เป็นที่ตั้งบ้านพักรับรองของการรถไฟแห่งประเทศไทย จากนั้นเดินเท้าขึ้นไปอีก 800 เมตร จะถึง "ย. 2" เป็นบ้านพักรับรองของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบริเวณที่มีต้นสนเขาขึ้นอยู่หนาแน่น แต่ถ้าหากเดินขึ้นต่อไปอีกประมาณ 3,600 เมตร ก็จะถึง "ย. 3" เป็นบ้านพักของมิชชันนารี

และจุดสูงสุดของเทือกเขาดอยขุนตาน มีชื่อว่า "ม่อนส่องกล้อง" หรือ "ย. 4" มีระยะทางเดินจาก "ย. 3" ขึ้นไปประมาณ 1,000 เมตร

น้ำตกตาดเหมย

"น้ำตกตาดเหมย" อยู่แยกจากเส้นทางด้านซ้ายมือระหว่างทางเดินจาก "ย. 2" ขึ้นไป "ย. 3" โดยจะต้องเดินลงไปในหุบเขา "แม่ยอนหวาย" ประมาณ 300 เมตร เป็นน้ำตกที่สวยงามไม่แพ้น้ำตกแม่กลองและมีน้ำไหลตลอดปี

น้ำตกแม่กลอง

"น้ำตกแม่กลอง" ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสถานีรถไฟขุนตาน ห่างไปประมาณ 10 กิโลเมตร แต่ต้องลงรถไฟที่สถานีแม่ตานน้อย แล้วเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นน้ำตกกลางป่าเขาที่สวยงามมาก มีน้ำไหลตลอดปีเช่นกัน

อ่างเก็บน้ำแม่เส้า

"อ่างเก็บน้ำแม่เส้า" ตั้งอยู่ที่บ้านหลายท่า หมู่ที่ 9 ตำบลทาสบเส้า อำเภอแม่ทา ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ทาประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติ "ในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล มหาราช"

"อ่างเก็บน้ำแม่เส้า" มีตัวเขื่อนสูง 19 เมตร ยาว 271 เมตร ทางเดินขึ้นหน้าเขื่อนกว้าง 4 เมตร เก็บน้ำได้ประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรแก่ท้องที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน

ภายในบริเวณอ่างเก็บน้ำแม่เส้า มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม มีศาลาพักร้อนให้ผู้ที่ไปเที่ยวชมได้นั่งพักผ่อนให้เย็นใจเย็นกาย ก่อนที่จะรับประทานอาหารจานเด็ดที่เอร็ดอร่อยของที่นี่ คือ ปลาเผาทรงเครื่อง กุ้งเต้น และ "ไก่ทอด-ไก่ย่างทาชมพู" อันลือชื่อของจังหวัดลำพูน ที่ผู้ที่ผ่านไปมาระหว่างจังหวัดลำปางและจังหวัดลำพูน จะต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากอยู่เสมอ

"อ่างเก็บน้ำแม่เส้า" เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์อีกสถานที่หนึ่งของจังหวัดลำพูนด้วยเช่นกันครับ


งานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย

นับเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวลำพูน ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปี ในวันเพ็ญเดือนหก หรือวันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (ภาคกลาง) หรือเดือน 8 (ภาคเหนือ) หรือที่ชาวลำพูนเรียกกันว่า "วันแปดเป็ง"

สำหรับน้ำที่นำมาสรงพระบรมธาตุหริภุญชัยนั้น เป็นน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานมาร่วม รวมกับ "น้ำทิพย์" ที่ตักมาจากบ่อลึกบน "ดอยขะม้อ"

นอกจากนั้น จะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวจังหวัดลำพูนและจังหวัดอื่นๆ จะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาร่วมทำพิธีสักการะบูชาและสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัยด้วยเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งแก่ตนเองและครอบครัวสืบไป

งานประเพณีวันตรุษสงกรานต์

"วันขึ้นปีใหม่" ของชาวเหนือ ซึ่งยึดถือกันมาตั้งแต่โบราณกาล เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เดือนเมษายนของทุกๆปี ในวันนี้ถือเป็น "วันสังขารล่อง" และเป็น "วันสิ้นศักราชเก่า" ด้วย

วันถัดมาคือวันที่ 14 ถือเป็น "วันเนาว์" หรือ "วันใหม่" หรือ "วันเริ่มศักราชใหม่" ในวันนี้ทุกๆคนจะมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสพูดจาปราศรัยกันแต่เรื่องที่เป็นมงคล และเป็น "วันดา" หรือเป็นวันเตรียมสิ่งของต่างๆที่จะนำไปทำบุญถวายพระที่วัดในหมู่บ้านในวันรุ่งขึ้น ส่วนตอนบ่ายๆ ผู้คนในหมู่บ้านจะร่วมมือกันขนทราย เพื่อก่อเป็น "พระเจดีย์ทราย" ที่บริเวณลานวัด แล้วปัก "ตุง" (ธง) ที่สีสันสวยสดงดงามให้ปลิวไสวไปตามแรงลมรอบๆพระเจดีย์ทรายนั้นด้วย

วันที่ 15 ถัดมา ถือกันว่าเป็น "วันพญาวัน" ซึ่งเป็นวันที่ใหญ่ที่สุดของทุ ๆวันในรอบปีวันนี้ชาวบ้านจะพากันไปทำบุญที่วัดแต่เช้าเรียกว่าเป็น "วันตาน" และร่วมฉลองพระเจดีย์ทรายที่ช่วยกันก่อไว้เมื่อวันก่อนด้วย

วันที่ 16 ถือเป็น "วันปากปี" ในวันนี้เป็น "วันรดน้ำดำหัว" ญาติผู้ใหญ่หรือคนที่เคารพนับถือ

ส่วนการ "เล่นสาดน้ำ" ทางภาคเหนือจะเริ่มกันตั้งแต่วันที่ 13 ถึงวันที่ 15 เมษายนเท่านั้น แต่จะมีเป็นบางหมู่บ้านเท่านั้น ที่จะเริ่ม "เล่นสาดน้ำ" กันตั้งแต่วันที่ 10 ถึงวันที่ 18 เมษายน โดยเฉพาะวันที่ 14 ตอนบ่าย ๆซึ่งเป็นวันขนทรายเข้าวัด ผู้คนจะเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน พร้อมกับร่วมทำบุญขนทรายเข้าวัดไปด้วย

งานประเพณีตานก๋วยสลาก

"ตานก๋วยสลาก" ของภาคเหนือก็คือ "ทำบุญสลากภัต" ของภาคกลางนั่นเองครับ คำว่า "ตาน" ก็คือ "การทำบุญ" ส่วนคำว่า "ก๋วย" ก็คือ "ตะกร้า" ซึ่งใช้บรรจุสิ่งของต่างๆที่จะถวายพระ โดยสรุปแล้ว "ตานก๋วยสลาก" ก็คือ "การทำบุญถวายพระด้วยการใช้ตะกร้าบรรจุสิ่งของ และใช้ใบสลากเป็นสื่อ" ซึ่งจะจัดเป็นประจำทุก ๆ ปี ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (ภาคเหนือ) ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 (ภาคกลาง)

สำหรับสิ่งของต่างๆที่นำไปถวายพระนั้น จะถูกบรรจุลงใน "ก๋วย" ซึ่งจะมีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง พริก หอม กระเทียม เกลือ หมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เครื่องกินเครื่องใช้ต่าง ๆ เรียกว่าสารพัดที่จะบรรจุลงไปให้มากที่สุดที่จะมากได้

และสิ่งสุดท้ายที่จะขาดไม่ได้ก็คือ "ยอด" หรือ "ธนบัตร" ซึ่งจะใช้ไม้หนีบแล้วปักลงบน "ก๋วย" สุดแท้แต่ "ศรัทธา" ไม่จำกัดจำนวน แต่ส่วนมากจะเป็น "ใบบาท" หรือ "ใบห้า" หรือ "ใบสิบ" หรือไม่ก็เป็น "ใบยี่สิบ" มากกว่า ส่วน "ใบร้อย" ก็มีเหมือนกันแต่ไม่มากนัก

แต่ถ้าเป็นปัจจุบันคงจะมี "ใบห้าสิบ" หรือ "ใบห้าร้อย" หรือไม่ก็ "ใบพัน" เพิ่มขึ้นมาอีกก็เป็นได้ ซึ่งถ้าพระรูปไหนได้รับ "เส้นสลาก" หรือ "ใบสลาก" ที่มี "ยอด" สูงๆเช่นนี้ ก็จะถือว่าได้โชคสองชั้นหรือได้บุญสองชั้นกันทีเดียวครับ

หลังจากที่ชาวบ้านได้นำเอาของถวายพระหรือ "ก๋วยสลาก" ดังกล่าวข้างต้นไปถึงวัดที่มีการนัดหมายกันเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว (สำหรับที่จังหวัดลำพูนจะจัดงาน "ตานก๋วยสลาก" กันที่บริเวณวัดพระธาตุ "หริภุญชัย" หรือ "วัดหลวง" ซึ่งเป็นคำเรียกชื่อวัดที่ติดปากของชาวลำพูนทุกๆคน) เจ้าของ "ก๋วยสลาก" จะต้องนำเอา "เส้นสลาก" หรือ "ใบสลาก" ที่ได้จัดทำขึ้น ซึ่งอาจจะทำด้วยกระดาษหรือใบลานก็ได้ แล้วเขียนหรือจารึกชื่อของเจ้าของ "ก๋วยสลาก" ลงไป พร้อมกับระบุลงไปว่าจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ใคร ญาติพี่น้องคนไหน (ที่ล่วงลับไปแล้ว) และไม่ลืมระบุลงไปว่า "ก๋วยสลาก" ของ "เส้นสลาก" หรือ "ใบสลาก" ใบนี้ เจ้าของนั่งอยู่ที่ไหนบริเวณใดของวัดด้วย เพื่อความสะดวกของพระรูปที่ได้รับ "เส้นสลาก" หรือ "ใบสลาก" ใบนั้นจะได้ไปรับถวายทานได้ถูกต้อง เมื่อเสร็จแล้วจึงนำเอา "เส้นสลาก" หรือ "ใบสลาก" ดังกล่าวข้างต้น ไปมอบให้กับ "คณะกรรมการ" ของทางวัดซึ่งเป็นฆราวาสทั้งหมดและจะนั่งคอยต้อนรับอยู่ในพระวิหารหลวง

เมื่อถึงเวลาพอสมควรหลังจากที่ได้รับ "เส้นสลาก" หรือ "ใบสลาก" จากเจ้าของ "ก๋วยสลาก" ที่มาร่วมงานบุญด้วยกันทุกๆคนจนครบถ้วนแล้ว "คณะกรรมการ" ก็จะคลุกเคล้า "เส้นสลาก" หรือ "ใบสลาก" ที่กองพะเนินเทินทึกเหล่านั้นให้เข้ากัน แล้วนับแยกเพื่อเตรียมถวายแก่พระภิกษุสามเณรที่มาร่วมรับถวายทานในงาน "ตานก๋วยสลาก" ไปตามสัดส่วนโดยถ้วนทั่วกันทุกรูปทุกนาม

พระภิกษุสามเณรเมื่อได้รับถวาย "เส้นสลาก" หรือ "ใบสลาก" ท่านก็จะอ่านข้อความที่ระบุไว้แล้วนำ "เส้นสลาก" หรือ "ใบสลาก" ใบนั้นไปรับถวายทาน "ก๋วยสลาก" จากเจ้าของ พร้อมกับให้ศีลให้พรตามประเพณีด้วย

"งานประเพณีตานก๋วยสลาก" เป็นงานบุญงานกุศลที่สนุกสนานมากทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อตอนพระภิกษุสามเณรกำลังตามหา "ก๋วย" ตามที่ระบุใน "เส้นสลาก" หรือ "ใบสลาก" ที่ได้รับถวายมาว่าเป็นของใครและนั่งอยู่ที่ไหนบริเวณใดของวัด

ท่ามกลางเสียงอึกทึกอึงอลของฝูงชนที่จอแจจนแทบไม่รู้ว่าใครเป็นใครที่กำลังเดินเบียดกันไปมา จะได้ยินเสียงร้องตะโกนถาม-ตอบกันเสียงดังโหวกเหวกโวยวาย รู้สึกหนวกหูจนเกือบฟังไม่ได้ศัพท์ ซึ่งจะชุลมุนวุ่นวายกันพอสมควรทีเดียว แต่ทุกๆคนที่มาร่วมงานบุญ "ตานก๋วยสลาก" ก็อิ่มเอิบใจ พอใจ และสุขใจ ที่ได้นำ "ก๋วยสลาก" ของตนมาร่วมถวายทาน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทุกๆคน "ทำบุญ" ด้วยความเต็มอกเต็มใจนั่นเอง

งานประเพณีลอยกระทง

"ประเพณีลอยกระทง" ตามความเชื่อถือของชาวล้านนารุ่นสมัยปู่ย่าตาทวดโน่น คือการบูชาพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นประเพณีที่รับเอามาจาก "ชาวมอญ" มาตั้งแต่ครั้งสมัยโบร่ำโบราณ

ในปัจจุบัน เมื่อถึง "วันยี่เป็ง" (เดือนยี่ภาคเหนือ) ซึ่งตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12ของภาคกลาง ชาวลำพูนจะร่วมกันจัดงานลอยกระทง โดยจะแห่กระทงที่ตกแต่งอย่างสวยสดงดงามไปตามถนนในตัวเมือง ผ่านตลาดและร้านรวงต่าง ๆ แล้วนำไปลอยใน "แม่น้ำกวง" เพื่อเป็นการสักการะบูชาพระพุทธเจ้าตามประเพณีที่ยึดถือสืบเนื่องกันมา นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการประกวดกระทง และประกวดนางนพมาศอีกด้วย

แต่ก่อนที่จะถึง "งานวันลอยกระทง" ชาวลำพูนจะพร้อมใจกันปัดกวาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของตนให้สะอาดเรียบร้อย จัดเตรียมประทีปโคมไฟสำหรับจุดบูชาที่ประตูบ้าน และจัดหาต้นกล้วยต้นอ้อย เพื่อจัดทำเป็นซุ้มประตูต่างๆ เรียกว่าจัดแต่งบ้านเรือนให้สวยงามกันทั้งเมืองทีเดียว

ส่วนตามวัดวาอารามต่างๆ ก็ไม่ยอมน้อยหน้าเช่นกัน จะมีการจัดแต่งประตูวัดด้วยการประดับประดาด้วยดอกไม้และประทีปโคมไฟ สำหรับใน "วันงานลอยกระทง" หรือ "วันยี่เป็ง" นั้น ทางวัดจะจัดให้พระภิกษุสงฆ์เทศนาตลอดทั้งวันจนถึงกลางคืนด้วย

นอกจากจะ "ลอยกระทง" เพื่อสักการะบูชา "พระพุทธเจ้า" ในแม่น้ำลำคลองแล้ว บนท้องฟ้าก็จะปล่อย "โกมลอย" หรือ "โคมลอย" ขึ้นไปเป็นพุทธบูชาบนสรวงสวรรค์อีกด้วย

"โกมลอย" หรือ "โคมลอย" ของชาวภาคเหนือ ทำด้วยกระดาษว่าว ซึ่งใช้กาวหรือแป้งเปียกทาตรงขอบกระดาษ แล้วนำมาต่อๆกันสร้างเป็นลูกคล้ายกับลูกโป่ง ให้มีลักษณะเหมือนสี่เหลี่ยมลูกเต๋าขนาด 1.5 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป โดยให้ด้านล่างของ "โกมลอย" หรือ "โคมลอย" มีปากแคบๆขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ศอก เพื่อสำหรับไว้อุ้มควันไฟที่ใช้รมอยู่ด้านใน

เมื่อจะปล่อย "โกมลอย" หรือ "โคมลอย" ขึ้นสู่ท้องฟ้า จะใช้ควันไฟรมที่ปากแคบๆด้านล่าง เมื่อควันไฟเข้าไปอัดอยู่ใน "โกมลอย" หรือ "โคมลอย" เต็มที่ดีแล้ว "โกมลอย" หรือ "โคมลอย" ดังกล่าว ก็จะพองตัวแล้วทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าไปทันที

"การลอยโกม" หรือ "การลอยโคม" นี้ แต่ดั้งเดิมเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ที่กระทำขึ้นเพื่อบูชาพระเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม แต่ "ชาวล้านนา" ซึ่งรับเอามา มีความเชื่อว่า "โกมลอย" หรือ "โคมลอย" ที่ปล่อยขึ้นไปบนท้องฟ้านั้น ก็เพื่อสักการะบูชา "พระเกศแก้วจุฬามณี" ซึ่งอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือเพื่อสักการะบูชาแด่พระเจ้าผู้ให้กำเนิดของตนบนสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า หรือที่เรียกกันว่า "พ่อเกิด แม่เกิด"

นอกจากนี้ "ดอกไม้ไฟ" หรือที่ชาวภาคเหนือเรียกกันว่า "บอกไฟ" นั้น ก็นิยมนำมาจุดเพื่อเป็นพุทธบูชาด้วยเช่นกัน ซึ่ง "บอกไฟ" ที่นำมาจุดนี้มีหลายชนิด เช่น "บอกไฟดอก" และ "บอกไฟขึ้น"

สำหรับ "บอกไฟขึ้น" ยังแบ่งตามขนาด เช่น "บอกไฟหมื่น" "บอกไฟแสน" "บอกไฟเตียน" "บอกไฟตัน" "บอกไฟจักจ่า" (ตะไล) และ "บอกไฟช้างฮ้อง" เป็นต้น

ส่วน "บอกไฟดอก" แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทโลดโผน และประเภทสวยงาม

"บอกไฟ" ส่วนมากนิยมบรรจุในกระบอกไม้ไผ่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 4 นิ้วขึ้นไป (ปัจจุบันอาจจะใช้ท่อ พี.วี.ซี.)

ส่วนดินปืนที่ใช้บรรจุ หรือที่ชาวภาคเหนือเรียกว่า "เฝ่า" นั้น ประกอบด้วย ถ่านไม้ มาด (กำมะถัน) และดินไฟ (ดินปะสิว) เอาทั้งหมด (ตามสัดส่วน) มาตำจนละเอียดยิบชนิดที่เวลาใช้นิ้วมือบี้ไม่สากนิ้ว จากนั้นเอามาผสมกับข้าวคั่วแห้ง ขี้ขาง (ก้นกระทะ) และขี้เหล็ก เมื่อบรรจุดินปืนจนเต็มกระบอกแล้ว จึงปิดหัวและท้ายกระบอกด้วย "ตาด" ซึ่งทำมาจากดินเหนียว

"บอกไฟดอก" และ "บอกไฟขึ้น" ในปัจจุบันนิยมจุดเป็นพุทธบูชา และแข่งขันกันในงานบุญ 'ปอยหลวง" ต่างๆ งานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุ "หริภุญชัย" และงานประเพณีลอยกระทง ฯลฯ