"คู่มือ...ทำกับข้าวเมืองเหนือประยุกต์" (ฉบับรีไซเคิ้ล) เล่มนี้ ผมขออนุญาตเรียกอย่างนี้ เพราะกระดากที่จะเรียกว่า "ตำรา" ผมเขียนขึ้นจากประสบการณ์ในการทำกับข้าวด้วยตนเองเกือบจะทุกวัน ตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่จนเกือบจะลาจากโลกใบนี้ไปแล้ว ส่วนหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นส่วนมากที่สุดมาจากความทรงจำในอดีต ที่ได้อาสาเป็นลูกมือช่วยผู้ใหญ่ทำกับข้าวอยู่เสมอ... และทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ผมได้ตรวจสอบชำระข้อความบางท่อนบางตอนที่เป็นส่วนสาระสำคัญกับหนังสือ "ตำราทำกับข้าวเมืองเหนือ" เขียนโดย คุณสงวน โชติสุขรัตน์ ซึ่งเป็นบรมครูทางการหนังสือพิมพ์ขั้นปฐมของผม แล้วนำมาคลุกเคล้าผสมผสานเรียบเรียงเขียนขึ้นมาใหม่ในเชิง "เล่าสู่กันฟัง" ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่คนรุ่นใหม่ จะได้นำเอาไปเป็น "คู่มือ" อนุรักษ์การทำกับข้าวของเมืองเหนือ ให้คงอยู่ถึงคนรุ่นต่อๆไป โดยคำนึงถึงวิธีการการทำกับข้าวเพื่อให้ทำกันได้อย่างง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร
"โปรดสังเกต.. ที่ช่อง url ด้านบนซ้าย ถ้าเป็น https กรุณาเปลี่ยนเป็น http แล้วกด enter เข้ามาใหม่ครับ"
@ คลิกที่นี่ ดูบนyoutube... @ ภาพรับปริญญามีต่อที่นี่... @ และที่นี่อีกจ้า... @ บัณฑิตรามฯรุ่น38(2555) ทุกคณะและทุกคน โหลดคลิปที่นี่...

วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560

"แด่เสือพรานทหารกล้าร่วมสมรภูมิทุกนาย" By: Chote Vanhakij

"ขออนุญาตคุณ Chote Vanhakij ขอนำบทความของท่านมาโพสต์ที่นี่นะครับ" ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร

"แด่เสือพรานทหารกล้าร่วมสมรภูมิทุกนาย"
By: Chote Vanhakij

(("แฟกซ์" ครั้งสงครามอินโดจีน คือ ล่ามถ่ายทอดภาษาอังกฤษสู่ภาษาถิ่น ถ่ายทอดคำสั่ง, กระบวนการรบ, การรุก การถอย, และกระบวนการอื่น ๆ ที่จะส่งคำสั่งให้ชัดเจนแก่กองพล, กองพัน, หรือหน่วยย่อย ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อผลของการรุก รับ ในสนามรบที่อาจเปลี่ยนแปลงทุกนาที ข้าพเจ้า(เจ้าของเฟส) ขอนำข้อเขียนของนักรบนิรนามท่านหนึ่งที่ผ่านสมรภูมิลาวมาแล้วมาถ่ายทอดต่อ...

และความผิดพลาดใด ๆ ที่เกิดจากกระบวนการ การถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ...ข้าพเจ้าขอน้อมรับแต่ผู้เดียว หามีส่วนเกี่ยวข้องกับท่านผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า "สปาร์ค ปลั๊ก" แต่อย่างใดไม่ ข้าพเจ้ามีความนิยม ต่อข้อเขียนของท่าน และอยากเผยแพร่ต่อในสื่อมีเดีย จึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดต่อด้วยความเคารพ ต่อชายชาติทหาร และนักรบนิรนามที่ไม่อาจเผยชื่อ ครั้งสงครามอินโดจีนทุกท่าน..........

#ขอน้อมคารวะแด่ท่านนักรบพลเรือนนามปากกาว่า... "สปาร์ค ปลั๊ก)).


"ความหลังครั้งสงครามอินโดจีน"
จาก "เสือเหลือง" มาเป็น "เสือพราน" (1)

บ่ายแก่วันหนึ่ง ที่บ้านพักของแฟ็กซ์ในเมืองปากเซ มีเสียงทุ้ม ๆ ดังมาจากห้องโถงหน้าห้องที่ผมกำลังงีบหลับด้วยความอ่อนเพลียจากการเดินทางออกมาจากสนามรบ

"อ้าว! เฮ้ย.!! มีใครอยู่บ้างโว้ย?" เป็นเสียงโหวกเหวกค่อนข้างดัง

เมื่อผมงัวเงียเปิดประตูออกไป ก็เผชิญหน้ากับชายไทยรูปร่างล่ำสันวัยเลยกลางคน แต่งตัวเรียบร้อยสวมเสื้อเชิ๊ตแขนยาวสีขาวไม่พับแขน ไว้ผมยาวทรงรากไทร สวมแว่นสายตาสีชาขนาดใหญ่ ยืนยิ้มเผล่อยู่ข้างโต๊ะอาหารกลางห้อง

"มันหายหัวไปไหนกันหมด ไม่มีใครอยู่เลยหรือ?" เป็นคำถามยิ้ม ๆ จากชายนิรนาม

ผมไม่รู้ว่าเป็นใครแต่ก็ยกมือไหว้คารวะไว้ก่อน และเดินเข้าไปนั่งเก้าอี้ตรงข้าม

"ไม่มีใครอยู่ครับพี่ ออกไปทำงานกันหมด"

"อ้าว...เห็น "ออฟฟิซ" บอกว่าบ่ายนี้ว่าง แล้วนี่มันหายหัวไปไหนล่ะ อ้อ...แล้วเราชื่ออะไร?"

("ออฟฟิซ" เป็นชื่อพราง(รหัส)ของเพื่อนแฟ็กซ์คนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีม).

"สปาร์ค ปลั๊ก" ผมชื่อ "สปาร์คปลั๊ก" ครับ "ออฟฟิซ" ไปรับผมมาจากแนวมาด้วยกันเมื่อตอนสาย ตอนนี้คงอยู่ "สโตนวอลล์" มั้ง ผมโทรฯ เช็คให้เอาไหม?"

"เฮ่ย ไม่ต้อง..."สปาร์คปลั๊ก" หรือ?...เออ..เคยได้ยินแต่ชื่อ เพิ่งเจอตัววันนี้เอง ไม่มีอะไร...พอดีวันนี้พี่ว่าง เจอ "ออฟฟิซ" มันเมื่อวาน บอกวันนี้ว่างก็เลยแวะมาสนทนาด้วย"

ผู้มาเยือน "แฟ็ก B O Q." แนะนำตัวเองว่าชื่อ "พี่เชาว์" ทำงานอยู่ที่ J O C.หน่วยงานฝ่ายบุ๋นของ "สกาย" หรือ CIA.ที่ลาว

ผมร้องขอเบียร์และแก้วจากน้องก๋าย(เด็กรับใช้ประจำบ้าน)ให้พี่เชาว์ ก่อนขอตัวไปล้างหน้าล้างตาให้สดชื่นหายง่วง ก่อนจะรีบออกมาร่วมวงไพบูลย์ด้วย เพราะเปรี้ยวปากอยู่เหมือนกัน เนื่องจากไปลุยอยู่สนามรบมาเกือบเดือน เพิ่งกลับออกมาจากแนวหน้าวันนี้ดังกล่าว

บ่ายวันนั้น ผมและพี่เชาว์ หรือ เรือโท เชาวนะ รักษาศิลปะ อดีตนายทหารเรือผู้มีอันเป็นไปต้องออกจากราชการเพราะพิษสงกบฏ "แมนฮัตตัน" นั่งละเลียดเบียร์อยู่ในบ้านกันพักใหญ่ เมื่อติดลมแล้วพี่เชาว์จึงขับรถพากันออกมาต่อที่ร้านลาว-ไทย

และที่นั้น หลังพี่เชาว์สอบถามพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ แล้ว ก็ได้เล่าให้ฟังถึงปูมหลังที่พรหมลิขิตหักเหชักพาให้มาร่วมงานกับ "สกาย" ตั้งแต่รุ่น "ไวท์สตาร์" เฝ้าถนนและหาข่าวเรื่อยมา จนถึงยุคทหารเสือพรานรุ่นแรก ๆ ฝึกกันอยู่ที่เขาไม้ปล้อง จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพี่เชาว์เอง ต่อมาจึงย้ายมาฝึกที่เมืองกาญจนบุรีและพี่แกก็ได้ย้ายไปอยู่ด้วย เมื่อค่ายเมืองกาญจน์ฯ ถูกยุบ ย้ายศูนย์ฝึกทหารเสือพรานไปอยู่ที่ค่ายน้ำพอง จังหวัดขอนแก่นแล้ว พี่ท่านจึงข้ามมาลาวแทน มาถึงตอนนี้ พี่เชาว์จะอยู่ด้านงานบริหารไม่ได้ออกสนามรบ

หลังหมดเบียร์สิงห์รสชาติจืดชืดกว่าที่ขายบ้านเราไปสอง สามขวด พี่เชาว์ก็พูดคุยเหมือนรู้จักกันมานานปี

"สปาร์คปลั๊ก"...น้องรู้ไหม?...ว่าทหารเสือพรานรุ่นแรกที่ฝึกกันที่ปราจีนฯ นี่ใช้นามเรียกขานกันว่า "Yellow Tiger" หรือ "เสือเหลือง" ไม่ใช่ "ทหารเสือพราน" พูดจบ พี่เชาว์ยกแก้วเบียร์ขึ้นจิบอย่างสุขุม

"ทหารเสือเหลืองหรือ ตลกดีนะพี่ ฟังดูชอบกล ผมว่าทหารเสือพรานจะเข้าท่ากว่านะ"

"นั่นนะสิ แล้วไอ้ทหารเสือเหลืองนี่ มันไม่ได้ฝึกให้มารบที่ลาวนะ เขาตั้งใจจะให้ไปรบในเขมร แล้วยังไงก็ไม่รู้ ดันย้ายมาลาวซะนี่"

ชื่อทหารอาสาสมัครหน่วย "เสือเหลือง" สะกิดใจผมตั้งแต่วันนั้น อาจเป็นเพราะตัวผมเองและพรรคพวกสังกัดหน่วยเดียวกันก็เป็นอาสาสมัครมาร่วมรบในสมรภูมิลาว เพียงแต่เรามีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่างจากทหารเสือพราน กระนั้นเราก็ไม่ต่างจากนักรบผู้หนึ่ง แต่เป็น "นักรบกางเกงยีนส์" หรือนักรบพลเรือนที่สู้รบเสี่ยงตายเคียงบ่า เคียงไหล่กับทหารอาสาสมัคร "เสือพราน"(ทสพ.)เหมือนกัน

"เสือเหลือง" ชื่อนี้ดูเหมือนจะตรึงอยู่ในความทรงจำของผมตั้งแต่วันนั้น เมื่อผมถามพี่เชาว์ถึงความเป็นมาอันเป็นจุดกำเนิดของ "เสือเหลือง" ทหารอาสาสมัครหน่วยนี้ พี่ท่านกลับให้คำตอบโดยละเอียดไม่ได้ เหตุนี้ "เสือเหลือง" จึงเป็นเสมือนเสี้ยนเล็ก ๆ ที่ฝังอยู่ในเนื้อ หากไม่ถูกสะกิด ไม่ไปโดนถูกมันก็ไม่รู้สึกเป็นอะไร หากบังเอิญไปสัมผัสถูกเข้าย่อมรู้สึกแปร๊บทันที

หลายท่านอาจสงสัยว่า เพราะอะไรผมถึงให้ความสนใจกับชื่อนี้เป็นพิเศษ นั่นนะซี...! เพราะอะไรล่ะ?.

มีเหตุผลส่วนตัว หลายอย่างหลายประการที่ทำให้ผมสนใจชื่อ "เสือเหลือง" ซึ่งข้อสำคัญ มันอาจสืบเนื่องมาจากส่วนลึกของความผูกพันทางประวัติศาสตร์ที่เคยเลือกเรียนเป็นวิชาเอกในสมัยเด็กก็เป็นได้ เมื่อสนใจ,ฝังใจ,ใคร่รู้ เลยกลายเป็นการบ้าน ซึ่งพยายามหาคำเฉลยเรื่อยมา

กระทั่งมีคำตอบดังต่อไปนี้...

เมื่อกล่าวถึง "ทหารเสือพราน" (ทสพ.) ก็เป็นที่รู้กันเลา ๆ ว่าก่อนจะมี "เสือพราน" ประกาศศักดาในสมรภูมิ ณ แผ่นดินลาว มีหน่วยรบนาม "เสือเหลือง" เกิดขึ้นก่อน และสำหรับเรื่องของ "เสือเหลือง" ค้างคาใจผมมาตั้งแต่บัดนั้น และต่อมาเมื่อเลิกรบราฆ่าฟันในต่างแดนกลับคืนสู่มาตุภูมิแล้ว ก็พยายามเจาะลึกเพื่อตามล่าหาประวัติและความเป็นมาของ "เสือเหลือง" ต้นตระกูลของ "เสือพราน" เพื่อให้หายข้องใจ(ตามประสาคนใฝ่รู้ จากเอกวิชาประวัติศาสตร์).

แต่ดูเหมือนจะไม่มีทางเป็นไปได้ ก็ขนาดคนระดับเก๋ามือเก่าอย่างพี่เชาว์ (เรือโทเชาวนะ รักษาศิลปะ) ผู้เคยอยู่กับ "ไวท์สตาร์" อยู่กับ "สกาย" มาตั้งแต่ต้น ยังไม่รู้เรื่อง ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นความลับดำมืด ถามใครก็ไม่มีใครรู้ คนเก่า ๆ ทั้งทหารระดับนายพล และพลเรือนรุ่นซีเนียร์ เริ่มล้มหายตายจากไปเรื่อย ๆ(รวมทั้งพี่เชาว์ของพวกเราด้วย ที่ลาโลกไปหลายปีแล้ว)

แม้กระทั่ง "#สยุมภู ทศพล" หรือ "จสอ.ประจิม วงศ์สุวรรณ" เอง(นามสกุลคุ้นไหมครับ?) ซึ่งเป็นผู้เปิดศักราชนำเรื่องวีรกรรมนักรบทหารเสือพรานมาเปิดเผยครั้งแรกก็ไม่รู้เรื่องนี้ (#นักเขียนดังระดับที่นักอ่านนิยายบู๊ และนิยายสงครามครั้งสงครามอินโดจีนทุกท่าน รู้จัก ถ้าใครไม่เคยได้ยินชื่อ...แสดงว่า ไม่ใช่หนอนนิยาย หรือนักอ่าน) บางครั้งเมื่อเจออดีตทหารเสือพรานที่เคยอยู่กับกองพัน BC.601และเคยฝึกอยู่เขาไม้ปล้องมาตั้งแต่ยุค "เสือเหลือง" อย่าง ส.อ.ถาวร วรรณโชติ ซึ่งไม่ใช่อาสาสมัครทหารเสือพรานธรรมดาเพราะจบบัญชีมาจากเทคนิคกรุงเทพ ทุ่งมหาเมฆ ก็ยังไม่สามารถให้ความกระจ่างได้ นอกจากเขาจะบอกด้วยอารมณ์ขันว่า....

"ข้าได้ยินมา...เขาเคยเรียกหน่วยนี้ว่า "กรม.ขสส." หรือ "กรมเขมรสับสน"ว่ะ ตอนแรกที่คัดตัวอาสาสมัครเข้าฝึก เห็นว่ามันมีโครงการจะส่งหน่วยนี้ไปรบในเขมร แต่พอฝึกเสร็จกลับไม่ส่งไปตามที่กำหนดเอาไว้ แต่ให้กลับบ้านไปรอคำสั่งเรียก ต่อมาอีกพักใหญ่ ๆ ถึงได้เรียกตัวมาประจำการ แทนที่จะส่งไปเขมรกลับส่งไปรบในลาวแทน".

ผู้ถ่ายทอด สายตาล้าแล้วครับ...กำลังมัน พรุ่งนี้มาต่อกันครับ.

Chote Vanhakij
2 กันยายน 2560 เวลา 20:06 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1907685942885682&id=100009328851456

* * * * *


"ความหลังครั้งสงครามอินโดจีน"
จาก "เสือเหลือง" มาเป็น "เสือพราน" (2)

("ผม" ในความหมายนี้ หมายถึงเจ้าของเรื่อง ("สปาร์ค ปลั๊ก" ไม่ใช่เจ้าของเฟส...ถ้าเจ้าของเฟส "ผม"...จะแจ้งทุกครั้ง).

อย่างไรก็ตาม งานตามล่าหาความจริงในเรื่องนี้ของผม เพิ่งจะประสบความสำเร็จเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง เมื่อได้พบกับ เคนเนธ คอนบอย (Kenneth Conboy) อีกครั้งหลังจากห่างหายไม่พบกันหลายปี

(Kenneth เป็นนักเขียนชาวอเมริกัน เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์ สงครามอินโดจีน เคยทำงานวิจัยอยู่กับ Heritage Foundation, Washington DC. ซึ่งเป็นสถาบันเก่าแก่มีชื่อเสียงทางด้านการทหาร เคนได้อุทิศเวลาร่วม 20 ปี เพื่อค้นคว้าเรื่องราวของสงครามอินโดจีน โดยเฉพาะในประเทศลาว จนเข็นหนังสือเรื่อง "Shadow War" อันโด่งดังออกมา วันนี้หนังสือปกแข็งขนาด A4 หนาห้าร้อยกว่าหน้านี้ ได้ตีพิมพ์มาแล้วกว่า 10 ครั้ง ผมเองได้มีส่วนช่วยเหลือให้ข้อมูลบางส่วนที่ขาดหายไป จนสามารถปิดเล่มหนังสือนี้ได้ เมื่อ 26 ปีก่อน)

และ "เคนเนธ คอนบอย" คนนี้แหละ คือ ผู้ให้รายละเอียดและข้อมูลที่มาของหน่วย "เสือเหลือง" แก่ผม ซึ่งจะนำมาเปิดเผยให้ทราบดังนี้

เอาล่ะ...เรามารู้จักความเป็นมาของ "เสือเหลือง" ต้นตระกูลของ "เสือพราน" ตามข้อมูลที่มีอยู่ในมือผมดังต่อไปนี้...

ย้อนหลังกลับไปยุคสงครามเย็น เมื่อ 45 ปีก่อน (ประมาณปี พ.ศ.2513-2514)...

สถานการณ์ในประเทศกัมพูชา หรือเขมรเวลานั้น #นายพลลอนนอล นายทหารฝ่ายขวาซึ่งไม่พอใจพฤติกรรมเจ้าสีหนุที่ดูเหมือนจะปล่อยให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะเวียดนามเหนือบุกรุกเข้ามาใช้ดินแดนเขมรเป็นฐานสู้รบต่อกรกับโลกเสรี (มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่สุด) ลอน นอล จึงทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองโค่นล้มเจ้าสีหนุลงจากบัลลังก์ (บางเสียงกล่าวว่างานนี้ สำเร็จได้เพราะมีหน่วยงานลับ CIA ของอเมริกาเจ้าเก่าให้การสนับสนุน)

เดือนพฤษภาคม 2513....

ได้มีเครื่องบิน ซี.47 ดาร์โกต้า ทาสีลายพรางตามลำตัว ติดเครื่องหมายกองทัพอากาศลาว ร่อนมาลงที่สนามบินโปเชงตง กรุงพนมเปญ และแท็กซี่เคลื่อนเข้าไปจอดตรงจุดที่มีขบวนรถ และผู้คนรอรับอยู่

ผู้โดยสารที่ลงจากเครื่องบินลำนี้ ทั้งหมดเป็น VIP จากราชอาณาจักรลาว มีเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาสัก เป็นหัวหน้าคณะ นำทีมส่วนใหญ่มาจากลาวภาคใต้ ประกอบด้วย...

เจ้าสีสุก ณ จำปาสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายพลผาสุก สำลี แม่ทัพ ทชล. (ทหารแห่งชาติลาว) ภาค 4 พร้อมรอง คำมาย และ สุดใจ ผบ.หน่วยรบกองโจรพิเศษ ทชล.ภาค 4 เช่นกัน

ทั้งหมดมีนัดหมายสำคัญกับพลเอกลอน นอล ผู้นำเขมรอันเกี่ยวกับการอยู่รอดปลอดภัยของราชอาณาจักรลาว และประเทศเขมรร่วมกัน ซึ่งผู้นำเขมรและคณะรัฐบาลในสมัยนั้นได้จัดเตรียมการต้อนรับคณะบุคคลสำคัญจากราชอาณาจักรลาวผู้มาเยือนอย่างสมเกียรติ และจัดสถานที่การประชุมเจรจาครั้งสำคัญนี้

เหตุการณ์ครั้งนั้น นายพลสุดใจ ซึ่งต่อมาได้เป็นแม่ทัพภาค 4 เล่าในภายหลังว่า...

"ท่านนายพลลอน นอลผู้นำเขมรให้การต้อนรับคณะของเราอย่างอบอุ่น จัดดินเนอร์เลี้ยงอย่างมโหฬารที่วังของเจ้าสีหนุ (นายพลลอน นอล ยึดเป็นทำเนียบของรัฐบาลขณะนั้น) และมีพลจัตวา.ลอน นอลน้องชายของท่านลอน นอลร่วมวงอยู่ด้วย การสนทนาทั้งหมดเป็นภาษาฝรั่งเศษ ฝ่ายเราได้เจรจาขอร้องให้ท่านพิจารณาส่งทหารเขมร ไปช่วยรบที่ประเทศลาวตอนใต้ 2-3 กองพัน โดยให้เหตุผลว่าเวียดนามเหนือได้เสริมกำลังในลาวเขตนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ และจะแผ่อิทธิพลลงมาสู่เขมรในที่สุด จึงเป็นการดีสำหรับเขมรเองที่จะไปยับยั้ง และกวาดล้างข้าศึกเหล่านี้ในราชอาณาจักรลาว ก่อนที่ฝ่ายเวียดนามเหนือจะรุกคืบเข้ามาแผ่อิทธิพลในเขมรต่อไป แต่นายพลลอน นอลกล่าวง่าย ๆ ว่า "IIs vont se casser"(เราจะขย้ำมันเอง) ความหมายของคำพูดดังกล่าวของท่านผู้นำเขมร เท่ากับปฏิเสธ บอกปัดข้อเสนอของเราอย่างสิ้นเชิง...โดยท่านยืนยันว่าไม่หวั่นเกรงกองกำลังฝ่ายเวียดนามเหนือ และท่านสามารถรับมือได้อย่างสบาย"

คณะ VIP ของลาวต่างคอตก พกความผิดหวัง บินกลับบ้านในวันรุ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากอาหารมื้อค่ำหรูหราในวังของเจ้านโรดม สีหนุ ผ่านพ้นไปได้เพียงไม่กี่เดือน เหตุการณ์ในเขมรเริ่มเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ กองทัพฝ่ายนายพลลอน นอล ประสบกับความปราชัยในแทบทุกสมรภูมิที่มีการปะทะระหว่างกองกำลังเขมรรัฐบาล กับกองกำลังเวียดนามเหนือและเขมรแดง...ตลอดมา โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคตะวันออกใกล้ชายแดนเวียดนามใต้ ซึ่งเคยเป็นแหล่งซ่องสุมกองกำลังเวียดนามเหนือและเวียดกง ทั้งใช้เป็นที่หลบภัย รวมทั้งใช้เป็นเส้นทางข้ามไป-มาระหว่างเขมร-เวียดนามใต้ได้อย่างเสรี(ในสมัยของกษัตริย์สีหนุ)

สำหรับเวียดนามเหนือก็มีเหตุ ผลจำเป็นที่จะต้องผนึกกำลังกับเขมรแดง เพื่อโหมกำลังเข้าโจมตีฝ่ายนายพลลอน นอลอย่างหนักเพื่อดำเนินการเผด็จศึกยึดชิงพื้นที่อันเคยเป็นเสมือน "สรวงสวรรค์" ของตัวเองคืนกลับมาให้จงได้

ในช่วงที่เจ้าสีหนุเรืองอำนาจอยู่นั้น นอกจากพระองค์จะทรงทำตัวเป็นหอกข้างแคร่ของโลกเสรี โดยเฉพาะกับพี่เบิ้มอเมริกันที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอดแล้ว ยังดำเนินนโยบายแบบไม่รู้ไม่ชี้ "เอาหูไปนา เอาตาไปไร่" ปล่อยให้เวียดนามเหนือและเวียดกง ใช้ดินแดนเขมรใกล้ชายแดนเวียดนามใต้อย่างมีอิสระเต็มที่ให้เป็นที่พักพิงส้องสุมกำลังพล สะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ และใช้เป็นเส้นทางเคลื่อนไหวของกองกำลังต่าง ๆ

ที่สำคัญใช้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางโฮจิมินห์สายหลัก ลำเลียงอาวุธและกำลังพลจากเวียดนามเหนือวกผ่านเข้าลาวลงสู่เขมร แล้ววกเข้าเวียดนามใต้ได้อย่างเสรี รวมทั้งขนถ่ายสินค้าอันเป็นยุทธปัจจัยจากเรือของรัสเซีย, จีน และจากค่ายคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ที่แห่กันมาเทียบท่า "สีหนุวิลล์" ท่าเรือทันสมัยซึ่งสร้างขึ้นมาด้วยความช่วยเหลือของรัสเซีย ลำเลียงสินค้าผ่านเขมรส่งไปช่วยเวียดกงสู้รบกับกองกำลังของโลกเสรี ในสมรภูมิเวียดนามใต้อย่างเปิดเผย

แต่เมื่อนายพลลอน นอล ยึดอำนาจโค่นล้มระบอบสีหนุ และประกาศขับไล่กองกำลังต่างชาติ พร้อมทั้งร้องขอความช่วยเหลือทางด้านทหารและการเงินจากอเมริกา เพื่อปราบปรามกองกำลังเวียดนามเหนือที่รุกล้ำบูรณภาพเหนือดินแดนเขมรมาเป็นเวลาช้านาน จึงทำให้ "สวรรค์บนดิน" ของกองทัพเวียดนามเหนือล่ม จนต้องเร่งรัดรีบกอบกู้กลับคืนมา ก่อนที่การศึกในเวียดนามใต้จะกระทบกระเทือน และมีปัญหาไปมากกว่านี้

ความปราชัยของกองทัพเขมรต่อกองกำลังเวียดนามเหนือซ้ำแล้ว ซ้ำอีกในดินแดนเขมรนี่เอง ทำให้ท่าทีและความหยิ่งยโสของนายพลลอน นอล ผ่อนคลายลง ต่อมาได้มีการเจรจาหารือกันกับฝ่ายลาว ถึงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยการปิดเส้นทางโฮจิมินต์ในลาว อันเป็นเส้นทางลำเลียงสายหลักที่เหลืออยู่ เพราะเรือสินค้าค่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งเคยได้รับความสะดวกจากบริการของเจ้านโรดมสีหนุที่ท่าเรือ "สีหนุวิลล์" ต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิง และจำเป็นต้องหันไปใช้ท่าเรือไฮฟอง ซึ่งไม่ได้รับความสะดวกต่อการลำเลียงยุทธปัจจัย ผ่านเส้นทางโฮจิมินห์ สายเวียดนามเหนือ-ลาว-เขมร ไปสู่เวียดนามใต้

ดังนั้น เพื่อตัดตอนให้ข้าศึกอ่อนแอ โลกเสรีจึงต้องพิจารณาหาทางปิดกั้นเส้นทางสายนี้ เพื่อหยุดยั้งการส่งกำลังบำรุงของค่ายคอมมิวนิสต์ที่ดำเนินการมาอย่างเข้มแข็งนานปี

ในเรื่องนี้ทั้ง Washington และ CIA ได้ขยับเข้ามาเล่นเอง เพราะต้องการทดสอบและต้องการเห็นทฤษฎีของนิคสัน ( Nixon's Doctrin) ในการช่วยเหลือประเทศในภูมิภาคนี้ให้สามารถรวมตัวป้องกันตัวเองให้พ้นจากภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์อย่างเป็นไปได้จริง

ยุทธการนี้ใช้ชื่อรหัสว่า "คอปเปอร์"

หัวหน้า CIA ประจำพื้นที่ปากเซกล่าวไว้ว่า...

"โครงการนี้จะปิดเส้นทางโฮจิมินห์ที่ทอดจากลาวลงไปสู่เขมร โดยอาศัยกำลังทหารของเขมรเข้าช่วยปฏิบัติการ เพราะเขมรยังมีกำลังพลเหลืออยู่มาก ในขณะที่ลาวเองเหลือกำลังอยู่เพียงน้อยนิดเพราะกรากกรำศึกสู้รบมานานปี ภายในระยะเวลา 5 ปีนี้ เราจะฝึกทหารเขมรซึ่งอาจจะมีอีกมากมายหลายสิบกองพันให้มีความแกร่งกล้า มีสมรรถภาพเข้มแข็งสูงขึ้น"

ศูนย์ฝึกนี้อยู่ในราชอาณาจักรลาวตอนใต้ ณ พื้นที่..... "นครสิงห์" เรียกว่า PS.18 (พีเอส.18) ได้มีการสร้างแค้มป์ที่พักทหารเพิ่มขึ้น ขยายและปรับปรุงสนามบินใหม่ เพื่อจุดประสงค์ในการฝึกทหารเขมรรองรับภารกิจนี้โดยเฉพาะ

พีเอส.18 หรือ "นครสิงห์" อยู่ริมแม่น้ำโขงตรงข้าม ไทยด้าน อ.เขมราฐ (อุบลฯ) แต่เดิมเคยเป็นศูนย์ฝึกหน่วย เอส.จี.ยู (Special Guerilla Unit) หน่วยรบกองโจรพิเศษของลาว (ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปอยู่ศูนย์ฝึกแห่งใหม่ที่ พี เอส.46 วัดภู อยู่ห่างจากปากเซไปทางใต้ 31 ก.ม.)

วอชิงตันได้ตั้งความหวังไว้สูงมากดังจะเห็นได้ว่าได้ทุ่มเทงบประมาณให้กับทหารเขมรชุดนี้มากกว่าทหารแห่งชาติลาวเสียอีก โดยมี CIA.พยายามควบคุมดูแลการใช้เงิน (อย่างขี้เหนียว และประหยัดสุด ๆ) เห็นได้ชัดเจนว่าในขณะที่หน่วย เอส.จี.ยู.ของลาวส่วนใหญ่ยังใช้ปืน เอ็ม.2 หรือคาร์บินกันอยู่นั้น ทหารเขมรได้รับ เอ็ม.16 เป็นอาวุธประจำกาย นอกจากอาวุธประจำตัวที่เหนือกว่าแล้ว ทุกหน่วยยังมีปืน ค.60, ค.18 และบาซูก้า (คจตถ. 3.5) ใช้ครบกันทุกหมวดหมู่

หลังจากทหารเขมรกองพันแรกฝึกเสร็จ ก็เริ่มออกปฏิบัติการจริงในสมรภูมิภาคใต้ของลาวเป็นครั้งแรกทันที แต่กลับ "สอบตก ไม่ผ่าน".

เนื่องจากการทดสอบที่พิกัด พี เอส.38 กองพันแรกนี้ได้รุกคืบเข้าไปยึดพื้นที่เพื่อตั้งฐานที่มั่น แต่เจ้าถิ่นคือกองกำลังเวียดนามเหนือ ไม่ยอมให้ผู้บุกรุกตั้งหลัก ได้ส่งกองกำลังเข้าบุกโจมตีเพื่อทดสอบในคืนแรกที่กระโจนเข้าสู่สมรภูมินั้นเอง ทำให้กองพันนี้ สูญเสียกำลังพลไป 2 นาย บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง

วันรุ่งขึ้นกองพันเขมรที่ลุยเดี่ยวออกมานี้ ยอมถอดใจ ร้องขอไปยังหน่วยเหนือ ขออนุญาตถอนตัวกลับไปตั้งหลักที่ พี เอส.18 ก่อน

แต่คำตอบที่ได้รับคือ...ให้เสริมกำลัง ส่งกองพันที่ 2 เข้าไปสมทบอีก....

ขอเสริม (ก็รอดูกันครับ อนาคตเมืองไทยจะมีแบบนี้ไหม?...ตอนนี้ได้แต่รอดู และคาดการณ์จากเผด็จการที่ครองไทยอยู่ขณะนี้...จุดจบจะเป็นยังไง?...

ภาษิตจีนว่าไว้ "เดินทางกลางคืนเป็นระยะเวลานาน ก็มีโอกาสจะเจอผีเข้าสักวัน")

Chote Vanhakij
2 กันยายน 2560 เวลา 23:29 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1907814316206178&id=100009328851456

* * * * *


"เสือพรานสยายเขี้ยวเล็บ" (1)
"ครั้งแรก ณ สมรภูมิราชอาณาจักรลาว"

("ผม" เจ้าของเฟสขอเสริม (ช่วงยุคของความปั่นป่วนทางการเมือง, ไม่ว่าของประเทศไหน การเอารัดเอาเปรียบ, การกอบโกยโกงกิน, การเอื้อประโยชน์ทุกด้านแก่พวกพ้อง เพื่อให้มีฐานค้ำชูอำนาจ, การจับกุมเข่นฆ่าผู้เห็นต่าง เพื่อปกป้องฐานอำนาจของตัวเอง ฯลฯ นั้น มีทุกที่...แม้แต่ขณะนี้ ในเมืองไทย))

..................................

แต่ทันทีที่กองพันที่ 2 เคลื่อนย้ายเข้ามาเสริมทัพ กองกำลังเวียดนามเหนือก็ไม่ยอมรีรอที่จะให้เขมรทั้งสองกองพันตั้งหลักได้ ทุ่มกำลังเข้าโจมตีบุกแหลก ในคืนนั้นเอง ภายในระยะเวลาแค่ 12 ชั่วโมง เขมรทั้งสองกองพันต้องสูญเสียกำลังพลไปอีก 80 นาย

แน่นอนว่าเขมรทั้งสองกองพัน......ที่อาจหาญออกมารบนอกบ้านครั้งแรกมิได้รอช้า พากันใส่เกียร์ถอยหลังถอนตัวออกจากสมรภูมิ เดินตบเท้าเข้าเมืองปากซองทันที จากที่นั่นหน่วยเหนือส่งเครื่องบินลงมารับกำลังทั้งหมดไปพักเพื่อฟื้นฟูและปรับกำลังที่ พีเอส.18 อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเขมรทั้งสามกองพันนี้ต้องสลายตัว กลับคืนสู่ประเทศของตน ทั้งที่กองพันที่สามยังฝึกไม่สำเร็จและยังไม่จบการฝึกดี เลยไม่มีโอกาสได้ทันออกทดสอบในสนามรบเพื่อพิสูจน์ฝีมือ

ยุทธการ "คอปเปอร์" หรือ "ทองแดง" นี้จึงต้องมีอันพังทลายไปอย่างสิ้นเชิง จบสิ้นบทบาทไปแบบนกกระจอกยังไม่ทันกินน้ำ

ความพ่ายแพ้ของเขมรครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากผู้บังคับบัญชาที่ด้อยประสิทธิภาพ ทั้งตัว ผบ.หน่วย "คอปเปอร์" เอง คือ พ.ท. ลิม สีสาท ไม่ยอมออกไปสู่สนามรบแนวหน้า ส่วนใหญ่จะใช้เวลา "อู้" อยู่ส่วนหลัง จึงไม่สามารถควบคุมหน่วยได้ ที่ร้ายหนักกว่านั้นคือ พ.ต.ยูกิมเฮง รองผบ.หน่วย เป็นเขมรเชื้อสายจีนยังไปถูกจับเพราะอยากรวยทางลัด นำสินค้าซึ่งเป็นเฮโรอีนจากลาวเข้าไปขายในเขมร

ประเทศเขมรช่วงนั้น "น้ำกำลังขึ้น" เงินดอลล่าร์จากวอชิงตันสะพัดหลั่งไหลเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยอุดหนุนเสริมสร้างกองทัพให้แข็งแกร่งเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์...อย่างมากมาย

แต่เขมรก็เหมือนหลายชาติในอินโดจีนขณะนั้น ซึ่งมีผู้นำที่รักชาติจนน้ำลายไหล (#ไม่แตกต่างจากเมืองไทยในขณะนี้ปี พ.ศ.2560 "ผม...เจ้าของเฟส")มีการคอรัปชั่นกันอย่างกว้างขวาง

น้องชายของนายพลลอน นอล คือพลจัตวาลอน นน เอง ก็มีส่วนช่วยซ้ำเติมทำร้ายประเทศชาติของตน ด้วยการกอบโกยโกงกินมโหฬาร มีข่าวพัวพันกับการคอรัปชั่นทุกระดับชั้น ทำให้สถานการณ์ของพี่ชายและประเทศเขมรต้องย่ำแย่เสื่อมทรามลง

เป็นสาเหตุและเป็นจุดอ่อนทำให้รัฐบาลของลอน นอล ต้องล่มสลาย ต่อมาต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แตกหนีไปใช้ชีวิตบั้นปลายกลายเป็นเขมรอพยพ อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาในที่สุด (เสียชีวิตที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา)

เวียดนามเหนือและเขมรแดงจึงเป็นฝ่ายมีชัย ค่ายคอมมิวนิสต์สามารถยึดครองประเทศนี้ได้ และเป็นการยึดแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เจ้าสีหนุเองก็ไม่ยอมอยู่เพื่อคานอำนาจอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของเขมรแดงและเวียดนามไม่ได้จบเพียงเท่านี้ กลายเป็นมหากาพย์ยืดเยื้อยาวนานมากกว่าทศวรรษ เพราะนอกจากความขัดแย้งของแนวความคิดและปรัชญาคอมมิวนิสต์แล้ว เขมรแดงยังได้พลิกกลับลำ เพราะเกรงว่าเวียดนามเหนือจะเขมือบกลืนเขมรจึงต่อต้านทำลายล้างด้วยการเข่นฆ่าชาวเวียดนามในเขมรตายเป็นเบือ

เล่ากันว่าช่วงนั้น ปลาในแม่น้ำโขง และโตนเลสาบ (ทะเลสาบน้ำจืด ที่เกิดจากแม่น้ำโขงใหญ่ติดอันดับโลก)พากันอ้วนพีมีอาหารเหลือเฟือจากซากศพที่ลอยน้ำมาเป็นจำนวนมาก

ผู้นำเขมรแดงที่เคียดแค้นฮานอยตอบโต้ไล่ล่าจองล้างจองผลาญ เข่นฆ่าเวียดนามไปมากมายคือ นายพลตา ม็อก (ชื่อจัดตั้ง ไม่ใช่ชื่อจริงโปรดอ่านใต้ภาพ โดย "ผม...เจ้าของเฟส) ผู้อ้างว่าถูกฮานอยหักหลังครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.พื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงพนมเปญ(ในช่วงจูบปากกับเวียดนามเหนือร่วมกันต่อต้านการโค่นล้มจากรัฐบาลลอน นอล)

ดังนั้นเมื่อฝ่ายนายพลตา ม็อก มีอำนาจจึงเริ่มต้นปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยการเข่นฆ่าชาวเวียดนามบริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบและทั่วประเทศ

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างเหี้ยมโหด ซึ่งผู้กลายเป็นศพมีทั้งเวียดนาม เขมรกรอม และเขมรอำนาจเก่า จนต่อมากลายเป็นสาเหตุให้เวียดนามเหนือต้องส่งกำลัง 22 กองพลบุกเขมร โดยใช้ยุทธการ "ดอกบัวบาน" รุกมาจากหลายจุด รวมทั้งจากลาวตอนใต้ อ้างว่า "เพื่อปกป้องเผ่าพันธ์พลเมืองของตน"จนกลายเป็นศึกยืดเยื้อกว่าทศวรรษ

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยช่วงต้นปี พ.ศ.2513 หลังนายพลลอน นอล ยึดอำนาจจากสมเด็จพระสีหนุ(ขณะนี้ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ และกลายเป็นสามัญชนอยู่ในเขมร)ได้สำเร็จ ได้ป่าวประกาศขอความช่วยเหลือไปยังโลกเสรี เพื่อต่อสู้ปราบปรามคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะเวียดนามเหนือที่ฝังตัวอยู่ในเขมรมาช้านาน

ประเทศไทยซึ่งตระหนักถึงภัยอันตรายของคอมมิวนิสต์ขณะนั้น ก็ตกลงจะช่วยเขมรด้วยการส่งกองกำลังอาสาสมัครไปช่วยป้องกันรักษาเมืองต่าง ๆ ของเขมรเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยจากศัตรู

อาสาสมัครชุดแรกรับจากทหารกองหนุน โดยส่งตัวเข้าฝึกเพิ่มเติมอีกสามเดือนที่เขาไม้ปล้อง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลชายแดนเขมรมากนัก โดยรัฐบาลเขมรรับจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้(ซึ่งแน่นอนคงต้องจ่ายมาจากวอชิงตัน)

แต่สงครามที่ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางจนทั่วเขมร บวกกับการใช้จ่ายมีรูรั่วมากมายทำให้เขมร, รัฐบาลนายพลลอน นอล ไม่มีเงินเหลือพอที่จะมาช่วยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เมื่อทหารอาสาสมัครของไทยกว่าสามกองพัน(1,500 นาย) ในโครงการซึ่งมีชื่อเรียกัน อย่างไม่เป็นทางการว่า "Yellow Tiger" หรือ "เสือเหลือง" ที่ฝึกเสร็จครบตามกำหนดแล้ว ก็ต้องแหงนคอรอกันต่อไป ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ออกไปรบเสียที

นี่คือต้นกำเนิดที่มาของหน่วย "เสือเหลือง" (YELLOE TIGER).

อ.ส.ถาวร วรรณโชติ (ลาออกจากการเป็นข้าราชการสำนักงบประมาณกระทรวงการคลัง เพื่ออาสาออกไปรบในเขมร) เล่าให้ฟังถึงสาเหตุการตัดสินใจเข้าสู่สมรภูมิในเขมรว่า

"...เห็นบรรดาเพื่อน ๆ กลับจากเกาหลี กลับจากเวียดนาม ต่างมีเงินเหลือซื้อบ้าน ปลูกบ้านได้กันเป็นแถว ทบทวนดูแล้วไอ้เสมียนต๊อกต๋อยอย่างเรานี่ ชาตินี้คงไม่มีปัญญามีบ้านเป็นของตัวเองแน่ อย่ากระนั้นเลย ลาออกแม่ง..! ไปรบในเขมรดีกว่า เผื่อรอดกลับมาจะได้มีบ้านอยู่กับเขาบ้าง แต่เมื่อฝึกเสร็จแล้วพวกไล่กลับบ้าน ให้ไปรอฟังข่าวที่บ้าน ถ้าออกรบเมื่อไหร่จะเรียกไป ทุกคนก็งง คงเป็นเพราะเขมรสับสนเป็นแน่"

อดีต อ.ส.ถาวร (ปัจจุบันมีอายุกว่า 75 ปี, ขณะที่ผู้เขียนเขียนนี้ กรกฎาคม พ.ศ.2559) กล่าวตบท้ายว่า...

"วันที่ 9 กันยายน 2513 จะเป็นเพราะ "เขมรสับสน" หรือเป็นเพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปก็ตาม รัฐบาลไทยได้ออกประกาศว่า "จะไม่ส่งทหารไปรบที่เขมรแล้ว" ในการแถลงครั้งนี้ ไม่ได้กล่าวถึงอาสาสมัครทั้งกรม ซึ่งผ่านการฝึกเรียบร้อยแล้ว แต่ได้ส่งกลับภูมิลำเนาเดิมทั้งหมด

พวกอาสาสมัคร ซึ่งผ่านการฝึกเพื่อไปรบในเขมรต่างก็งงไปตาม ๆ กัน เพราะได้รับคำสั่งให้ไปคอยที่บ้านจนกว่าจะมีการเรียกตัว เมื่อมีประกาศจากทางการจะไม่ส่งกองกำลังทหารไปช่วยรบในเขมรแล้ว พวกอาสาสมัครก็เลยไม่รู้สถานภาพของตัวเองเป็นอะไร

แต่สถานการณ์ของหลายของประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนั้น ไม่ได้แปรผันในเชิงลบเฉพาะในเขมรเท่านั้น ในราชอาณาจักรลาวก็กำลังย่ำแย่เข้าขั้นวิกฤตคับขัน

เนื่องจากในอดีตที่ฝ่ายลาว ซึ่งเคยหวังจะพึ่งเขมรก็ไม่ได้ดังใจ เพราะกองพันของเขมรที่ส่งมาในลาวกลับแตกพ่ายหายจ้อยไปแบบสายฟ้าแลบ จึงจำเป็นต้องหา "ตัวช่วยใหม่" เพื่อช่วยกอบกู้สถานการณ์ต่อกรกับกองกำลังเวียดนามเหนืออันเกรียงไกรติดอันดับโลก ทั้งเวียดนามเหนือยังผนึกกำลังกับลาวฝ่ายซ้ายเข้าไปอีก
สำหรับการสู้รบในลาวเวลานั้นกองกำลังฝ่ายรัฐบาลลาวกำลังตกเป็นรองชนิดเจียนไป เจียนอยู่ จึงมีการเจรจาระดับสูงจากหลายฝ่ายอย่างเร่งด่วน

ในที่สุดทางวอชิงตัน ซึ่งกำลังวิตกกังวลกับความปราชัยของฝ่ายโลกเสรี ทั้งในเวียดนาม(เวียดนามใต้) ลาว และเขมร โดยเฉพาะสถานการณ์ในราชอาณาจักรลาว ที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถยึดพื้นที่ได้ถึงสองในสามของประเทศ คงเหลือเพียงหัวเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้นที่ยังเหลืออยู่ในมือของลาวฝ่ายขวา และฝ่ายเป็นกลาง แต่ก็ไม่รู้จะยื้อไว้ได้อีกนานเท่าไร

อเมริกันจึงได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เรื่องงบประมาณของเหล่าอาสาสมัครที่ปราจีนบุรีโดยตรง โดยไม่ต้องให้ใครฟาดหัวคิวจนก่อให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา

อาสาสมัคร 3 กองพันที่ผ่านการฝึก ณ เขาไม้ปล้อง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งตอนแรกก็มีโครงการจะส่งไปช่วยรบในเขมรแต่มีปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เข้ามาแทรก ทำให้โครงการนี้ระงับไป บรรดา อ.ส.ที่ผ่านการฝึกทุกนายได้รับคำสั่งให้กลับไปคอย ณ ภูมิลำเนาเดิมก่อน หากมีการเปลี่ยนแปลงจะมีคำสั่งส่งไปเรียกตัว

เมื่อพี่เบิ้มอเมริกันเข้ามามีบทบาทแสดงเอง กำลังรบอาสาสมัครหน่วยนี้จึงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

Chote Vanhakij
3 กันยายน 2560 เวลา 10:15 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1908067172847559&id=100009328851456

* * * * *


"เสือพรานสยายเขี้ยวเล็บ" (2)
"ครั้งแรก ณ สมรภูมิราชอาณาจักรลาว"

ในฟากฝั่งค่ายคอมมิวนิสต์สมัยนั้น รัสเซียและจีนให้การสนับสนุนเวียดนามเหนือเต็มที่ ฮานอยจึงกล้าเปิด "ยุทธการ 139" เพื่อปฏิบัติการสู้รบเต็มรูปแบบในลาว สำหรับ "ยุทธการ 139" นี้ มีที่มาของชื่อจากการกำหนดวันที่ 13 เดือน 9 เป็นวันเริ่มปฏิบัติการตามแผนการ โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง...

ระยะแรก เริ่มจากเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ.2513, ระยะที่สองเริ่มจากเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พ.ศ.2513

ฝ่ายโลกเสรีก็น่าจะรู้ว่าเวียดนามเหนือเตรียมการรุกครั้งใหญ่ในลาวภายใต้แผนยุทธการ 139 ฝ่ายไทย......(และสหรัฐอเมริกา)จึงประกาศเป็นที่รู้กันว่าจะไม่ส่งอาสาสมัครที่ผ่านการฝึก ณ เขาไม้ปล้อง จ.ปราจีนบุรี ไปช่วยรบในเขมรแล้ว
แต่จะส่งไปช่วยรบในสมรภูมิลาวแทน!!

ในห้วงเวลานั้น...พล.อ.โว เหวียน เกี๊ยบ เสนาธิการผู้เปรื่องปราชญ์ของกองทัพเวียดนามเหนือ เริ่มต้นศักราชของการบุกครั้งนี้ด้วยกองพล 316 และกองพลที่ 312 พร้อมด้วยการสนับสนุนจากรถถัง และปืนใหญ่ 130 อันทรงอานุภาพ ทำให้นักรบลาวต้องแตกพ่ายแทบทุกสมรภูมิ ทหารชาติลาว และทหารม้งของนายพลวัง ปาว ประสบความปราชัยในการรบอย่างยับเยิน

ทุ่งไหหินตกอยู่ในเงื้อมมือของเวียดนามเหนืออีกครั้ง

หลังจากกองพลที่ 316 ซึ่งเป็นดุจหัวหอกบุกทะลวงเข้าสู่ชุมทางหนองเพชร แล้วยึดทุ่งไหหินไว้ในกำมือ แล้วแบ่งกำลังออกเป็นสามส่วนแยกไปตีเมืองสุย เมืองอ่าง และบ้านนา เมื่อจุดยุทธศาสตร์ทั้งสามได้แล้วก็มารวมกำลังกันอีกครั้ง เพื่อเข้าตีขุมกำลังใหญ่นายพลวังปาวที่รักษาซำทอง และล่องแจ้ง เพื่อเผด็จศึกขั้นแตกหัก ก่อนจะเข้ายึดเมืองหลวงเวียงจันทร์

กำลังพลของเวียดนามเหนือรุกคืบหน้าอย่างเมามันจนมาถึงซำทอง หรือพิกัด แอลเอส-20

กลางเดือนมีนาคม 2513 ซำทองที่มั่นสำคัญในภาค 2 รองจากล่องแจ้งก็จบเห่ กองกำลังทหารม้งของนายพลวัง ปาว แตกยับเยิน ซำทองตกอยู่ในเงื้อมมือทหารเวียดนามเหนือ, กรม 148 ที่บุกเข้ายึดเมืองนี้ได้ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2513

กองทหารเวียดนามเหนือเผาทำลายอาคารบ้านเรือนราษฎรทุกแห่ง แม้แต่โรงพยาบาลก็ไม่ได้รับการยกเว้นสร้างความเสียหายให้แก่ซัมทองอย่างย่อยยับ ราษฎรชาวม้ง, ชาวลาว ซึ่งอยู่อาศัยรอบ ๆ ซำทองต่างหอบลูก จูงหลานอพยพหลบหนีกระเจิดกระเจิง ประสบภาวะเดือดร้อนแสนสาหัส

สถานการณ์ขณะนั้นทำให้ล่องแจ้งตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่ง และเสี่ยงต่อการสูญเสียล่องแจ้งอันเป็นปราการด่านสุดท้ายของรัฐบาลลาว

รัฐบาลลาว...เรียกร้องความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อสหรัฐอเมริกา ทำให้ "นายเทพ" หรือ พันเอกวิทูรย์ ยะสวัสดิ์ (ยศขณะนั้น) ผบ.333 ต้องตัดสินใจส่งทหารจากกรมผสม 13 อุดรธานี ทั้งทหารราบและปืนใหญ่ ลำเลียงขึ้นเครื่อง ซ.130 ข้ามโขงเพื่อไปปกป้องช่วยเหลือล่องแจ้ง และสามารถหยุดยั้งการรุกรบของฝ่ายเวียดนามเหนือได้ทันท่วงที

ต่อมา เมื่อ ทชล.(ทหารแห่งชาติลาว) และกองกำลังทหารม้งภายใต้บังคับบัญชาของนายพลวัง ปาว ตั้งหลักได้ จึงผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อตั้งรับ และเริ่มเดินหน้ากดดันฝ่ายเวียดนามเหนือให้หยุดชะงักและช่วงชิงพื้นที่กลับคืนมาได้หลายส่วน

ขณะเดียวกันฝ่ายเวียดนามเหนือก็ประสบกับปัญหาหลายอย่าง เนื่องจากรุก รบเร็วเกินไป และล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่ไกลเกินกว่าจะยึดครองได้อย่างเด็ดขาด อุปสรรคการส่งกำลังบำรุง และยุทโธปกรณ์เกิดตามมา รวมทั้งมีการโจมตีเส้นทางส่งกำลังบำรุงอย่างหนัก ประกอบกับใกล้จะถึงฤดูฝนอันเป็นอุปสรรคสำคัญในการสู้รบทำให้ฮานอยมีคำสั่งให้ยุติการบุกเพียงแค่นี้ก่อน แล้วให้ถอยกลับไปตั้งมั่นที่ทุ่งไหหิน

หลังจากเวียดนามเหนือถอยทัพและล้มเลิกความตั้งใจที่จะยึดล่องแจ้งให้ได้ สถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลายเป็นลำดับ แต่ทหารไทยจากกรมผสมที่ 13 ยังไม่ได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังกลับคืนประเทศไทยทั้งหมด โดยให้ตรึงกำลังไว้บางส่วน ณ จุดยุทธศาสตร์สำคัญหลายแห่ง เพื่อปกป้องล่องแจ้ง ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

"ยุทธการ 139 สร้างความประหลาดใจให้กับฝ่ายโลกเสรี เพราะเป็นครั้งแรกที่กองทัพเวียดนามเหนือได้นำยุทธวิธีนี้มาใช้ในราชอาณาจักรลาว นั่นคือการผสมผสานระหว่างกองกำลังฝ่ายต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทั้งทหารราบ, แซปเปอร์, ดักกง, ทหารช่าง, รถถัง, รถหุ้มเกราะ และอาวุธหนักแบบต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการยิงที่เหนือกว่าและแม่นยำกว่า เช่น ปืนใหญ่ 130 ที่มีระยะยิงไกลกว่า 30 กม.มาใช้เป็นครั้งแรกในสมรภูมิ"

และเป็นที่น่าสังเกตว่ายุทธวิธีการสู้รบของฝ่ายเวียดนามเหนือปีนี้ไม่ได้ "มาแล้วไป" เมื่อย่างเข้าฤดูฝนเหมือนปีก่อน ๆ แต่ครั้งนี้ฮานอยให้คงกำลังจำนวนมากไว้เพื่อยึดพื้นที่ตามจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ในราชอาณาจักรลาวอย่างมั่นคงถาวร ดังนั้นเมื่อสิ้นฤดูฝน พื้นที่ภาค 2 ก็ต้องเตรียมตั้งรับการรุกของฝ่ายข้าศึกคือเวียดนามเหนืออย่างเต็มที่

รวมทั้งภาคอื่น ๆ ของลาวก็น่าจะเผชิญการคุกคามจากกองทัพเวียดนามเหนืออย่างหนักเช่นกัน เพราะกองกำลังเวียดนามเหนือได้กระจายตั้งฐานทั่วทุกภาค หัวเมืองสำคัญหลายแห่งของลาว อาทิ แขวงอัตตะปือก็อยู่ในเงื้อมมือของเวียดนามเหนือ และขบวนการประเทดลาว

ฝ่ายโลกเสรีทั้งไทยและสหรัฐอเมริกา ต่างวิตกกังวลกับสถานการณ์ที่ลาวเผชิญอยู่ในเวลานั้น

เพนตากอน หรือ กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา จึงสัญญาจะรับภาระสนับสนุนค่าใช้จ่ายของทหารไทยอาสาสมัคร 5,000 นาย หรือประมาณ 10 กองพัน ที่จะข้ามโขงไปช่วยปกป้องลาวให้พ้นจากภัยคุกคามของฝ่ายคอมมิวนิสต์

แต่รัฐบาลลาว ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ แม้ไม่มีทางหลีกเลี่ยงที่จะปฏิเสธทหารไทยเข้าไปช่วยลาวรบเพื่อยับยั้งการรุกของเวียดนามเหนือ กระนั้นผู้บริหารประเทศหลายคน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีเจ้าสุวรรณภูมา ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้ไทยเข้าแทรกแซง

ทว่าไม่มีทางเลือกอื่น กอปรกับได้เห็นผลงานของกรมผสมที่ 13 ของไทยซึ่งเคยช่วยล่องแจ้งไม่ให้ถูกเวียดนามเหนือยึดครองมาแล้ว ทำให้ลาวจำยอมรับทหารไทยเข้าไปปฏิบัติภารกิจในแผ่นดินลาว กระนั้นรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมาก็ตั้งเงื่อนไขไว้สองข้อ คือ

1. ทหารไทยต้องประจำการให้อยู่ห่างไกลจากเวียงจันทร์ ให้พ้นสายตาของกองทัพนักข่าว

2. ทหารไทยต้องอยู่ในสมรภูมิที่มีภัยอันตราย และถูกคุกคามจากศัตรูอย่างแท้จริง
จากความเห็นร่วมระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา-ลาว โดยเฉพาะไทย เล็งเห็นว่าพื้นที่สำคัญที่ควรได้รับการปกป้อง คือ พื้นที่ราบสูงโบโลเว่น (Plateau des Bolovens) เขตอิทธิพลของกองพลที่ 968 ของเวียดนามเหนือ ซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่นี่มานาน นอกจากอยู่ไม่ห่างจากปากเซ เมืองสำคัญที่ใหญ่ที่สุดของลาวตอนใต้ ยังอยู่ใกล้ไทยและเขมร

โดยเฉพาะปากเซ ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยไม่กี่สิบกิโลเมตร หากปากเซต้องมีอันเป็นไปอยู่ในเงื้อมมือของคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ลาวเท่านั้นที่จะเดือดร้อน ทั้งไทย เขมร และเวียดนามใต้ย่อมจะตกอยู่ในภาวะอันตรายอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

(ปากเซอยู่ห่างจากชายแดนไทย ช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี ประมาณ 50 กม.)

วันที่ 13 ธันวาคม 2513 เป็นวันประวัติศาสตร์ของกองกำลัง "ทหารเสือพราน"(ทสพ.)ที่ควรจารึกไว้ เมื่ออาสาสมัครทหารเสือพราน 2 กองพันแรก บินตรงจากสนามบินหน้าค่ายจักรพงษ์ปราจีนบุรี ทยอยมาลงตั้งหลักค้างคืนที่ภูหลวง หรือ พีเอส.44 ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของทหารรัฐบาลลาว สังกัดกองทัพภาคที่ 4 บนที่ราบสูงโบโลเว่น

และกองพันทหารเสือพราน 2 กองพันนี้ คือหน่วยรบหน่วยแรกของอาสาสมัครทหารเสือพรานในสมรภูมิลาว

โปรดอ่านต่อฉบับหน้า อิ อิ.......

(อาสาสมัครทหารเสือพราน เปิดฉากขยายเขี้ยวเล็บ ครั้งแรก ณ สมรภูมิราชอาณาจักรลาว).

Chote Vanhakij
3 กันยายน 2560 เวลา 14:48 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1908144082839868&id=100009328851456

* * * * *


"เสือพรานสยายเขี้ยวเล็บ" (3)
"ครั้งแรก ณ สมรภูมิราชอาณาจักรลาว"

สองกองพันดังกล่าวได้รับชื่อโค้ด หรือ ชื่อพรางเป็นภาษาฝรั่งเศส คือ BC.601 และ BC.602(กองพันจู่โจม BC=Battalion Commando) ต่อมาเรียกกันสั้น ๆ ว่า พัน.1 มีนายทหารไฟแรงอดีตเป็นครูฝึกสอนการยิงปืน ค. ให้นักเรียนนายร้อย จปร. ใช้ชื่อพรางว่า "คำคม"... (พ.ต.จรวย นิ่มดิษฐ์)เป็น ผบ.พัน ส่วน บีซี.602 หรือ พัน.2 ได้ "ทองอินทร์" หรือ (พ.ต.ประกาย คารวะ) เป็น ผบ.พัน

ทั้งสองกองพันมีเหล่า "หมวกแดง" จากหน่วยรบพิเศษป่าหวาย ลพบุรี 25 คน เป็นพี่เลี้ยงคอยประกบช่วยเหลือทั้งสองกองพันตลอดเวลา โดยแบ่งออกเป็นสองทีม ทีมแรกจำนวน 13 นาย ประกบอยู่กับ บีซี.601 และที่เหลืออีก 12 นาย ประจำอยู่กับ บีซี.602

มีผู้กล่าวว่า สิงห์ "หมวกแดง" ทั้ง 25 นายนี้ ถูกส่งมาตามคำสั่งของจอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร ผบ.ทบ.ซึ่งห่วงใยว่าเหล่าอาสาสมัครทหารพรานถูกส่งเข้าไปอยู่ในเขตอิทธิพลของกองพล 968 ของเวียดนามเหนือ (วนน.) อย่างโดดเดี่ยว ปราศจากอาวุธหนัก( ปืนใหญ่) และการสนับสนุนใด ๆ อาจจะละลายแบบทหารเขมรที่เจอมาแล้ว จึงจัดชุดป่าหวายมาเป็นพี่เลี้ยง

ทั้งสองกองพันนี้ ยังมีนายทหารระดับหัวกะทิอีกสองคนในชื่อพรางคือ "อภิชาติ" (พ.ต.สมิทธิ์โชติ เวียนขุนทด) และ "ปัจจา" ทั้งคู่เป็นนายทหารยุทธการ หรือ เสธ.คอยดูแลทั้งสองกองพันอย่างใกล้ชิด

ส่วนที่ บก.ฉก.สน.(กองบัญชาการเฉพาะกิจ ส่วนหน้า) นั้น มี "ดาบ" หรือ (พ.ท.เฉลิม ประสมทรัพย์) นายทหารรูปหล่อ ร่างสูงใหญ่ ผิวขาว จาก จปร.เป็น ผบ.ทหารทั้งหมดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ หน."ธารา"

ในเวลาต่อมา(เลยถือเป็นรูปแบบการจัดกองพัน...เจ้าของเฟส) อาสาสมัครเสือพรานทุกกองพัน ทั้งทหารราบและเหล่าปืนใหญ่ต่างใช้ตัวอักษร BC ตามด้วยตัวเลข 600 เป็นตัวหลัก แต่พันปืนจะใช้ BA(Battalion Artillery) หรือกองพันปืนใหญ่ ทหารเสือพรานที่ข้ามโขงไปรบในลาวทั้งหมด จัดรูปแบบโดยให้หนึ่งกองพัน มีสามกองร้อย บวกหนึ่งหมวดอาวุธหนัก

นายทหารหรือเจ้าหน้าที่โครงการมี 22 นาย ส่วนใหญ่ประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตร และชั้นประทวนจากกองทัพบก(เซ็นใบลาออกจากราชการแล้ว) เสนารักษ์ประจำหมวดหมู่อีก 33 นาย และเหล่าอาสาสมัครซึ่งส่วนใหญ่มาจากกองหนุนที่ได้ผ่านการฝึกมาจาก......... "Special Forces"..."Green Berets" หรือ "หมวกเขียว" หน่วยรบพิเศษอเมริกันจากค่ายฝึกต่าง ๆ อีก 495 นาย รวมกำลังเต็มอัตรา ทั้งหมด 552 นาย (แต่ไม่เคยเต็ม)

จาก พีเอส.44 (ภูหลวง) ทหารเสือพรานทั้งสองกองพันได้ขึ้นเครื่องบินปีกหมุน หรือ ฮ.ไปลงที่สนามบินบ้านห้วยทราย จากบันทึกของ ส.อ.ถาวร วรรณโชติ (ยศในสนามรบ)หนึ่งในอาสาสมัครเสือพรานรุ่นแรกที่ผ่านการฝึกจากเขาไม้ปล้อง ได้ให้รายละเอียดช่วงนี้ไว้ว่า.......

ทั้งสองกองพันไปลงที่บริเวณ บ้านห้วยทราย บนที่ราบสูงโบโลเว่น ห่างจากเมืองปากซองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 19 กม.ทั้งหมดต้องเผชิญกับอากาศหนาวเย็นที่คาดไม่ถึงเนื่องจากเป็นที่สูง จนต้องขอสนับสนุนเสื้อกันหนาวโดยด่วน

แต่ฝรั่งซึ่งเป็นซีโอ. หรือตัวแทนของ "สกาย" หรือ ซีไอเอ.ไม่เชื่อว่าหนาวจริง ถึงกับบินมาด้วยตัวเอง หลังจากเจออากาศหนาวสะท้านเข้าเต็ม ๆ ก็วิทยุติดต่อให้นำเสื้อกันหนาวหลากหลายชนิดมากองไว้ที่สนามบิน มีทั้งแจ็กเก็ตเนวี และฟิลด์แจ็กเก็ต ของ ทบ.อเมริกันให้เลือกเอาคนละตัว

ตกค่ำวันนั้นเอง ขณะทั้งสองกองพันยังไม่ตั้งหลักดี ข้าศึกก็ทำสงครามจิตวิทยาเปิดฉากข่มขวัญและรบกวนทันที โดยทหารเวียดนามเหนือต้อนฝูงวัวหลายสิบตัววิ่งเข้ามาเคลียร์กับระเบิดที่วางไว้ตลอดหน้าแนวเพื่อให้พวกวัวสะดุดพลุแฟร์ และกับระเบิดที่เราวางดักไว้

ทหารทั้งสองกองพันใช้ปืนเล็กประจำกายยิงไล่ วัวบางตัวล้มลงดิ้น บางตัวเตลิดไปตัวละทิศละทาง เว้นว่างสักพักพวกมันก็ต้อนเข้ามาอีก เล่นเอาเสือพรานทุกนายตื่นตัวตลอดเวลา ไม่ได้หลับได้นอนกันทั้งคืน แต่ก็มีหลายคนเก็บอาการได้ นิ่งเฉยไม่ตื่นเต้น

เช้าวันรุ่งขึ้นกำลังพลส่วนหนึ่งที่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(พื้นเพคนอีสาน) ถือเอาวิกฤตเป็นโอกาส พากันออกไปยิงวัวบางตัวซึ่งล้มบาดเจ็บทรมานเพราะถูกกับระเบิด แล่เอาเนื้อแบกกลับมา ทำลาบ หลู้ กินกันอย่างเอร็ดอร่อย

ตอนสายของวันนั้น ผบ.พัน กับคณะได้ยกพวกพากันไปที่หมู่บ้านห้วยทราย ซึ่งยังมีชาวบ้านอาศัยอยู่ นายบ้านให้การว่า เมื่อคืนนี้มีทหารเวียดนามเหนือ ที่ประจำอยู่ในเขตพื้นที่นี้ บอกว่าจะเข้าโจมตีฐานที่ตั้งทหารซึ่งมาประจำการใหม่ แต่ชาวบ้านเห็นพวกเราขนอาวุธยุทโธปกรณ์ลงจากเครื่องบินมากมาย ได้ขอร้องไว้ เพราะกลัวว่าจะโดนลูกหลงถล่มหมู่บ้านไปด้วย

การออกไปพบปะกับชาวบ้าน ในหมู่บ้านห้วยทราย และได้ข่าวจากนายบ้านดังกล่าว ผบ.พัน ได้รายงานให้หน่วยเหนือรับทราบ หน่วยเหนือซึ่งห่วงใยความปลอดภัยของชุมชนเล็ก ๆ แห่งนั้น จึงมีคำสั่งให้ "คำคม" บอกให้ชาวบ้านอพยพออกจากหมู่บ้านเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง แล้วเดินทางไปอยู่ที่เมืองปากซองทันที

ซึ่งชาวบ้านก็ยินยอมทำตามคำบอกทุกอย่าง ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาชาวบ้านห้วยทราย และสัมภาระของทุกคนในครอบครัวก็ถูกขนย้ายด้วยการแบกหามบ้าง ใส่ในเกวียนเทียมควายบ้าง รวมทั้งสัตว์เลี้ยงทุกชนิดที่นำติดตัวไปด้วยได้ จากนั้น หญิง ชาย คนเฒ่า คนแก่ และเด็กเล็กก็เคลื่อนขบวนมุ่งหน้าไปยังเมืองปากซอง

หลังจากหมู่บ้านห้วยทรายกลายเป็นหมู่บ้านร้าง ผบ.พันและนายทหารฝ่ายยุทธการ หรือ เสธ.ทั้งหมด ได้เดินสำรวจภูมิประเทศภายในหมู่บ้านและบริเวณโดยรอบ พิจารณาทำเลภูมิประเทศโดยละเอียด ก่อนตัดสินใจย้ายที่ตั้งฐานมายังหมู่บ้านห้วยทรายซึ่งกลายเป็นหมู่บ้านร้างนั้น

การตั้งฐานของสองกองพันกองพันทั้งสองวางแนวออกเป็น 2 ฐาน ลักษณะวงรีเหมือนกัน โดยแยกออกจากกัน มีเส้นทางเดินเป็นถนนสายเล็ก ๆ พาดผ่านตรงกลางระหว่างฐานทั้งสองแห่ง ความยาวของฐานของพัน.1. พัน.2.มีความยาวจากทิศเหนือไปใต้ และมีลำธารสายเล็ก ๆ ผ่าน ปลายสุดของฐาน ทั้งสองด้าน

ไกลออกไปทางด้านทิศเหนือของฐานประมาณ 3 กม.มีหมู่บ้านสิบกว่าหลังคาเรือนตั้งอยู่ และเป็นหมู่บ้านซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของกองกำลังฝ่ายข้าศึก เลยจากหมู่บ้านออกไปเป็นป่าทึบ มีภูเขาสูงตั้งตระหง่านอยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 10 กม. คาดว่าเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของข้าศึก

ตลอดวันนั้นทหารเสือพรานทั้งสองกองพันใช้เวลาทั้งหมดเสริมสร้างฐานที่มั่น ขุดหลุมบุคคล วางกับดัก สร้างแนวป้องกัน ขึงลวดหนามหีบเพลงวางรอบฐาน 3-5 ชั้น เว้นช่องว่างระหว่างชั้นไว้เป็นพื้นที่สังหาร วางกับระเบิดและแฟล์สะดุดตลอดหน้าแนวป้องกันการรุกประชิดจนถึงตัว

และเพื่อความแน่นอน "คำคม" ผบ.บีซี.601หรือ "ครูจรวย"ที่นักเรียนนายร้อย จปร.รู้จักดี เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องปืน ค.คนหนึ่งที่หาตัวจับยาก เป็นผู้กำกับดูแลวางที่ตั้งปืน ค.ไว้ตามจุดสำคัญรอบฐานของทั้งสองกองพัน และทดสอบการยิงโดยวางพิกัดไว้ให้ครอบคลุมพื้นที่รอบฐานอย่างใกล้ชิดด้วยตัวเอง

ทหารเสือพรานทั้งสองกองพันทุกหมวดหมู่ ทุกกองร้อยได้รับการซักซ้อมวิธีการปฏิบัติเมื่อข้าศึกเข้าโจมตีอย่างติวเข้ม.

อดใจรอสักนิด...! พรุ่งนี้มาต่อครับ.

Chote Vanhakij
4 กันยายน 2560 เวลา 23:59 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1908882782765998&id=100009328851456

* * * * *


"เสือพรานสยายเขี้ยวเล็บ" (4)
"ครั้งแรก ณ สมรภูมิราชอาณาจักรลาว"

ที่เน้นหนักและให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ระเบียบวินัยในการใช้เสียง แสงไฟ และกำชับให้สงบนิ่ง ให้คำนึงว่าเราอยู่ในที่มั่นแข็งแรงมั่นคง ถ้าข้าศึกเข้าโจมตีก่อนอย่าร้อนรน อย่าส่งเสียง ห้ามเคลื่อนย้ายต้องประจำอยู่ในที่มั่นของตน

ที่สำคัญคือวินัยการยิง ห้ามยิงเด็ดขาดจนกว่าจะได้รับคำสั่งให้ยิง

นอกจากทั้งสองกองพันจะต้องระมัดระวังข้าศึกอย่างเต็มที่ ยังต้องรบกับหมัดหมาและแมลงอย่างหนัก เนื่องจากหลังชาวบ้านย้ายออกไป เหล่าทหารเสือพรานได้ไปรื้อฝาบ้าน กระดานเรือนมาทำบังเกอร์ที่มั่น เจ้าหมัดหมา, เห็บหมา, ตลอดจนแมลงซึ่งติดอยู่ในบ้านจึงหันมาเล่นงานทหารไทยอย่างสนุกมัน ทำให้เสือพรานจำนวนมาก ทั้งสองกองพันเป็นผื่นแดง, แสบ, คันทั้งตัว

ถึงขั้นต้องรองขอไปยังหน่วยเหนือให้ส่งยาทาและผงโรยป้องกันหมัดหมา มาสนับสนุน นั่นแหละความไม่เป็นปกติสุขจึงค่อยบรรเทาลงได้

ทหารเสือพรานอยู่อย่างเป็นสุขในฐานที่ตั้งบ้านห้วยทรายได้ไม่กี่วัน ก็เจอกับการต้อนรับของข้าศึกเป็นครั้งแรก คืนนั้นข้าศึกยิงจรวด 122 มาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นระยะ แต่วิถียิงก็ขาดความแม่นยำ ส่วนใหญ่จะตกไประเบิดเลยฐาน หรือตะเข็บฐานทั้งหมด

กระนั้นก็ยังมีจรวดลูกหนึ่งบังเอิญพุ่งมาลงหลุมบุคคลของ ร.ต.สำเนียง เนตรน้อย ถึงกับขาขาดทั้งสองข้าง

"ฮิลท็อป" เป็นแฟ็กประจำกรมซึ่งมีอยู่คนเดียว ได้วิทยุให้เครื่องบินไปตรวจสอบหาที่ตั้งตำแหน่งที่มาของจรวดเหล่านั้น ต่อมาได้นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดถล่มจึงเงียบหายไปพักใหญ่ แต่อีกไม่นานก็กลับมาถล่มอีก คราวนี้นอกจากจรวดแล้วยังมี ค.82 ลอบเข้ามาตั้งยิงแล้วเผ่นหนี

ตั้งแต่วันนั้นกองพัน บีซี.601 และ บีซี.602 ถูกข้าศึกยิงรบกวนทั้งกลางวัน กลางคืนเพียงแต่แนวกระสุนที่ตกไม่สร้างความเสียหายให้ฐานกองพันทั้งสองฐานเนื่องจากข้าศึกไม่สามารถรุกเข้ามาในระยะใกล้ได้ เพราะฝ่ายเราตอบโต้สวนกลับทุกครั้งด้วยอาวุธหนักเหมือนกัน

โดยเฉพาะ "คำคม" ผบ.พัน (ครูจรวย) ครูฝึกปืน ค.เชี่ยวชาญอาวุธหนักประเภทนี้เป็นพิเศษ เมื่อไหร่ที่ข้าศึกเปิดฉากลอบโจมตี ท่านจะบัญชาการรบด้วยตัวเอง และสั่งปืน ค.ที่วางตำแหน่งไว้หลายจุดยิงสวนกลับ จนหยุดยั้งความฮึกเหิมของฝ่ายตรงข้ามให้สลายไป

สถานการณ์ลอบเข้ามาโจมตีด้วยอาวุธยาวแล้วฉากหนีของข้าศึก กดดันให้ทหารเสือพรานสังกัด บีซี.601 และ บีซี.602.เกิดความเครียดสูง ถึงเวลากลางคืนก็แทบไม่มีโอกาสหลับนอน เพราะกัมปนาทไม่ขาดระยะของระเบิด ขณะเดียวกันก็เท่ากับเพิ่มความแกร่งให้นักรบอาสาสมัครขึ้นอีก

กองพัน บีซี.601 และ บีซี.602 ไม่ผิดกับตกอยู่ในสถานการณ์ถูกบังคับให้ซ้อมรบตั้งรับกราย ๆ จนการประสานงานภายในฐานลื่นไหลได้เป็นอย่างดี และเมื่อว่างเว้นจากการถูกโจมตี ทหารพรานทุกนายก็ต้องทำงานเสริมที่มั่น ทุกจุดอย่างหนัก ตลอด 9 วัน

#ในที่สุดก็ถึงวาระที่ทหารเสือพรานทั้งสองกองพัน เสมือนได้รับการทดสอบความแข็งแกร่งของฐานที่ตั้งเป็นครั้งแรก

เริ่มแรกตั้งแต่เช้าประมาณเวลา 07.00 น.ข้าศึกได้ยิงถล่มใส่ฐานของสองกองพันด้วยอาวุธหนักนานาชนิด ทำให้อาสาสมัครได้รับบาดเจ็บไป 4 นาย ข้าศึกมาจากกรม 9 กองพลที่ 968 ของกองทัพบกประชาชนเวียดนาม (PAVN = People Army of Vietnam)ซึ่งได้ควบคุมบริเวณนี้มาช้านาน โดยมีฐานทัพตั้งอยู่แถวเมืองสาละวัน

ตกดึกคืนวันที่ 15 มกราคม 2514 เวลา 23.00 น.

ข้าศึกได้ถล่มอาวุธหนักประเคนมาให้มากกว่า 300 นัด กระสุนทั้งหมดลงที่มั่นเดิม คือข้างสนามบิน (ชั่วคราว) ห้วยทราย ทิศเหนือของฐาน ฝ่ายข้าศึกคงหมดค่ากระสุนอาวุธหนักไปมากมายหลายล้านบาทแต่สองกองพันยังปลอดภัย

ต่อมา เช้าวันที่ 18 มกราคม ระหว่างนายทหารกำลังประชุมหารือวางแผนกันอยู่ ที่ บก.พัน ได้มี อ.ส.นอกประจำการจำนวนหนึ่ง 30-40 นาย ทนความกดดันไม่ไหว นำอาวุธประจำกายพร้อมเป้สนามหนีออกจากฐานเดินเท้าไปทางปากซอง
ผบ.บีซี.601 และ ผบ. บีซี.602 มีคำสั่งให้จัดตั้งหน่วยติดตาม เพื่อยับยั้ง อ.ส.ทหารพรานที่ละทิ้งหน้าที่ระหว่างการรบ แฟ็กประจำกรม "ฮิลท็อป" ได้เรียกเครื่องบินมาค้นหาจนพบและนำทางคณะติดตามไปเจรจากับ อส.ทหารพรานเหล่านั้น และไปทันกันใกล้กับสนามบินปากซอง สถานการณ์ขณะนั้นเป็นไปอย่างเคร่งเครียด เพราะถ้า อ.ส.ทหารพรานที่เข้าข่ายหนีทัพไม่ยอมวางอาวุธก็ต้องยิงกัน

ร้อนถึงหัวหน้า "เทพ" (พ.อ.วิทูรย์ ยะสวัสดิ์).(ยศขณะนั้น)ต้องบินด่วนมายังฐานบ้านห้วยทราย เพื่อแก้ไขสถานการณ์

หลังจากได้รับรายงานสถานการณ์ จากนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาโดยละเอียด จึงเรียกประชุมทหารพราน อาสาสมัครทั้ง 2 กองพัน คือ บีซี.601 และ บีซี.602 ทั้งหมด หัวหน้า "เทพ" กล่าวกับทหารทุกนายว่าการอาสามารบครั้งนี้เป็นการอาสาของตัวทหารเอง ไม่ได้บังคับมาหรือเกณฑ์มา เมื่อมีอาสาสมัครไม่เต็มใจจะปฏิบัติการสู้รบ ทางกองพันก็จะไม่บังคับขืนใจ เพราะภารกิจนี้จะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ฉะนั้นขอให้ทุกคนตัดสินใจเอาเอง ถ้าสมัครใจจะอยู่เพื่อสู้ต่อตามเดิมก็ไม่ต้องเคลื่อนไหวใด ๆ หากใครไม่อยากอยู่ก็ให้ก้าวเท้าออกมาจากแถว

สิ้นคำประกาศของหัวหน้า "เทพ" มี อ.ส.ทหารพรานสละสิทธิ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนมากพอสมควร โดยเฉพาะกองพัน บีซี.602 ที่มี "ทองอินทร์" เป็น ผบ.พัน มักจะมีปัญหาเรื่องการดูแล และความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกำลังพล จนเกิดช่องว่างไม่ประสานกันได้ มี อ.ส.ทหารพรานสละสิทธิ์นับ 100 นาย ส่วน บีซี.601 ซึ่งมี "คำคม" (ครูจรวย)เป็น ผบ.พัน ไม่มีปัญหาเรื่องดังกล่าว จึงมี อ.ส.ขอถอนตัวไม่กี่คน

เมื่อกำลังทหารขาดจำนวนไปเช่นนี้ ย่อมทำให้หลายเบิร์ม หลายที่มั่นมีทหารประจำจุดไม่ครบ บางจุดเหลืออยู่คนเดียว เพราะ "บัดดี้"(เพื่อนคู่หู)ได้สละสิทธิ์หนีกลับไทยไปแล้ว

อ.ส.ทหารพรานที่สละสิทธิ์ทั้งหมดถูกนำไปยังสนามบินปากซอง โดยหัวหน้า "เทพ" เรียกเจ้าหน้าที่การเงินมาจาก บก.อุดร มาจ่ายเงินให้ที่สนามบินปากซองแก่ทุกคนที่สละสิทธิ์จนครบถ้วน แถมมี อ.ส.ทหารพรานจากหน่วยติดตามหลายนายเกิดถอดใจ ขอสละสิทธิ์ขึ้นเครื่องบินกลับไทยเอาดื้อ ๆ

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ จึงทำให้ทหารทั้ง 2 กองพันที่ฐานห้วยทรายเหลืออยู่ประมาณ 800 กว่านาย (จากจำนวนเต็มอัตรากองพันละ 550 นายรวมทั้งสองกองพัน 1,100 นาย)

หน."เทพ" ซึ่งช่วงนั้นคงไม่รู้จะทำอย่างไร และไม่สามารถส่งกำลังไปเพิ่มให้ได้ครบเต็มจำนวน ท่านถึงกับเปรยว่า "ช่างมันโว้ย...เหลือเท่านี้ ก็รบเท่านี้"

เหตุผลการที่มี อ.ส.ทหารพรานสละสิทธิ์ขอกลับเมืองไทยครั้งนั้น พอประเมินได้อย่างคร่าว ๆ ว่าน่าจะมีสาเหตุหลายประการ เช่น เงินเดือนน้อย สภาพความเป็นอยู่ในสนามรบไม่เหมือนเกาหลีและเวียดนาม ซึ่งอาหารการกิน, สภาพความเป็นอยู่ และสวัสดิการดีกว่ามาก ทั้งมีพีเอ็กซ์ (ร้านค้าในค่ายทหาร...เจ้าของเฟส)ให้บริการเต็มที่ ตลอดจนได้รับการสนับสนุนจากปืนใหญ่ตลอดเวลา

แต่ที่นี่ไม่มีปืนใหญ่ให้การสนับสนุน เป็นสองกองพันเสมือนถูกปล่อยทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวอยู่ในดงข้าศึก

กลางคืนก็ไม่ได้หลับได้นอนทั้งคืน บางคืนได้ยินเหมือนเสียงรถถังทางทิศเหนือของฐาน ต้องออกไปซุ่มรอต่อต้านรถถัง วางกับระเบิดเตรียมถล่มรถถังตามเส้นทางที่คาดว่ารถถังต้องลุยเข้ามาแน่ แต่รถถังก็ไม่ยอมโผล่มาสักที

คงเป็นกลลวงหรือการทำสงครามจิตวิทยา นอกจากนั้นยังมีเสียงเหมือนการเจาะหินในยามค่ำคืนตลอดทั้งคืน ไม่รู้ข้าศึกมันเจาะภูเขาไว้เก็บอะไร สันนิษฐานกันไปต่าง ๆ นานา เพราะไม่สามารถลาดตระเวนเข้าไปค้นหาที่มาของเสียงได้ เนื่องจากการลาดตระเวนไม่คุ้มต่อการเสี่ยง ด้วยพื้นที่เต็มไปด้วยกับระเบิดของฝ่ายข้าศึกที่วางป้องกันไว้

หลังจากกำลังพลส่วนหนึ่งสละสิทธิ์เผ่นกลับเมืองไทย ทำให้กำลังที่เหลือของสองกองพันขาดหายไป หลายร้อยนายไม่เต็มตามอัตรา แต่เสือพรานที่เหลือก็เท่ากับพิสูจน์ตัวเองว่าเป็น "ของจริง" ใจเกินร้อยทั้งสิ้น

แม้จะถูกโจมตีด้วยจรวดทุกวัน วันละ 3 เวลาก็ตามแต่ไม่ได้ทำให้ บีซี.601 และ บีซี.602 เสียขวัญหมดกำลังใจ กระทั่งถึงวาระวันสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทหารทุกนายได้แต่ฉลองกันเงียบ ๆ ภายในฐาน ท่ามกลางความกดดันจากสถานการณ์รอบด้าน

#ยิ่งไปกว่านั้นความกระหายต้องการรบของทหารหลายกลุ่มในฐานที่มั่น เพิ่มอัตรารุนแรงแทบระงับไม่ได้

เช่น รท.สมบูรณ์เกียรติ สิทธิเดชะ ผบ.ร้อย 2 บีซี.602. ถึงกับทำพิธีตั้งศาลเพียงตาสักการะพระเจ้าตากสิน วิงวอนขอให้ข้าศึก เข้าตีทางด้านของตัวเองก่อน
แต่อีกกระแสหนึ่งเชื่อว่าความคาดการณ์ของหน่วยการข่าวฝ่ายข้าศึกผิดพลาด(จากการบอกเล่าของทหารเสือพรานบางท่านที่อยู่ในเหตุการณ์)...ยืนยันว่าหน่วยสอดแนมของกรม 9 เวียดนามเหนือเข้าใจว่าทหารสองกองพันนี้เป็นทหารเขมร และน่าจะมีประสิทธิภาพพอ ๆ กับทหารเขมรสองกองพันซึ่งเคยส่งมารบในโครงการ "คอปเปอร์" และถูกทหารเวียดนามเหนือกรมนี้ล่อซะเละจน "แตกด่วน"ภายใน 12 ชั่วโมง.

ซึ่งได้เขียนมาแล้วเมื่อตอนต้นเรื่อง

โปรดอ่านต่อฉบับหน้า....

Chote Vanhakij
5 กันยายน 2560 เวลา 23:22 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1908882782765998&id=100009328851456

* * * * *


"เสือพรานสยายเขี้ยวเล็บ" (5)
"ครั้งแรก ณ สมรภูมิราชอาณาจักรลาว"

...ทั้งนี้ก็เพราะมีอาสาสมัครทหารพรานส่วนหนึ่งมาจากจังหวัดภาคอีสานใกล้ชายแดนเขมร โดยเฉพาะทหารของพัน.1 ซึ่ง อ.ส.หลายท่านมีภูมิลำเนามาจากจังหวัดสุรินทร์, บุรีรัมย์ และศรีษะเกษ ซึ่งจะใช้ภาษาพูดเป็นภาษาเขมร ส่งเสียงโหวกเหวกอยู่หน้าแนว ได้ยินไปไกล

หน่วยหาข่าวของเวียดนามเหนือ น่าจะมาฝังตัวสืบหารายละเอียดจากฐานที่ตั้งของ 2 กองพัน จึงเข้าใจว่ากำลังทหารเสือพราน (ทสพ) ของไทย เป็นกองกำลังทหารเขมร หรือเป็นฐานของ ทชล.(ทหารแห่งชาติลาว) ซึ่งกรม 9 ของเวียดนามเหนือเคยสยบมาแล้วทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ฝ่ายข้าศึกจึงประเมินศักยภาพของกำลังเสือพรานผิดพลาดเพราะประมาท และประเมินความแข็งแกร่งของทหารฝ่ายตรงข้ามต่ำกว่าความเป็นจริง ประกอบกับการกดดันของเวียดนามเหนือด้วยอาวุธหนักระยะไกลซึ่งโหมกระหน่ำอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่ง ทำให้เวียดนามเหนือคาดว่าทหารทั้ง 2 กองพัน คงอ่อนเปลี้ยหมดกำลังใจไปแล้ว ฉะนั้น จึงเห็นสมควรเปิดฉากทลายกำลัง 2 กองพันเสียที

ในที่สุดวันเวลาที่ทุกคนใจจดใจจ่อเฝ้ารอคอยก็มาถึง

กลางดึกยามค่ำคืนอันหนาวเหน็บ ของวันที่ 8 มกราคม 2514 เวลาประมาณ ตี 2 ทหารเวียดนามเหนือเจนศึก สังกัดกรม 9 จำนวนมาก เคลื่อนกำลังพลเข้ามาสองทิศทาง คือ ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันตกเฉียงเหนือ

ดูเหมือนฝ่ายข้าศึกจะมีความฮึกเหิมและมั่นใจเต็มที่ หมายได้ชัยชนะครั้งนี้
"ริงเกอร์" หรือ เทิดศักดิ์ โพธิลักษณ์ อดีตผู้นำการโจมตีทางอากาศ ซึ่งช่วงนั้นยังทำหน้าที่เป็นแค่ผู้ช่วย "ฮิลท็อป" และได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ยุทธการนองเลือดที่บ้านห้วยทราย ได้เล่าให้ฟังว่า..

"ฝ่ายเราคาดการณ์เอาไว้แล้วว่า ข้าศึกจะต้องเข้าตีคืนนี้ เพราะจากข่าวกรองและมีสิ่งบอกเหตุหลายอย่างที่แสดงให้รับรู้ ทั้งสองกองพันก็ได้เตรียมพร้อมเต็มอัตรามาหลายคืนแล้ว เพียงแต่สงบนิ่งไม่เคลื่อนไหวให้ผิดสังเกต คืนนั้นเอง หน่วย "แซปเปอร์" ของฝ่ายมัน อาศัยความมืดเลื้อยเข้ามาจนถึงด่านแรก และสามารถปลดกู้กับระเบิดที่วางไว้หน้าแนวได้เกือบหมด และตัดลวดหนามที่มีหลายชั้นเข้ามาอย่างใจเย็น"

"เราสังเกตเห็นข้าศึกตั้งแต่แรกแล้ว ส่วนใหญ่นุ่งผ้าเตี่ยวผืนเดียว เสื้อก็ไม่ใส่ เห็นตัวขาวโพลนทั้งที่อากาศหนาวจะตาย ดูผิดมนุษย์มนา แต่เราก็ปล่อยให้มันเข้ามาเรื่อย ๆ "ตามแผนปิดประตูตีแมว" ฝ่ายเราทุกคนเข้าประจำตำแหน่งที่ได้ซักซ้อมกันไว้ และเฝ้าดูอย่างเงียบกริบ"

"แต่ละคนใจเย็น ไม่มีตื่นเต้น และไม่ยิงจนกว่าจะได้รับคำสั่ง เราปล่อยให้ข้าศึกเข้ามาใน "KILLING ZONE" (พื้นที่สังหาร) ปล่อยให้ผ่านแนวรั้วลวดหนามเข้ามาเรื่อย ๆ ฝ่ายข้าศึกคงคิดว่าทหารทั้ง 2 กองพัน คงมุดหัวนอนหลับสนิทแน่ ส่วนเวรยามก็คงซุกอยู่ในผ้าห่ม กรนครอก ๆ เหมือนกัน หารู้ไม่ว่าทหารเสือพรานล้วนเล็งศูนย์ปืนเลือกเป้าของใครของมันเงียบเชียบ"

"กระทั่งข้าศึกไหลเข้ามาอยู่ในแนวรั้วลวดหนามด้านใน ซึ่งเป็นลวดหนามอีกชั้นก่อนจะมาถึงบังเกอร์ฝ่ายเรา ซึ่งขณะนั้นก็เท่ากับขังพวกมันไว้ให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ถูกบีบบังคับจากแนวรั้วลวดหนามทั้งด้านหน้า และด้านหลัง"

"สักพักพวกมันก็ทยอยกันเข้ามาเต็ม คราวนี้ไม่ใช่พวก "แซปเปอร์" อย่างเดียว แต่เป็นทหารสวมเครื่องแบบมีอาวุธครบมือ เกือบทุกคนมีเป้สะพายหลังมาด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นเป้เปล่า มีแค่ขนมโก๋ ผ้าพันแผล และมอร์ฟีน ตรงนี้มาค้นพบทีหลัง ช่วงนับศพของเช้าวันรุ่งขึ้น พวกมันเอาเป้เปล่ามาเพื่อขนของกลับฐานมัน.....มั่นใจกันถึงขนาดนั้นเลยแหละ มั่นใจว่าฐานเราต้องแตกแน่ ๆ"

"เมื่อฝ่ายมันเข้ามาเงียบ ๆ ฝ่ายเราก็เฝ้าดูเงียบ ๆ เหมือนกัน ในที่สุดระหว่างแซปเปอร์กำลังเริ่มตัดลวดหนามแนวสุดท้าย เราก็ได้รับสัญญาณให้ยิง"

"พริบตานั้น มันเหมือนกับนรกแตก พวกเราอยู่ในที่กำบังมิดชิด เปิดฉากยิงถล่มเข้าใส่แบบหูดับตับไหม้ ยิงและยิงเข้าใส่พวกมันที่อยู่ในพื้นที่ลานโล่งระหว่างลวดหนาม ไอ้พวกนั้นเข้าก็ไม่ได้ ถอยออกก็ไม่ได้ เหมือนไล่ยิงฝูงเก้ง ฝูงกระต่ายเห็น ๆ พวกมันล้มกลิ้งระเนระนาด แต่เมื่อตั้งหลักได้ก็พยายามต่อสู้ บางคนหลุดฝ่าแนวลวดหนามออกมาได้"

"ก็พยายามวิ่งชาร์จเข้ามาหา แต่ก็ต้องพรุนเมื่อเจอเสือพรานสาดลูกปืนเข้าสกัด ข้าศึกคงทั้งตกใจ และแปลกใจ คาดไม่ถึงว่าเราจะตั้งหลักต้อนรับมันได้เหนียวแน่นอย่างนี้ ขณะเดียวกันหมวดอาวุธหนัก ก็ถล่ม ค.ไปด้านหน้าแนว และตามจุดต่าง ๆ ที่วางตำแหน่งไว้อย่างหนาแน่น"

ถาวร วรรณโชติ อาสาสมัครทหารเสือพราน ประจำ บีซี.601 ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์วันนั้นและทำหน้าที่ควบคุมการยิงปืน ค.60 เล่าว่า....

"คืนนั้นผมเข้าเวร พอถึงเวลาตี 2 คู่เวรผมบอกหิวข้าว แล้วเดินออกไปหาอะไรกินที่โรงครัว หายไปแป๊ปเดียว ก็วิ่งตาหูแหกกลับมา บอกว่า "พ่อมึงมาแล้วโว้ย" ทีแรกก็ไม่รู้ว่าแซปเปอร์ได้ตัดลวดหนามแหกด่านแรกเข้ามาแล้ว เพราะมันมาเงียบจริง ๆ พอได้รับสัญญาณให้ยิงได้ผมก็คุมลูกน้องระดมยิง ค.ไปทางหน้าแนว ใกล้บ้าง ไกลบ้าง ทำ "โซนสวีป" ยิงกวาดไปบ้าง คาดว่าสร้างความเสียหายให้กับพวกมันพอสมควร แต่ที่แปลกคือไอ้ลูกน้องผมมันโวยวาย อ้างว่ามองเห็นศพของพวกมัน ที่กองสุมระเนระนาดอยู่ระหว่างลวดหนามกระดุก กระดิกได้"

ซึ่งเรื่องนี้ ถาวร วรรณโชติ ขณะนั้นคงไม่ทราบว่า ทหารเวียดนามเหนือจะไม่ยอมทิ้งศพพรรคพวกของตนไว้ให้ศัตรูเป็นอันขาด แม้บางครั้งจะต้องแลกด้วยการเสียศพเพิ่มก็ตาม นอกจากจะเป็นประเพณีปฏิบัติแล้ว ยังเป็นเรื่องของขวัญและกำลังใจนักรบด้วยกัน ศพข้าศึกที่เห็นว่าเคลื่อนไหวได้ก็คือ ศพที่ถูกพวกเดียวกันพยายามลอบเข้ามาลากกลับออกไป ด้วยการใช้เชือกผูกตะขอเหล็กปลายแหลมสามแฉกขว้างเข้ามาเกี่ยวศพ แล้วดึงลากออกไป

วิธีนี้บางทีผู้ที่ถูกเกี่ยวออกไปยังไม่เสียชีวิตอาจแค่บาดเจ็บหรือสลบไป แต่ข้าศึกไม่มีตัวเลือกอื่น เพราะดีกว่าทิ้งผู้บาดเจ็บไว้ให้ตกไปอยู่ในเงื้อมมือศัตรู

ผลการสู้รบในคืนเลือดเดือดคืนนั้น กว่ากระสุนนัดสุดท้ายจะสิ้นเสียงก็เมื่อขอบฟ้าเรื่อเรืองด้วยแสงอรุณ

วันรุ่งขึ้น เวลาเช้าตรู่ หลังจากเสียงปืนเงียบสงบ ทั้งสองกองพันได้ออกเคลียร์หน้าแนว พบศพของข้าศึกที่ไม่สามารถนำออกไปได้ นอนตายเกลื่อนกลาดทับถมอยู่บนลวดหนาม โดยเฉพาะตามแนวระหว่างรั้วลวดหนาม กรม 9 เวียดนามเหนือ ได้ทิ้งศพทหารเวียดนามเหนือไว้ให้นับได้ถึง 131 ศพ และจับเป็นเชลยศึกทหารประจำการเวียดนามเหนือได้อีกสามคน คือ พลทหารล็อค มิน ฮัง และ พลทหาร ฮอง วัน เคือง แต่อีกคนเสียชีวิตเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว

นอกจากศพแล้ว ข้าศึกยังได้ทิ้งอาวุธไว้ให้ดูเป็นที่ระลึกต่างหน้าอีกร่วม 500 รายการ

ส่วนทหารไทย บีซี.602 เสียชีวิตไปหนึ่งคน(เข้าใจว่าโดนกระสุนพวกเดียวกัน) และบาดเจ็บอีกหนึ่งคน เนื่องจากโดนลังกระสุนทับใส่ ขณะเครื่องบินมาทิ้งสัมภาระให้ในช่วงวิกฤติหน้าสิ่ว หน้าขวาน

"ถาวร วรรณโชติ" อีกนั่นแหละที่ยืนยันถึงสาเหตุทหารเสือพรานผู้นั้นไม่ได้สิ้นชีพเพราะกระสุนศัตรู...

"สาเหตุที่ตายเพราะ "บัดดี้" ประกบคู่อยู่ด้วยกัน สละสิทธิ์ขอกลับเมืองไทย เลยเหลืออยู่คนเดียวในบังเกอร์ มันยิงจนกระสุนหมด เลยวิ่งออกจากบังเกอร์ตัวเองไปหากระสุนมาเพิ่มเติม ซึ่งผู้บังคับบัญชาสั่งไว้แล้วว่าอย่าได้ออกไปเพ่นพ่านเป็นอันขาด ให้ประจำอยู่ในที่มั่นตัวเอง ที่เสียชีวิตคงโดนปืนพวกเดียวกันแน่ เพราะตอนนั้นกำลังสับสนสุด ๆ ไม่รู้ใครเป็นใคร ถ้ามีบัดดี้ช่วยประกบด้วยกัน และกักตุนกระสุนไว้ให้พอ...คงไม่ตาย"

เช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อวิทยุรายงานวีรกรรมของทหารไทยครั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงที่ บก.333 อุดรฯ สงสัยไม่อยากเชื่อว่าเป็นไปได้ ที่ทหารไทยทั้งสองกองพัน (ไม่เต็มจำนวน) จะสร้างความเสียหายให้กับศัตรูได้มากมายถึงขนาดนี้

ผบ.ฉก.สน. ที่ยืนฟังรายงานทางวิทยุไปยังบก.333 อุดรฯ หน้านิ่วคิ้วขมวดด้วยความไม่พอใจอยู่ข้าง ๆ ต้องคว้าแฮนด์เซ็ตจากพนักงานวิทยุมายืนยันด้วยตัวเอง...

"นี่ผมดาบนะ...ผมนับมันด้วยมือของผมเอง"...คำพูดของ พ.ท.เฉลิม ประสมทรัพย์....

อ่านต่อฉบับหน้าครับ.......

Chote Vanhakij
7 กันยายน 2560 เวลา 00:10 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1909991735988436&id=100009328851456

* * * * *


"เสือพรานสยายเขี้ยวเล็บ" (6)
"ครั้งแรก ณ สมรภูมิราชอาณาจักรลาว"

"นี่ผมดาบ...นะ...!! ผมนับมันด้วยมือของผมเอง"... พ.ท.เฉลิม ประสมทรัพย์ หรือ หัวหน้า "ดาบ" กรอกคำยืนยันใส่ในวิทยุเสียงลั่นเพื่อตอบข้อกังขาของทาง บก.333 อุดรฯ ที่ไม่เชื่อว่าเป็นความจริง

ถาวร เล่าว่า ตอนเช้าหลังการปะทะ "คำคม" ได้นำกำลังพลออกกวาดล้างข้าศึกหน้าแนวเป็นหน้ากระดานเรียงหนึ่งออกไปในระยะ 1 ก.ม.ไปพบ บก.ของข้าศึกเป็นแอ่งธรรมชาติ มีพบอุปกรณ์สายโทรศัพท์ และสัมภาระต่าง ๆ รวมทั้งหม้อหุงต้มและที่นึ่งข้าวเหนียว และไปพบข้าศึกหลบซ่อนอยู่ใต้ขอนไม้ บาดเจ็บสาหัสมีผ้าพันแผลตามตัวหลายแห่ง มือขวาถือระเบิดมือแบบสากกะเบือ และเมื่อไม่ยอมจำนนจะขว้างระเบิดเข้าใส่จึงถูกยิงตายใต้ขอนไม้นั่นเอง แต่เมื่อเดินไกลออกไปเป็นป่าทึบไม่สามารถออกกวาดล้างได้ แต่มีร่องรอยของข้าศึกจึงพากันกลับเข้าฐาน ต่อมา "ฮิลท็อป" ได้นำเครื่อง เอฟ. เข้าถล่มจุดนี้

อาวุธที่ยึดมาได้ส่วนใหญ่เป็นอาก้าแบบพับฐาน และไม่พับฐาน พร้อมยึดอุปกรณ์เครื่องรบพร้อมเสบียงกรังมากมาย

"นายเทพ" ได้บินมาเยี่ยมของตอนสายวันเดียวกัน ประกาศว่าใครยึดปืนพกได้ ให้เอามา...จะให้กระบอกละ 1,000 บาท ปรากฏว่า "วิมล" ซึ่งไม่ได้ออกกวาดล้างแต่ก็ไวทายาด หยิบปืนจากเป้ของข้าศึกมาเก็บไว้หน้าตาเฉย เลยได้รางวัลจาก "นายเทพ" ไป นอกจากปืนพกแล้วจะมีมีดพกขนาดเล็กในซองหนังสีน้ำตาลคล้ำ ซึ่ง "นายเทพ" ได้ไปจากงานนี้เช่นกัน และท่านจะพกเหน็บติดตัวไว้ตลอดเวลาที่ออกสนามเหมือนเครื่องรางของขลังประจำตัว

#ส่วนศพของทหารเวียดนามเหนือที่ถูกทิ้งค้างหลงเหลืออยู่ทั้งหมด ทหารไทยทั้งสองกองพัน มิได้ละเลยเพิกเฉย ได้ระดมนำทหารทั้งสองกองพันร่วมด้วยช่วยกันทำหน้าที่ระดมขุดหลุมไม่ห่างจากหน้าแนวรบมากนัก และนำร่างไร้วิญญาณของเหล่าทหาร "ผู้กล้า" จากเวียดนามเหนือของกรม 9 แห่งกองพลที่ 968 ทั้ง 131 นายลงหลุม

ต่อจากนั้นได้ขอน้ำมันมาจากหน่วยเหนือจำนวนมากนำมาเป็นเชื้อเพลิง ทำพิธีการฌาปนกิจศพทั้งหมดในหลุมนั้นเอง และทำการฝังกลบ

อย่างไรก็ตาม...หลังผ่านไปหลายวันมีกลิ่นศพเหม็นโชยมาตามลมเป็นครั้งคราว กลิ่นมาจากจุดที่ "ฮิลท็อป" ได้เรียกเครื่องบิน เอฟ. มาถล่มในป่าทึบหลังเข้าโจมตีฐานดังกล่าว คาดการณ์ว่าคงเป็นกลิ่นเหม็นจากศพของข้าศึก ซึ่งน่าจะเป็นจุดที่นักรบเวียดนามได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกพาตัวออกจากสมรภูมิสู้รบมารวมกันไว้ที่นี่ และยังไม่ทันเคลื่อนย้ายพาถอยหนีต่อไป จึงถูกโจมตีซ้ำทางอากาศจาก เอฟ. ที่ "ฮิลท็อป" เรียกมาจนกลายเป็นศพ

สำหรับการสูญเสียของข้าศึกในการสับประยุทธ์ครั้งนี้ นอกจากกองพล 968 เองแล้ว ไม่มีใครทราบจำนวนตัวเลขแท้จริง แต่มีผู้คาดว่าข้าศึกต้องสูญเสียกำลังพลไปไม่ต่ำกว่า 300-400 นาย จนกรม 9 ถึงขั้นละลาย ต้องไปปรับกำลังกันใหม่ และมีข่าวว่าตัว ผบ.ของกรมเอง เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ด้วย (บางที่ว่า เล่าลือกันว่าทหารไทย สู้รบเข้มแข็ง ไม่ท้อถอย จนถึงขั้นว่า ฆ่าไม่ตาย...และ ผบ.เวียดนามเหนือกรมฯ นี้ อับอายที่กรมฯ ตัวเองละลาย จึงยิงตัวเองเสียชีวิต...เจ้าของเฟสเสริม)

จากการสอบสวนเชลยศึกที่จับได้ จึงรู้ความจริงว่าข้าศึกได้ขึ้นรถบรรทุกมาแบบชาวลาว แล้วมารวมตัวรับอาวุธที่จุดนัดพบ เข้าใจกันว่าจะมาตีฐาน(ทหาร)ลาว หรือ เขมร ไม่คิดว่าเป็นทหารไทย นึกว่าจะได้กินหมูเชลยศึก และยังให้การต่อไปว่า ข้าศึกได้วางกำลังซุ่มไว้อีกด้านจำนวนหนึ่งหมวด พร้อมรังปืนกล หากทหารเสือพรานแตกพ่ายไปทางนั้นคงไม่มีใครเหลือรอดไปปากซองได้

เป็นชัยชนะครั้งแรกของทหารไทย ท่ามกลางความยินดีปรีดาจากหลายฝ่าย รวมทั้งนายกรัฐมนตรีของไทยสมัยนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ส่งหนังสือไปยัง บก.333 เพื่อแสดงความยินดีและชมเชยวีรกรรมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

อนึ่ง กรม 9 กองพล 968 ของเวียดนามเหนือกรมนี้ เป็นกรมที่มีชื่อเสียง ได้สร้างผลงานดีเด่น สร้างวีรกรรมไว้มากมาย ทั้งที่โบโลเวน, ลาวตอนใต้ และชายแดนลาว-เวียดนามใต้ รวมทั้งเขมรตอนบน เป็นกรมที่มีฝีมือการรบฉกาจฉกรรจ์ไม่เคยแพ้ใคร

มร.ดังค์เค่น ซีโอ (Case Officer) ผู้ประสานงาน... "สกาย" หรือหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ กล่าวรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า "เวียดนามเหนือได้บุกเข้ามาถึงหน้าแนว ส่วนใหญ่เป็นพวกแซปเปอร์นุ่งผ้าเตี่ยว ไม่มีอาวุธประจำกาย นอกจากอาวุธมัดข้าวต้ม ถูกปืนเล็ก และ ค. 4.2 นิ้ว ของทหารไทย ทำให้ทหารเวียดนามเหนือล้มตายไปเป็นจำนวนมาก และมีอีกหลายสิบคนถูกกันชิป "สปุ๊กกี้" ยิงตายในบริเวณใกล้เคียงกัน"

แสดงว่าคืนนั้น นอกจากการสับประยุทธ์ห้ำหั่นกันทางภาคพื้นดินแล้ว "แฟ็ก" ก็สามารถนำเครื่อง "สปุ๊กกี้" มังกรพ่นไฟ หรือ Puff the magic dragon เครื่องดาโกต้า ติดปืนมินิกันหกลำกล้องยิงด้วยไฟฟ้า พ่นกระสุนออกมาได้เป็นพัน ๆ นัดต่อนาที มาปฏิบัติภารกิจอย่างได้ผลดีเยี่ยม

"ฮิลท็อป" ผู้นำการโจมตีทางอากาศประจำ บก.สน.มีชื่อจริงว่า "อนันต์ ปัญญาทิพย์" ซึ่งถือว่าเป็น "แฟก" คนแรกของโครงการทหารเสือพราน ผู้ทำหน้าที่ชี้เป้าได้อย่างยอดเยี่ยม อนันต์ เป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ นอกจากเป็น "นักรบพลเรือน" ซึ่งได้พิสูจน์ฝีมือในสนามรบมาอย่างโชกโชน มีนิสัยยอมหักไม่ยอมงอ หากมีความเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง จะไม่ยอมนิ่งเฉย หรือยอมให้ผ่านเลยไป

สุดท้ายเมื่อมีปัญหากระทบกระทั่งกับนายทหารระดับ ผบ.กรม แทบจะดวลปืนกัน เพราะ ผบ.กรม เข้าใจผิด แต่ไม่ขอโทษ เป็นสาเหตุให้ "ฮิลท็อป"น้อยใจขอลาออกโดยไม่ฟังเสียงทัดทานขอร้องจากเพื่อน และผู้บังคับบัญชา

"สเปซ" แฟกผู้อยู่ในเหตุการณ์ เขียนเล่ารายละเอียดไว้ในหนังสือ "วีรกรรมนิรนามทหารเสือพราน" ช่วงนี้ไว้ค่อนข้างละเอียด และตบท้ายคำพูด ซึ่งสะท้อนแสดงออกถึงความน้อยใจของ "นักรบพลเรือน" ว่า...

"พรุ่งนี้...กูต้องไป กูตัดสินใจแล้ว กูเคยช่วยหน่วยด้วยการนำเครื่องบินมาโจมตีให้หน่วยทั้งกลางวัน กลางคืน ช่วยมานานเต็มที เหนื่อยมาก...รักษาชีวิตพวกเราไว้ได้มากมาย กูทำงานให้ชาติมานานแล้ว จบสิ้นกันที"

"คิดให้ดีก่อนนะเว้ย น่าจะอยู่ร่วมกันต่อไป ทีมพวกเราจะได้แข็งแกร่งขึ้น"..."สเปซ" กล่าวชักชวนเพื่อน.......แต่ "ฮิลท็อป" ส่ายหน้าปฏิเสธ

"ขอร้องเถอะ อย่าห้ามเลยเพื่อน จงสู้ต่อไป มันเป็นความทุกข์ทรมาน...เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายสุดโหด...น้อยคนนักที่เป็น "พลเรือน" อย่างเรา จะหาโอกาสเช่นนี้ได้ง่าย ๆ ขอให้เพื่อนอยู่สู้ศึกภายนอกด้วยสติปัญญาและการศึกษา และ "ศึกภายใน"...ด้วยเหตุผล โชคดี ขอให้พระคุ้มครอง...เพื่อน"

"ฮิลท็อป" ได้ยุติเส้นทางเดินของนักรบพลเรือนในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง ท่ามกลางความเสียดายของหลายคนที่ตระหนักดีถึงความห้าวหาญของนักรบพลเรือนผู้กล้าคนแรกของโครงการทหารเสือพราน ผู้ได้พิสูจน์ฝีมือ สร้างผลงาน และวีรกรรมโดดเด่น เล่าขานกันในหมู่นักรบกางเกงยีนส์มาตราบวันนี้

ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกปูหนทางให้พวก "แฟก" นักรบพลเรือนรุ่นต่อมาได้รับการยอมรับจากทหารและเหล่า อส.มีความเชื่อมั่นอยากเดินตามหลัง "แฟก" มากกว่าเสียอีก

วีรกรรมและคุณงามความดีของ "ฮิลท็อป" นั้น...แน่นอน ถ้าเป็นทหาร เขาต้องได้รับปูนบำเหน็จความดีความชอบ ได้เลื่อนยศ ได้รับเหรียญตราเต็มพิกัด

แต่วันนี้ อนันต์ ปัญญาทิพย์ ซึ่งมีข่าวว่าเสียชีวิตไปหลายปีแล้วจากอุบัติเหตุที่ไวไอมิ่ง สหรัฐอเมริกา ไม่มีแม้แต่เหรียญฯ พิทักษ์เสรีชน หรือสิทธิ์พึงมีพึงได้ สำหรับ "แฟก" นักรบพลเรือนผู้ผ่านสนามรบมา

ไปดีเถอะนะเพื่อน...ขอให้พระเจ้าจงเมตตา และคุ้มครองวิญญาณเพื่อนไปสู่สุคติอันเป็นนิรันดร์...เทอญ

หลังวีรกรรมที่บ้านห้วยทรายจบลง ข่าววีรกรรมของทหารเสือพรานชุดนี้ก็เริ่มดังและเล็ดลอดออกไปถึงสื่อมวลชน ประสานกับการโหมโฆษณาโจมตีจากกระบอกเสียงของค่ายคอมมิวนิสต์ทั้งปักกิ่งและฮานอย ซึ่งต่อมาเมื่อรู้ว่าเป็นทหารไทย จึงกล่าวหาประณามทหารไทยทั้งสองกองพันว่า...เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในและรุกรานราชอาณาจักรลาว.

พรุ่งนี้ตอนสุดท้ายครับ...

Chote Vanhakij
7 กันยายน 2560 เวลา 23:40 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1910468372607439&id=100009328851456

* * * * *


"เสือพรานสยายเขี้ยวเล็บ" (7)
"ครั้งแรก ณ สมรภูมิราชอาณาจักรลาว"

"ส่งท้ายเรื่อง"

ทำให้ชัยชนะครั้งนี้เริ่มตั้งเค้าไปสู่ความยุ่งยากสับสนในโลกเสรี ข่าวนี้เป็นผลให้ประชาชนหลายฝ่ายในสหรัฐอเมริกาที่ไม่เห็นด้วยและต่อต้านสงครามอินโดจีน ต่างออกมาเคลื่อนไหว รวมทั้งวุฒิสมาชิกรัฐมินเนโซต้า พรรคเดโมแครต มร.วอลเตอร์ มอนเดล ได้ถือโอกาสนี้หาเสียงด้วยการยื่นหนังสือลงวันที่ 20 มกราคม 2514 ประท้วงนโยบายอินโดจีนของรัฐบาลนิกสัน โดยเฉพาะในส่วนที่ชักนำกองกำลังจากเขมรและไทย เข้าไปยุ่งเกี่ยวล่วงละเมิดอธิปไตย และสัญญาเจนีวา บนพื้นที่โบโลเว่น ราชอาณาจักรลาว

แต่ก็น่าแปลก.!!! ทั้งนายมอนเดล และแนวร่วมในพรรคเดโมแครต รวมทั้งอีกหลายฝ่ายในสหรัฐอเมริกา กลับมิได้กล่าวถึงกองกำลังทหารเวียดนามเหนือที่เข้าไปแทรกแซงในลาวอย่างเต็มเนื้อเต็มตัว ซึ่งบางครั้งมีจำนวนทหารเวียดนามเหนือมากมายถึง 6 กองพล ที่กำลังสู้รบและเคลื่อนไหวไปมาอยู่ในสมรภูมิต่าง ๆ บนแผ่นดินลาว (ขณะช่วงเวลานั้น)

ปลายเดือนมกราคม 2514 สถานีวิทยุกระจายเสียง "#เสียงจากปักกิ่ง" ได้ระบุชื่อของกองพันเสือพรานทั้งสองกองพันนี้ชัดเจนถูกต้อง คือ บีซี.601 และ บีซี.602 กรณีนี้...รัฐบาลเวียงจันทร์ได้พยายามโต้ตอบข้อกล่าวหาของค่ายคอมมิวนิสต์ รวมทั้งนายมอนเดลและพวกพ้อง

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2514 รัฐบาลลาวได้นำตัวพลทหาร ล็อค มิน ฮัง และพลทหาร ฮอง วัน เคือง เชลยศึกเวียดนามเหนือที่โดนจับได้ครั้งศึกห้วยทราย ออกมาแถลงข่าวแสดงตัวต่อสื่อมวลชนทั้งลาวและต่างชาติที่เวียงจันทร์

ทหารเวียดนามเหนือทั้งสองนายเป็นหลักฐานที่ยังมีชีวิต สามารถใช้ผูกมัดเชื่อมโยงไปถึงรัฐบาลฮานอย ยืนยันข้อเท็จจริงได้ว่า เวียดนามเหนือได้ส่งกองทัพรุกรานล่วงละเมิดเอกราชและบูรณะภาพเหนือดินแดนและอธิปไตยของราชอาณาจักรลาวเป็นความจริง

แต่ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่าก็คือ ประจักษ์พยานที่ยังมีชีวิตทั้งสองคนนี้ กลับไม่ได้รับความสนใจจากสื่ออเมริกามากนัก รวมทั้งนายวอลเตอร์ มอนเดล ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่ยอมแม้แต่จะกล่าวถึง

สะท้อนให้เห็นความแตกต่างของสองค่ายที่เผชิญหน้าต่อสู้ทำ "สงครามตัวแทน" กันอยู่...ได้อย่างชัดเจน

อาจเป็นเพราะฝ่ายโลกเสรี มีการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลตลอดเวลา ทำให้นโยบายและภาวะทางการเมือง การต่างประเทศสับสนไร้เอกภาพ และขาดจุดยืนอันเข้มแข็งมั่นคง ในโลกเสรีประชาธิปไตยนั้น มีการแอนตี้เดินขบวนต่อต้านสงครามเป็นไปอย่างกว้างขวาง มีดาราดังอย่าง เจน ฟอนด้า และอีกหลายคนเข้าร่วมขบวนการด้วย ผิดกับค่ายคอมมมิวนิสต์ ซึ่งมีพรรคเดียว ไม่เคยแปรเปลี่ยนนโยบายหรือท่าที มีแต่ความมุ่งมั่นพยายามทำทุกอย่างทั้งในและนอกสมรภูมิ เพื่อพุ่งเป้าไปสู่เป้าหมายแห่งชัยชนะเพียงอย่างเดียว

จากการกล่าวหาและกดดันของค่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้ บก.333 ต้องตัดสินใจนำทหารทั้ง 2 กองพัน กลับประเทศไทย ทั้งที่ยังไม่ครบวาระเข้าพัก (วาระครบรอบพัก 3 เดือน).

การถอนกำลังของทหารไทย เท่ากับปล่อยให้ "โบโลเว่น" อยู่ในความรับผิดชอบ ของเจ้าของประเทศ คือ กองกำลังทหารแห่งชาติลาว หรือ ทชล. ให้เผชิญภัยคุกคามของกองกำลังเวียดนามเหนือจากฮานอยตามลำพัง

ถาวร วรรณโชติ อีกนั่นแหละที่เล่าว่า...

"ข่าวคราวการพักในเดือนกุมภาพันธ์ ของทั้ง 2 กองพันก็มาถึง คืนวันก่อนกลับประเทศไทย อากาศหนาวเหน็บจนต้องก่อไฟผิง แต่ก็ไร้การก่อกวนจากข้าศึก รุ่งเช้าเครื่องบิน ซี.123. ก็ขนทหารลาวลงที่สนามบินห้วยทราย เพื่อผลัดเปลี่ยนกำลังพล เราเห็นสภาพเหล่าทหาร ทชล.แล้ว ไม่น่าจะคณามือกองกำลังฮานอยได้ยั่งยืนยาว เพราะนอกจากจะหอบหิ้วขนอาวุธยุทโธปกรณ์กันมาอย่างเต็มพิกัด รวมทั้งหม้อไหพะรุงพะรังแล้ว ยังอุ้มไก่ จูงหมูมาด้วย (เข้าใจว่าน่าจะเป็นหมูแม้ว สีดำ ตัวไม่ใหญ่มาก น่าจะไม่เกิน 50 กก. เจ้าของเฟส) หมูบางตัวหลุดจากเครื่องต้องวิ่งไล่จับกันล้มลุกคลุกคลานโกลาหลวุ่นวาย".

กำลังพลของทั้ง 2 กองพันบินออกจากห้วยทรายกลับคืนไทยสู่ฐานบินอุดรฯ ซึ่งที่นั่นมีเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย รอจ่ายเงินอยู่ที่สนามบิน จ่ายเป็นแคชเชียร์เช็ค และแถมเงินสดติดกระเป๋าให้ฟรีอีก 200 บาท ทางการได้จัดรถบัสไว้หลายคัน ส่งกำลังพลไปสู่ที่หมายปลายทางทั้งกรุงเทพฯ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และปราจีนบุรี

อย่างไรก็ตามจากวีรกรรมความดี ความชอบของพันหนึ่ง พันสองนี้ทำให้ บก.333 ได้เพิ่มปูนบำเหน็จให้กับเสือพรานทั้งสองกองพัน และกองพันต่อมาที่ข้ามโขงมาล้อเล่นกับความตายในราชอาณาจักรลาว จากเดิมซึ่งมีเงินเดือนตั้งไว้ให้ อส.450 บาท เบี้ยเลี้ยงสนามวันละ 20 บาท และค่าอาหารวันละ 15 บาท ขึ้นเป็นเดือนละ 1,500 บาทสำหรับพลทหาร โดยตัดเบี้ยเลี้ยงวันละ 20 บาทออกไป แต่เบี้ยเลี้ยงหรือค่าอาหารไม่เพิ่ม ยังคงอยู่ที่วันละ 15 บาท หรือเดือนละ 450 บาทเหมือนเดิม ส่วนนายทหารก็ได้เพิ่มขึ้นตามอันดับถ้วนทั่วเช่นกัน

"หน.เทพ" เอง ก็ได้รับอานิสงส์จากมหกรรมเลือดเดือดครั้งนี้ไปด้วย ได้รับการเลื่อนขั้นเป็น พลตรี กับงานนี้เอง ทำให้ บีซี.601 และ บีซี.602 เป็นกองพันโปรดปรานของนายเทพ จนบางคนขนานนามว่า "เป็นกองพันเทพ" หรือกองพันของเทพไปเลย

เป็นความจริงดังท้าว(คำนำหน้าของชายชาวลาว)ถาวร วรรณโชติ ว่าไว้ เมื่อกองพล 968 ของเวียดนามเหนือมาตั้งหลักได้อีกที เมื่อต้นเดือน มีนาคม 2514 ด่านแรกที่ต้องตกอยู่ในเงื้อมมือของเวียดนามเหนือ คือ พีเอส.22 (ซึ่งถูกกดดันหนักมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พร้อม บีซี.601 และบีซี.602 แต่มาแตกเอาในคืนวันที่ 8 เดือนนี้) ตามมาด้วย พีเอส.3 และ 4 ต่อมา แอลเอส.165 ทำให้พื้นที่โบโลเว่นด้านขอบตะวันออก และภาคกลางตกอยู่ในเงื้อมมือของฮานอยไปอย่างสิ้นเชิง กองทัพแห่งชาติลาวทั้งหมด แตกไปรวมตัวกระจุกกันอยู่ที่ห้วยโขง ด้านตะวันตกของโบโลเว่น

ท่ามกลางข่าวร้ายของความพ่ายแพ้ของกองกำลังแห่งชาติลาวภาค 4 ก็ได้รับข่าวดีที่คาดไม่ถึง ว่าจะมีขบวนการปะเทดลาว เข้าสวามิภักดิ์มอบตัวถึง 30 คน โดยมี ร.อ.บัวเลือน เป็นผู้นำออกมา ที่สำคัญ คือได้จับนายทหารยศ ร.อ. กองทัพบกประชาชนเวียดนามเหนือของกองพล 968 มาด้วยอีกคน

หลังจากการมอบตัวชุดแรก 30 คน ยังมีตามมาอีก 87 คน และในเดือน เมษายน อีก 55 คน

การสวามิภักดิ์มอบตัวมากเป็นประวัติการณ์ครั้งนี้ เกิดจากความสัมพันธ์ของขบวนการปะเทดลาวตอนใต้ และกองทัพเวียดนามเหนือเกิดความร้าวฉานและเพิ่มความตึงเครียดมากขึ้นทุกที เมื่อเวียดนามเหนือผู้ถือว่าตัวเองเป็นผู้ให้การสนับสนุนแล้ว ยังเป็นกำลังหลักในการปฏิบัติหน้าที่การรบในภูมิภาคนี้ จึงได้พยายามเข้าควบคุมทุกอย่าง รวมทั้งการจัดเก็บภาษี และการรีดภาษีเพิ่มขึ้นอีก 50%

ต่อมาเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นใกล้แตกหักเมื่อนายพล พรหมมา ดวงมาลา ผู้นำหัวเห็ดคนสำคัญของขบวนการปะเทดลาวภาคใต้ ได้คัดค้านทั้งการขึ้นภาษี และการเข้าโจมตีเมืองอัตตะปือ เพราะวิตก ว่าพี่น้องพลเรือนลาว ชาวเมืองนี้ ทั้งลูกเล็กเด็กแดง และคนชราจะได้รับความเดือดร้อน จะพากันบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

จึงทำให้เวียดนามเหนือไม่พอใจมากยิ่งขึ้น และเกิดความร้าวฉานมาตั้งแต่บัดนั้น และเรื่อยมา

ต่อมาช่วงปลายปี 2513 ก่อนทหารเสือพรานชุดแรก(จากไทย คือ บีซี.601 และ บีซี.602)จะแลนดิ้ง บนพื้นที่โบโลเว่น นายพลพรหมมา ได้เสียชีวิตอย่างลึกลับที่โรงพยาบาลสนามของกองพล 968 ขณะเข้ารักษาบาดแผลถูกสะเก็ดระเบิดที่หัวไหล่จากการรบที่จำปาสัก ข่าวได้แพร่สะพัดไปทั่วว่า หมอเวียดนามเหนือได้วางยาขจัดฆ่าท่านนายพลพรหมมา เป็นสาเหตุทำให้เกิดความหวาดระแวง และกลายเป็นการแปรพักตร์ครั้งยิ่งใหญ่

การแปรพักตร์เข้ามอบตัวครั้งนี้ ช่วยทำให้ฝูงบินของกองทัพอากาศลาวและอเมริกามี "งานเข้า" สามารถนำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดทำลายฐานที่มั่นของกองพล 968 ได้ถึง 43 เที่ยว สร้างความเสียหายให้กับเวียดนามเหนืออย่างมโหฬาร แต่ต่อมาเวียดนามเหนือได้เอาคืน สามารถแก้แค้นเช็คบิลขจัดพวกที่แปรพักตร์ได้เกือบหมด รวมทั้งตัว ร.อ.บัวเลือนเองด้วย ซึ่งต่อมาได้ถูกฮานอยไล่ล่า ต้องถูกล้อมจนมุม และถูกกำจัดไปได้ในที่สุด

เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ขบวนการปะเทดลาวภาคใต้ถูกลดบทบาทจนแทบไม่เหลือความสำคัญใด ๆ และต่อมาหน่วยต่าง ๆ ของลาวแดงภาคใต้ที่ติดอาวุธถูกยกเลิก หรือยุบทิ้งไป

เมื่อปราศจากผู้คานอำนาจ ไร้ผู้นำ จากขบวนการปะเทดลาวเข้มแข็ง ผู้นำกองพล 968 ก็สามารถควบคุมภูมิภาคนี้ได้เต็มภาคภูมิ

อนึ่ง นายพลพรหมมา ดวงมาลา ผู้นำลาวคนสำคัญของลาวตอนใต้ เป็นขุนศึกคนกล้า ผู้มีเลือดแห่งความรักชาติเข้มข้น เคยมีบทบาทสูงในการสู้รบกับฝรั่งเศสเพื่อกอบกู้เอกราชของชาติ(ลาว)อย่างกล้าหาญตลอดมา จนเป็นที่รักใคร่นับถือของพี่น้องลาว โดยเฉพาะลาวตอนใต้ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายพล หัวหน้าขบวนการปะเทดลาว.

"ข้าพเจ้าคงขอจบ ด้วยการคารวะแด่นักรบผู้กล้า ทั้งฝ่ายเรา และฝ่ายเขาที่ต่างรบเพื่ออุดมการณ์ของตน"

"ข้าพเจ้าขอคารวะ แด่ "สปาร์ค ปลั๊ก" ที่นำข้อเขียนบางส่วนของท่านมาลง และนักรบไทยที่ออกนามมาแล้วทั้งหมด"

"ท้าย...แม้นมีข้อผิดพลาดที่เกิดจากการถ่ายทอดประการใด...ข้าพเจ้าขอน้อมรับแต่ผู้เดียว"

Chote Vanhakij
12 กันยายน 2560 เวลา 23:35 น.
คลิกที่นี่..อ่านคอมเม้นท์ใต้บทความครับ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1912992215688388&id=100009328851456

* * * * *

จบแล้วครับ

* * * * *