คำวินิจฉัยหนึ่งเดียว
ในองค์คณะคดียึดทรัพย์ทักษิณจากทั้งหมดเก้าคน
By: "คนการเมือง"
"..พลิกคำวินิจฉัย"หนึ่งเดียว"ในองค์คณะคดียึดทรัพย์" ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล รองประธานศาลฎีกา ตอบโจทย์ ทำไม"ทักษิณ"มิได้ร่ำรวยผิดปกติ.."
หมายเหตุ"มติชนออนไลน์" : เป็นส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยส่วนตนของ ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล รองประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นผู้พิพากษาเพียงคนเดียวในองค์คณะจากทั้งหมด 9 คนที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือชินคอร์ปทั้ง 5 กรณี ในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณกว่า 46,000 ล้านบาท แม้ว่า ม.ล.ฤทธิเทพ จะเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ณ ป้อมเพชร อดีต ภรรยาซุกหุ้นหรือคงไว้ซึ่งหุ้นชินคอร์ปจำนวน 1,419 ล้านหุ้นก็ตาม
► ต่อไปนี้เป็นเหตุผลในคำวินิจฉัยส่วนตนของ ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มิได้ร่ำรวยผิดปกติ
"..ปัญหาประการต่อไปมีว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้นและเงินปันผลตามคำร้องเป็นทรัพย์ที่ต้องตกเป็นของแผ่นดิน หรือไม่
เห็นว่า ข้อเท็จจริงซึ่งฟังเป็นที่ยุติแล้วว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของบริษัทชินคอร์ป ทั้งห้ากรณี ดังได้วินิจฉัยข้างต้นแล้ว นับเป็นข้อสำคัญประการหนึ่งที่บ่งชี้ว่า หุ้นบริษัทชินคอร์ปไม่ได้มีค่าสูงเพิ่มขึ้นขึ้นผิดปกติ แต่ก็ยังมีข้อสนับสนุนอื่นอีกที่สอดคล้องกันคือ นอกจากทางไต่สวนจะไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้สั่งการหรือมอบนโยบายต่างๆ ทั้งห้ากรณีแล้ว
ยังเห็นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเหตุคดีนี้ ย่อมเป็นผู้มีอำนาจวางแนวนโยบายในการบริหารราชการในแต่ละกระทรวงที่ตนต้องรับผิดชอบโดยอิสระ
การจะฟังว่า เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ดังกล่าว ทำงานอยู่ในรัฐบาลเดียวกับผู้ถูกกล่าวหา หรือสังกัดพรรคการเมืองเดียวกันกับผู้ถูกกล่าวหา ย่อมมีผลให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เหล่านั้นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ถูกกล่าวหาทุกกรณีไป แม้กระทั่งคำสั่งที่อาจมีผลเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ถูกกล่าวหา ทั้งที่เป็นไปได้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหา อาจกระทำการต่างๆ เองเพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ผู้ถูกกล่าวหาก็ได้นั้น ย่อมเป็นการรับฟังพยานหลักฐานไปในทางที่เป็นโทษแก่ผู้ถูกกล่าวหา ทั้งๆ ที่ยังมีมูลเหตุยังไม่ชัดแจ้งพอ และเป็นเหตุผลที่ถูกโต้แย้งได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังเห็นว่า หุ้นบริษัทชินคอร์ปมีราคาสูงขึ้นในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะราคาหุ้นจะสูงหรือต่ำในแต่ละช่วงเวลาย่อมต้องอาศัยปัจจัยหลายประการที่เกิดจากทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ นอกเหนือจากการดำเนินการ 5 กรณีตามคำร้องด้วยเหตุผลดังนี้
ประการแรก บริษัทชินคอร์ปเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้วยการเป็นผู้ลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) มีบริษัทในเครือหลายบริษัทประกอบธุรกิจสัมปทานจากรัฐ ย่อมทำให้นักลงทุนเล็งเห็นได้ว่า แนวโน้มที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐ และทำให้บริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีคู่แข่งทางการค้าน้อยหรือแทบไม่มี
นอกจากนี้ยังเป็นบริษัทที่ลงทุนประกอบกิจการด้วยจำนวนเงินมาก อันสามารถทำผลประโยชน์ตอบแทนได้ในปริมาณมากเช่นกัน สิ่งสำคัญเหล่านี้ส่งผลให้บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือมีความมั่นคงสูง ได้เปรียบบริษัทอื่นๆ สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้มาก จึงเป็นที่ต้องการของนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศยิ่งกว่าบริษัทอื่น
ประการที่ 2 เมื่อพิจารณาถึงดุลอำนาจทางการเงินของผู้ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ป คือกลุ่มเทมาเส็ก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของโลกรายหนึ่งที่มีกำลังซื้อสูง กับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตำแหน่งดาวเทียมของประเทศไทยที่ได้รับอนุมัติจาก ITU เป็นตำแหน่งที่มีศักยภาพสูงมาก สามารถครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ (Foot Print) แผ่ไพศาลไปได้กว้างไกลมากกว่าตำแหน่งอื่นที่หลายประเทศได้รับอนุมัติ
ทั้งตามทางไต่สวนยังได้ความว่า ดาวเทียม iPSTAR เป็นดาวเทียมที่ใหญ่และดีที่สุดในโลก เป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกที่มีหลายช่องสัญญาณ ทำงานได้หลากหลายกว่า ติดต่อได้ 14 ประเทศ มีสถานีภาคพื้นดิน 18 แห่ง มีประสิทธิภาพสูง คุณสมบัติทางเทคนิคดีกว่าดาวเทียมทั่วไป สร้างขึ้นเพื่อรองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และยังทำให้ประชาชนสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ในราคาที่ถูกลงย่อมเป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่งของประเทศที่ต้องการศักยภาพทางยุทธศาสตร์ และความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีกิจการดาวเทียม เพื่อชิงความได้เปรียบทางด้านธุรกิจสื่อสารทางดาวเทียม หรือแม้แต่ในเรื่องความมั่นคงของประเทศของตน
หุ้นบริษัทชินคอร์ปจึงเปรียบได้กับเพชรเม็ดงามที่ผู้ครอบครองสามารถต่อรองราคาซื้อขายได้สูง อันเป็นสิ่งปกติในกลไกทางธุรกิจและการซื้อขายหลักทรัพย์
ประการที่ 3 บริษัทในเครือบริษัทชินคอร์ปหลายบริษัทลงทุนว่าจ้างบุคลากรที่ความรู้เฉพาะด้านกิจการของบริษัทหรือผู้ที่มีประสบการณ์สูงในการทำงานเกี่ยวกับกิจการของบริษัทเป็นผู้บริหาร ย่อมทำให้มีความได้เปรียบทางด้านแผนธุรกิจการค้าและมีผลประกอบการที่ดี รวมทั้งเกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ได้มากยิ่งกว่าผู้ประกอบธุรกิจอื่นอีกหลายรายที่ไม่ได้ลงทุนในด้านนี้
และประการสุดท้าย เมื่อเปรียบเทียมดัชนีราคาหุ้นบริษัทชินคอร์ปกับหุ้นของบริษัทอื่นๆ ที่ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ และเป็นที่นิยมของผู้ลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงเวลาเดียวกันก่อนมีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้กลุ่มเทมาเส็กแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นราคาขึ้นลงที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่า หุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน 1,419,490,150 หุ้น หรือเงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป 69,722,880,923.05 บาท รวมทั้งเงินปันผลอีก 6,898,722,129 บาท เป็นทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหาได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งไม่เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมากผิดปกติหรือได้มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันถือว่า เป็นการร่ำรวยผิดปกติ ตามคำจำกัดความแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ที่จะต้องสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 35 วรรคสอง
สำหรับคำร้องคัดค้านของผู้ถูกกล่าวหา และของผู้คัดค้านทั้งยี่สิบสอง ซึ่งขอให้ศาลมีเพิกถอนคำสั่ง คตส. ที่อายัดเงินและทรัพย์สินนั้น เมื่อปรากฏว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)เพิกถอนคำสั่งอายัดเงินของผู้คัดค้านที่ 7 ที่ 8 ที่ 14 ที่ 17 และที่ 19 ต้องตามความประสงค์ของผู้คัดค้านเหล่านี้และมีผลให้เงินของผู้คัดค้านเหล่านี้หลุดพ้นจากการถูกอายัดแล้ว จึงไม่มีเหตุต้องขอให้ศาลมีคำสั่งเช่นว่านั้นซ้ำอีก
ส่วนเงินและทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1-6 ที่ 9-13 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 18 และที่ 20-22 ซึ่ง คตส. ยังคงมีคำสั่งอายัดไว้นั้น เมื่อไม่อาจสั่งให้ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่จะอายัดอีกต่อไป
จึงมีความเห็นว่า ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และเพิกถอนคำสั่ง คตส.ที่อายัดเงินรวมทั้งทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหากับของผู้คัดค้านที่ 1-6 ที่ 9-13 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 18 และที่ 20-22 ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 7 ที่ 8 ที่ 14 ที่ 17 และที่ 19 ..."
"มติชนออนไลน์"
วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2553 เวลา 11:20:33 น.
1.. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1268832227&grpid=10&catid=02
2.. https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_27333
* * * * *
@ คลิกที่นี่.. ไม่ควรยึดทรัพย์ ดร.ทักษิณตั้งแต่แรก
* * * * *
@ คลิกที่นี่.. "สรรพากร" รับสภาพ! หุ้นชิน "จบแล้ว" ไม่มี กม.ใดเรียกเก็บภาษีทักษิณได้อีก ยันหมดอายุความ 31 มี.ค. 2555"
* * * * *
@ คลิกที่นี่.. ทำไมสรรพากรไล่เก็บภาษีดีลชินคอร์ปไม่ได้แล้ว?
* * * * *
ดร.ทักษิณ ชินวัตร เปิดใจหลังคำพิพากษาคดียึดทรัพย์
* * * * *
คดีภาษีหุ้นทักษิณ ชินวัตร จบแล้ว
* * * * *
กฎหมาย เครื่องมือทางการเมือง?? เริ่มนาที 44:00
* * * * *